“คดีโตโยต้าหมื่นล้าน” ในมุมมอง เกษมสันต์  วีระกุล

12 มิ.ย. 2564 | 20:33 น.
1.4 k

“คดีโตโยต้าหมื่นล้าน” ในมุมมอง เกษมสันต์ วีระกุล กับคำถามที่ว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยล่าช้าเข้าข่าย “ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม”ใช่หรือไม่? ถึงเวลาต้องรีบยกเครื่องกระบวนการยุติธรรมแล้วหรือยัง?

นายเกษมสันต์ วีระกุล นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้าน AEC ได้เขียนบทความเรื่อง “คดีโตโยต้าหมื่นล้าน” และเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก kasemsant AEC แบ่งเป็น 2 ตอน “ฐานเศรษฐกิจ”เห็นว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจ จึงขอนำทั้ง 2 ตอน รวมมานำเสนออย่างละเอียด  ดังนี้ 

เมื่อเดือนเมษายน ปีที่แล้ว 2563 บริษัทโตโยต้า คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่อยู่ในญี่ปุ่นของโตโยต้าประเทศไทย ได้รายงานต่อคณะ กรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ว่ามีความเป็นไปได้ที่บริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในประเทศไทย อาจกระทำการละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบนของสหรัฐฯ ซึ่งโตโยต้า คอร์ป เพิ่งจะเปิดเผยการรายงานต่อทางการสหรัฐดังกล่าวให้สาธารณะชนได้รับรู้เมื่อกลางเดือนมีนาคม ปี 2564 นี้เอง

ต่อมาในช่วงปลายเดือนมีนาคม เว็บไซต์ LAW360.com ก็เผยแพร่บทความโดยอ้างว่าได้สรุปมาจากเอกสารของโตโยต้าคอร์ปว่า ผลการสอบสวนภายในที่ใช้เวลากว่า 6 เดือนนั้น บริษัทต้องการจะสอบสวนว่าที่ปรึกษาของบริษัทได้มีส่วนในการจ่ายเงินให้กับผู้พิพากษาและรัฐบาลไทยเพื่อแลกกับการไม่ต้องจ่ายภาษีการนำเข้าโตโยต้าพรีอุสคิดเป็นมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 11,000 ล้านบาท จริงหรือไม่? ซึ่งโตโยต้าคอร์ปนั้นมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้แถลงว่ายินดีร่วมมือกับทางการสหรัฐในการสอบสวนเรื่องนี้

โดนกล่าวหาเช่นนี้ โฆษกศาลของประเทศไทยจึงได้ออกแถลงการณ์ออกมา เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2564 ความว่า คดีนี้มีความเป็นมาอย่างไรและคดีนี้ศาลฎีกาจึงยังไม่ได้มีการพิจารณาพิพากษาคดีแต่อย่างใด พร้อมตอบโต้กลับว่าการกล่าวหาว่าอาจมีการจ่ายสินบนให้ผู้พิพากษานั้นเกิดขึ้นอยู่เสมอซึ่งอาจไม่มีมูลความจริงอยู่เลย แต่ก็สร้างความเสียหายและความคลางแคลงใจในหมู่ประชาชนทันทีที่มีการออกข่าวหรือแอบอ้างว่ามีการจ่ายและรับสินบน

ดังนั้น การให้ข่าวลักษณะนี้ควรมีการตรวจสอบให้ชัดเจนในระดับหนึ่งก่อน ถ้าหากศาลยุติธรรมได้รับข้อมูลหรือสามารถตรวจสอบได้อย่างแน่ชัดว่าผู้พิพากษาท่านใดกระทำการอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการรับสินบนหรือไม่ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมก็จะดำเนินการตรวจสอบและลงโทษอย่างเด็ดขาดกับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา ทำลายความเป็นกลางของศาล และทำให้สังคมไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย ที่ผ่านมาก็ดำเนินการลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาดกับกรณีเช่นนี้มาโดยตลอด

เรื่องไม่จบลงแค่นี้ เพราะเมื่อ 26 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา LAW360.com ได้รายงานอีกครั้งว่าทางการสหรัฐกำลังดำเนินการสอบสวนการกระทำของโตโยต้า คอร์ปว่าละเมิดกฎหมายต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศของสหรัฐหรือไม่? คราวนี้เป็นทางการสหรัฐที่จะสอบสวนแล้วนะครับ นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยมากยิ่งขึ้นโดยอ้างถึงเอกสารผลการสอบสวนภายในของโตโยต้า คอร์ปว่าโตโยต้าประเทศไทยมีตกลงทำสัญญาจ้างสำนักงานกฎหมายเป็นเงิน 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 850  ล้านบาท ให้ช่วยหาช่องทางพิเศษจ่ายให้กับผู้พิพากษาระดับสูงและอดีตผู้พิพากษาเพื่อทำให้โตโยต้าประเทศไทยชนะคดี

ที่อื้อฉาวและร้อนฉ่าไปทั้งวงการยุติธรรมก็คือในการรายงานครั้งล่าสุดนี้ LAW360.com ได้ระบุชื่อผู้พิพากษาระดับสูงจำนวนสามท่าน ระบุชื่อสำนักงานกฎหมายและนักกฎหมายของโตโยต้าประเทศไทยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้พิพากษาทั้งสามท่านที่โดนกล่าวหาก็ได้ดำเนินการฟ้องร้อง LAW360.com ไปแล้ว ส่วนสำนักงานกฎหมายก็ได้ให้สัมภาษณ์ปฏิเสธไปแล้วเช่นกัน

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา โฆษกศาลยุติธรรมก็ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงอีกครั้งสรุปได้สามข้อดังนี้ คือ หนึ่ง หลังจากมีข่าวในเดือนเมษายน สำนักงานศาลยุติธรรมมิได้นิ่งนอนใจ มีหนังสือไปประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบคดีดังกล่าวจากสหรัฐไปแล้ว ตอนนี้รอการตอบกลับ

สอง หากได้รับข้อมูลและตรวจสอบว่ามีมูลเป็นความผิดก็จะดำเนินการตามขั้น ตอนทางวินัยต่อไป ซึ่งผ่านมาก็ได้มีการลงโทษอย่างเด็ดขาดสำหรับคนทำผิดมาโดยตลอด และสาม อธิบายถึงรายละเอียดคดีว่ายังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาในเนื้อหาหลักแห่งคดีแต่อย่างใด ยังอยู่ระหว่างการขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาซึ่งศาลอนุญาตให้ขยายได้ถึงวันที่ 13 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ พร้อมกับขอว่าเรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการเท่านั้นทั้งในสหรัฐและในไทยเอง จึงอยากขอให้สาธารณชนได้รับฟังข้อมูลด้วยความระมัดระวัง และรอผลการดำเนินการให้เป็นที่ยุติเสียก่อน

ที่มาของคดีนี้ก็คือ โตโยต้าประเทศไทยได้นำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ของโตโยต้ารุ่นพรีอุส เข้ามาประกอบเป็นรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2553 โดยใช้อัตราภาษีนำเข้าภายใต้ข้อตกลงการค้าไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งโตโยต้าชี้แจงว่าได้เสียภาษีถูกต้องครบถ้วนแล้ว แต่กรมศุลกากรตรวจสอบพบว่ามีการใช้สิทธิไม่ถูกต้อง เพราะถ้าจะได้สิทธิดังกล่าว โตโยต้าต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญๆที่ผลิตภายในประเทศไทยด้วย แต่ชิ้นส่วนทั้งหมดที่นำเข้ามานั้นสามารถนำมาประกอบเป็นพรีอุสได้เลย ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศไทยที่ใช้ไม่ได้เป็นชิ้นส่วนสำคัญ โตโยต้าจึงไม่มีสิทธิเสียภาษีในอัตราต่ำที่จ่ายแยกตามรายชิ้นส่วนอะไหล่ แต่จะต้องภาษีในอัตราที่สูงกว่าที่ได้จ่ายไปแล้ว ทำให้โตโยต้าจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มอีกกว่า 11,639 ล้านบาท

โตโยต้าประเทศไทยจึงยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โตโยต้าเป็นฝ่ายชนะในเดือนมิถุนายน 2560  กรมศุลกากรจึงยื่นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษก็ได้พิพากษากลับให้โตโยต้าแพ้คดี ต้องจ่ายภาษีเพิ่มในเดือนมีนาคม 2562 โตโยต้าจึงยื่นฎีกา ซึ่งศาลก็อนุญาตให้ฎีกาได้เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา และคดียังอยู่ระหว่างการขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกา ยังไม่มีการตัดสินคดีแต่อย่างใด

เขียนสรุปเรื่องราวให้อ่านเข้าใจง่ายๆ ก่อนในอาทิตย์นี้ เพราะผมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อทั้งโตโยต้าประเทศไทย กระบวนการยุติธรรมไทยและอีกหลายคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาทิตย์หน้าจะมาชี้ให้เห็นจุดที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ

อาทิตย์นี้แค่ทิ้งท้ายไว้ให้คิดว่า ทำไมบริษัทแม่จึงสงสัยว่าบริษัทลูกในไทยจะทำผิด? และเมื่อทำการสอบสวนภายใน สอบได้ข้อมูลเบื้องต้นแล้วแทนที่จะยุติเรื่อง กลับไปแจ้งต่อทางการสหรัฐว่าสงสัยบริษัทลูกตัวเอง แถมยังแถลงว่าจะร่วมมือกับทางการสหรัฐสอบสวนเรื่องนี้เสียอีก น่าคิดดีไหมครับ 

                                       “คดีโตโยต้าหมื่นล้าน” ในมุมมอง เกษมสันต์  วีระกุล

ตอนจบ : มุมมองเกษมสันต์ที่มีต่อคดีโตโยต้าหมื่นล้าน 

หนึ่ง เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปรกติในวงการธุรกิจ โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติ ที่มักจะหาช่องทางช่องโหว่ทางกฎหมาย เพื่อที่จะเสียภาษีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษีนำเข้า ภาษีกำไร ซึ่งเขาจะเรียกกันให้บริษัทดูดีว่าเป็น “การบริหารภาษี” ตัวอย่างล่าสุดรัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกที่เรียก G7 ก็เพิ่งมีมติร่วมกันว่าจะหาทางเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติขนาดใหญ่ เช่น แอมะซอน เฟซบุ๊ค ซึ่งบริษัทเหล่านี้ทำธุรกิจมีกำไรในประเทศต่างๆทั่วโลก แต่มักจะ “บริหารภาษี” ด้วยการโอนกำไรไปประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่าแต่เรื่องแบบนี้ ถ้าเป็นบริษัทท้องถิ่นเล็กๆทำ ก็มักจะโดนกรมสรรพากรตีความว่าเป็นการ “หนีภาษีหรือเลี่ยงภาษี” ไม่ใหญ่จริงอย่าไปเสี่ยงทำ 

สอง เมื่อได้อ่านข่าวนี้ ผมมีคำถามขึ้นมาในใจทันทีว่า ทำไม “โตโยต้าบริษัทแม่” จึงเกิดความสงสัยว่า “บริษัทลูกในไทย” อาจจะทำอะไรที่ผิดกฎหมาย บริษัทแม่ไปได้ข่าวหรือไปเจอหลักฐานอะไรที่มันไม่ชอบมาพากลเข้าหรืออย่างไร? หลักฐานที่ว่านั้นคืออะไร? จากเนื้อข่าวและการให้สัมภาษณ์ของนายทรงพล อันนานนท์ กรรมการผู้จัดการสำนักงานกฎหมายอันนานนท์ ทำให้จับประเด็นได้ว่า บริษัทแม่ได้มีการทำการสอบสวนภายในจริงและทำมาเป็นเวลานานกว่า 6 เดือน และถ้ารายงานข่าวของเว็บไซต์ LAW360.com เป็นจริง การสอบสวนภายในนั้นมีการตรวจสอบเอกสารจำนวนมากมายซึ่งย้อนหลังไปถึงปี พ.ศ. 2555 (ปีที่เริ่มมีข้อพิพาทเรื่องภาษีนำเข้า)

จึงเกิดคำถามสำคัญตามมาว่า วันนี้บริษัทแม่เจอหลักฐานอะไรบ้างแล้ว? หลักฐานเหล่านั้นจะเกี่ยวข้องอะไรกับการที่สำนักงานกฎหมายอันนานนท์ หยุดเป็นทนายให้กับโตโยต้าประเทศไทยของตั้งแต่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2562 หรือไม่? เพราะในรายงานของเว็บไซต์ LAW360.com ซึ่งอ้างถึงเอกสารสอบสวนภายในของโตโยต้าบริษัทแม่ กล่าวหาว่าสำนักงานกฎหมายแห่งนี้เป็นผู้ทำหน้าที่หาช่องทางพิเศษกับผู้พิพากษาไทย 

สาม การที่โตโยต้าบริษัทแม่ต้องไปแจ้งต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา นั้นสะท้อนว่า ผลจากการสอบสวนภายในของโตโยต้าบริษัทแม่เองนั้นมีมูลหรือมีหลักฐานที่บ่งชี้ไปว่าบริษัทลูกในไทย อาจจะทำผิดจริงใช่หรือไม่? เพราะถ้าผลสอบสวนภายในไม่พบหลักฐานการทำผิดอะไร โตโยต้าบริษัทแม่ ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแจ้งทางการสหรัฐใช่หรือไม่? จึงเกิดคำถามตามมาอีกว่า วันนี้หลักฐานที่เจอนั้นนำไปสู่ความผิดอะไรบ้าง?  และหลักฐานเหล่านั้นมัดตัวผู้ใดบ้าง? 

การที่โตโยต้าบริษัทแม่ ไปแจ้งต่อทางการสหรัฐฯ เรื่องสงสัยว่าบริษัทลูกอาจจะทำผิดนั้น ทำให้คิดไปได้ทั้งสองมุมว่าบริษัทแม่มีจริยธรรมสูงส่งเมื่อสงสัยว่าบริษัทลูกอาจจะทำผิดก็รีบแจ้งทางการทันทีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ หรือบริษัทแม่จมูกไว เมื่อรู้ว่าบริษัทลูกอาจจะทำผิด ก็เลยรีบแจ้งเพราะการรับสารภาพและร่วมมือกับทางการจะเป็นประโยชน์กับบริษัทแม่มากกว่าการไปช่วยบริษัทลูกปกปิดหลักฐาน 
 

สี่ เมื่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ รับเรื่องก็ได้มีการตั้งคณะลูกขุนใหญ่ในเท็กซัสให้ทำหน้าที่สอบสวนการละเมิดกฎหมายการต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศของสหรัฐฯ การตั้งคณะลูกขุนใหญ่ซึ่งเป็นเรื่องพิเศษและมีอำนาจพิเศษในการเรียกหรือขอเอกสารจากหน่วยงานต่างและสถาบันการเงินได้นั้น แตกต่างไปจากคณะลูกขุนปรกติ ทำให้ผมมองว่า กระทรวงยุติธรรม ต้องการให้คณะลูกขุนใหญ่ใช้อำนาจเรียกเอกสารเพิ่มเติมเพื่อสอบสวนเส้นทางการเงินของการกล่าวหาครั้งนี้ ซึ่งถ้าข่าวที่เว็บไซต์ LAW360.com ได้เผยแพร่ออกมาว่าวงเงินเรื่องนี้สูงถึง 850 ล้านบาทนั้นเป็นความจริง ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะมีการรับการจ่ายในต่างประเทศด้วยนอกเหนือจากการจ่ายภายในประเทศ 

ห้า เมื่อพูดถึงเรื่องเส้นทางการเงิน กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ นั้นมีฝีมือในการสอบสวนติดตามได้เก่งมาก มักจะได้หลักฐานจับได้คาหนังคาเขา เช่นกรณีอดีตนายกฯมาเลเซีย นายนาจิ๊บ ราซัค ที่ถูกกล่าวหาว่าโกงเงินโครงการ 1MDB ของประเทศตัวเองไปสองหมื่นสี่พันล้านบาทเศษ ซึ่งนายนาจิ๊บ ก็ปฏิเสธมาโดยตลอดและอ้างเหตุผลต่างๆนานา

แต่ต้องมาจนมุมก็ตอนที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯเปิดเส้นทางการเงินละเอียดยิบ ว่ามีการโอนจากบัญชีไหนประเทศไหน ไปบัญชีอะไรในประเทศอะไรบ้าง จะโอนไปกี่ประเทศก็ตามหาจนเจอหมด ตัวเลขออกมาเป๊ะๆ สองหมื่นสี่พันล้านบาทเศษ จนนำไปสู่การพิพากษาจำคุกนายนาจิ๊บ และธนาคารโกล์แมนแซค ของสหรัฐ ที่มีส่วนให้ความช่วยเหลือในการยักยอกเงินครั้งนี้ ก็ต้องยอมจ่ายค่าปรับให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐเป็นเงินสูงถึง 62,000 ล้านบาท และยอมจ่ายเงินให้กับรัฐบาลมาเลเซียอีก 120,000 ล้านบาท เพื่อขอยุติคดีนี้ 

ผมจึงมองว่าเมื่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ สอบสวนเส้นทางการเงินเสร็จและทำให้ความจริงปรากฏ คนไทยเราอาจจะได้เห็นอะไรที่เราไม่เคยเห็นไม่เคยรู้มาก่อน และจะเป็นการพิสูจน์ความมีเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา ความเป็นกลางของศาล และความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย 

หก ในอดีตประเทศไทยเคยได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯในเรื่องการสอบสวนเส้นทางการเงินมาแล้วคือคดีอดีตผู้ว่าททท.นางจุฑามาศ ศิริวรรณและลูกสาวที่ไปเรียกเงิน สองสามีภรรยาชาวสหรัฐฯ เป็นจำนวนเงินกว่า 60 ล้านบาท เพื่อจะได้รับสิทธิ์จัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ

เมื่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐส่งข้อมูลเส้นทางการเงินที่มีการโอนกันไปในสี่ประเทศพร้อมเอกสารอีกกว่า 2,000 แผ่นมา ป.ป.ช.ของไทยจึงมีหลักฐานจนนำไปสู่การตัดสินจำคุกนางจุฑามาศ 50 ปีและลูกสาว 40 ปี ดังนั้นในกรณีโตโยต้านี้ หากมีการจ่ายเงินกันจริงตามที่มีการกล่าวหา กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯก็คงจะสามารถหาหลักฐานเส้นทางการเงินได้ในที่สุด 

อย่างไรก็ตาม ขอบันทึกเอาไว้ตรงนี้ก่อนว่า ในขณะที่ศาลสหรัฐฯได้ตัดสินจำคุกและปรับสองสามีภรรยาชาวสหรัฐที่ร่วมทำผิดไปตั้งแต่ปี 2553 แล้วนั้น ศาลชั้นต้นของไทยของไทยเพิ่งจะมีคำพิพากษานางจุฑามาศและลูกสาวเมื่อต้นปี 2560 ช้ากว่าเขา 7 ปี และศาลฎีกาเพิ่งจะมีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 นี้เอง 

เจ็ด คำถามต่อมาก็คือทำไม “โตโยต้าประเทศไทย” จึงเงียบกริบ ทั้งๆที่มีการสอบสวนภายในโดยบริษัทแม่ตัวเอง และคนของโตโยต้าประเทศไทยก็คงจะโดนสอบสวนไปแล้วเหมือนๆกับที่นายทรงพล อันนานนท์แห่งสำนักงานกฎหมายอันนานนท์ ที่ได้ออกมาเปิดเผยว่าได้เคยถูกบริษัทแม่เรียกไปให้ข้อมูลที่ญี่ปุ่นมาแล้ว ทั้งๆที่นักกฎหมายของโตโยต้าสามคนที่เกี่ยวข้องกับคดีก็ต่างลาออกกันหมด ทั้งๆที่คณะกรรมการบริษัทโตโยต้าประเทศไทยหลายคนต่างก็เป็นบุคคลชั้นนำของประเทศและมีภาพลักษณ์ต่อต้านการคอรัปชั่นด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งกรรมการควรจะเป็นเดือดเป็นร้อนในเรื่องเช่นนี้ 

และทั้งๆที่ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ และปัจจุบันยังเป็นประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) นั้น เคยเป็นประธานโตโยต้าประเทศไทยในช่วง 1 มกราคม 2543 ถึง 31 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเริ่มนำเข้าชิ้นส่วนของโตโยต้าพรีอุส (เริ่มนำเข้าปี 2553) และเป็นช่วงที่เกิดข้อพิพาทเรื่องภาษีนำเข้า (เกิดขึ้นในปี 2555-6)  และในช่วงที่มีการกล่าวหาว่ามีการจ่ายเงินให้สำนักงานกฎหมายเพื่อหาช่องทางพิเศษกับผู้พิพากษาไทยนั้นก็มีการเริ่มต้นจ่ายกันในปี 2558 

ที่น่าประหลาดใจก็คือขณะที่ “โตโยต้าประเทศไทย” เงียบกริบ กลับกลายเป็นมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอรัปชั่นที่ออกมาอธิบายความบริสุทธิ์ของนายประมนต์ อธิบายได้อย่างละเอียดเสมือนทำงานให้โตโยต้าเลยทีเดียว 


แปด ที่น่าผิดหวังก็คือ การตอบสนองต่อข่าวที่เกิดขึ้นของสำนักงานศาลยุติธรรมของไทยนั้น ผมมองเชื่องช้าและตั้งรับเกินไป เพราะเมื่อมีข่าวในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 การแถลงตอบโต้ครั้งแรกแม้ว่าจะทำได้รวดเร็วในวันที่ 3 เมษายน นั้นแต่เนื้อหาก็ไม่ได้มีอะไรมาก และเมื่อเกิดข่าวต่อเนื่องอีกครั้งในปลายเดือนพฤษภาคม ซึ่งครั้งนี้มีการเปิดเผยการกล่าวหาในรายละเอียดมากขึ้นชัดเจนขึ้น มีการระบุชื่อผู้พิพากษา ชื่อสำนักงานกฎหมาย ชื่อทนาย

แต่การแถลงครั้งที่สองของสำนักงานศาลยุติธรรมกลับมีเนื้อหาที่แทบจะไม่แตกต่างจากการแถลงครั้งแรก บอกเพิ่มเติมได้แค่ว่าได้ประสานขอข้อมูลจากสหรัฐไปแล้ว รอการตอบกลับ หากได้รับข้อมูลและตรวจสอบว่ามีมูลเป็นความผิดก็จะดำเนินการตามขั้นตอน การแถลงแบบนี้เป็นการตั้งรับเกินไป สำนักงานศาลยุติธรรมควรที่จะทำการสอบสวนเชิงรุกด้วยตัวเองเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่รอรับหลักฐานจากสหรัฐเพียงด้านเดียว และเมื่อทำอะไรไปแล้วก็สมควรที่จะเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบอย่างสม่ำเสมอ 
ผมอยากจะบอกว่าประชาชนจะเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมก็ต่อเมื่อท่าน “ทำ” ในสิ่งที่ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น ไม่ใช่ “พูดหรือขอร้อง” ให้ประชาชนเชื่อมั่น 

เก้า ที่น่าผิดหวังไม่แพ้กันก็คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ที่โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.เพิ่งจะแถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 นี้เอง หลังมีข่าวไปแล้วกว่าสองเดือนว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่กระทบโดยตรงต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มอบหมายให้มีการรวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับหน่วยงานของประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีการประสานงานกับทางการประเทศสหรัฐอเมริกาในคดีทุจริตอื่นๆ อยู่แล้ว 

เรื่องเขาเปิดเผยกันไปถึงไหนต่อไหนแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. เพิ่งจะมอบหมายให้รวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติม แถมท่าทียังมีเกรงใจกระบวนการยุติธรรมเสียอีก ดูเชื่องช้าและไม่เข้มแข็ง ไม่สมกับองค์กรอิสระที่จะมาปราบคอรัปชั่นในประเทศที่เต็มไปด้วยการคอรัปชั่นที่ฝังรากลึก 

สิบ Justice Delayed is Justice Denied เป็นคำที่ฝรั่งเขาชอบใช้กันเมื่อคดีความต่างๆ ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ซึ่งแปลได้ว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม” นั้นเกิดขึ้นอยู่เนืองๆเห็นได้ตลอดมาในเมืองไทย โดยเฉพาะคดีใหญ่ๆที่เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรี นักการเมืองซีกรัฐบาลหรือธุรกิจขนาดใหญ่ จนคนไทยส่วนมากคิดว่ากฎหมายมีเอาไว้ลงโทษกับคนจนคนตัวเล็กๆเท่านั้น ยังจำคดีไม้ล้างป่าช้า GT200 ที่ฝรั่งเอามาหลอกขายหน่วยงานรัฐของไทยนับสิบหน่วยงาน โดยกองทัพบกนั้นโดนไปเยอะสุด ประเทศสูญเงินไปกว่า 700 ล้านบาทในช่วงปี 2548-2552 ได้ใช่ไหม? เชื่อหรือไม่ว่าคนทำผิดเรื่องนี้ที่ผลิตและเอาไม้ GT200 มาขายนั้นถูกอังกฤษจับ ถูกยึดทรัพย์ และถูกตัดสินจำคุกไปตั้งปี 2556 แล้ว ตอนนี้พ้นโทษออกจากคุกมาเรียบร้อยแล้ว แต่ในเมืองไทยคนที่สั่งซื้อเพิ่งจะถูกป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2564 นี้เอง 

จึงทำให้เกิดคำถามสุดท้ายตามมาว่า เมื่อกระบวนการยุติธรรมของไทยล่าช้าเช่นนี้ มันเข้าข่าย  “ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม” ใช่หรือไม่?  ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยเราควรจะต้องรีบยกเครื่องกระบวนการยุติธรรมและองค์อิสระ ที่เกี่ยวข้องให้สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าปัจจุบัน มีความโปร่งใส ตรงไปตรงมาและที่สำคัญจะต้องถูกตรวจสอบได้ เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ควรจะลอยตัวอยู่เหนือการถูกตรวจสอบ