ความเป็นไปได้ของวิถี ‘คนอยู่กับป่า’ ภายใต้ พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562

09 มิ.ย. 2564 | 12:15 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2564 | 12:16 น.
831

ความเป็นไปได้ของวิถี ‘คนอยู่กับป่า’ ภายใต้ พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย เขมรัฐ เถลิงศรี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,686 หน้า 5 วันที่ 10 - 12 มิถุนายน 2564

ผู้ที่ติดตามประเด็น “คนอยู่กับป่า” จะทราบว่าพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ได้เปิดช่องให้ชุมชนดั้งเดิมที่มีหลักฐานการครอบครองพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เช่น อุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ก่อนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 66/2557 และมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ สามารถอยู่อาศัยและใช้พื้นที่ทำกินต่อไปได้ แม้จะไม่ได้สิทธิ์ในลักษณะโฉนดและไม่ใช่สิทธิ์ถาวร แต่ก็ให้ความมั่นคงระดับหนึ่งกับชุมชนว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่ได้กำหนดขอบเขตไว้อย่างชัดเจนต่อไปได้

ดังนั้นในภาพใหญ่ จึงมีสัญญาณว่าวิถี “คนอยู่กับป่า” จะเกิดขึ้นและเป็นไปได้ภายใต้บริบทกฎหมายนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามและให้ความเห็นกันต่อไปคือ สาระในกฎหมายลำดับรองทั้งหมด 8 ฉบับ ที่จะใช้ประกอบมาตรา 64,65  ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 และมาตรา 121 ของพ.ร.บ.สงวนและคุ้ม ครองสัตว์ป่า 2562 เพราะจะเป็นเงื่อนไขรายละเอียดที่กำหนดวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนเหล่านี้จากนี้ไป ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายลำดับรองเหล่านี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็น 

ปัจจุบันมีหมู่บ้านทั้งหมด 4,192 หมู่บ้าน ที่มีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ครอบครองพื้นที่โดยรวมกว่า 4,295,501.24 ไร่ แม้จะมีหลายชุมชนที่ให้ความร่วมมือในการจับพิกัดพื้นที่และยอมรับแนวทางของ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับนี้ แต่ก็มีอีกหลายชุมชนที่ยังไม่สามารถยอมรับเงื่อนไขที่ตามมาได้ด้วยเห็นว่ากฎหมายยังคงไม่เข้าใจพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงวิถี “คนอยู่กับป่า” จึงเหมือนกับว่า กฎหมายมาจากมุมมองแยก “คน” ออกจากป่าอยู่เช่นเดิม

อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้อยู่นอกขอบเขตของบทความจึงไม่ขอกล่าวต่อในที่นี้ ประเด็นที่ผู้เขียนต้องการยกมาเสนอต่อในบทความ คือ แม้สำหรับชุมชนที่ยอมรับแนวทางของ พ.ร.บ. อุทยานนี้แล้ว การสร้างวิถี “คนอยู่กับป่า” ให้เป็นไปได้จริงยังต้องอาศัยองค์ประกอบอีกหลายประการเพราะกฎหมายเป็นเพียงกรอบเชิงสถาบัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกลไกหรือเครื่องมือที่ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่จริง ซึ่งกระบวนการนวัตกรรมทางสังคมที่จะกล่าวถึงต่อไปเป็นตัวอย่างกลไกหนึ่งที่สามารถ นำมาใช้ในการขับเคลื่อนวิถี “คนอยู่กับป่า” ได้

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสทำโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ “นวัตกรรมทางสังคมเพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตของเกษตรกรบนพื้นที่สูงสู่ความยั่งยืน” ร่วมกับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ ศรีน่าน (นายบัณทิต ฉิมชาติ) ในพื้นที่หมู่บ้านวนาไพร และหมู่บ้านนํ้าปี้ ต.นํ้ามวบ อ.เวียงสา จ.น่าน จุดประสงค์เพื่อช่วยเกษตรกรในช่วงการเปลี่ยนผ่านออกจากวิถีชีวิตเดิมของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยวมาเป็นวิถีเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ป่ามากกว่า เช่น เกษตรผสมผสานหรือวนเกษตร เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติต่อไป

ด้วยความที่เกษตรกรเหล่านี้ผูกพันกับวงจรการปลูกและขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สวนทางกับวิถีอนุรักษ์มากว่า 20 ปี การปรับเปลี่ยนมาเป็นวิถีเกษตรยั่งยืนไม่ใช่เรื่องง่ายถึงแม้จะได้รับสิทธิ์ให้ใช้พื้นที่ได้แล้วก็ตาม เพราะวิถีชีวิตเดิมส่งผลต่อมุมมอง ทัศนคติและพฤติกรรม ความคุ้นชินกับสิ่งเดิมๆ ในบริบทแวดล้อมที่จำกัดไปหมด ทั้งเรื่องนํ้า เรื่องตลาดและประสบการณ์ความไม่เชื่อมั่นกับแนวทางการแก้ปัญหาที่ดินของรัฐที่ตนเผชิญมาหลายระลอก เป็นอุปสรรคสำคัญต่อวิธีคิด “จะเปลี่ยนได้จริงหรือ” เมื่อหัวหน้า อุทยานฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องวิธีคิดและต้องการหาทางออกร่วมกับชุมชนโดยเริ่มจากสิ่งที่ชุมชนมี ทำให้ทีมวิจัยมีโอกาสนำกระบวนการนวัตกรรมทางสังคมมาใช้ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านได้

 

กระบวนการนวัตกรรมทางสังคมคืออะไร เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร

กระบวนการนวัตกรรมทางสังคม เป็นกระบวนการหาทางออก (solution) โดยชุมชนร่วมออกแบบและทดลอง ไม่ได้เป็นทางออกที่มาจากคนภายนอกอย่างเดียวหรือมาจากการสั่งการแบบ top-down เป็นการดำเนินการแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ ต้องอาศัยการสนับสนุนความรู้ ความเชี่ยวชาญจากหลายแขนงวิชา ทีมวิจัยเริ่มกระบวนการทำงานกับกลุ่มเกษตรกรที่เริ่มเห็นภัยของวงจรปลูกพืชเชิงเดี่ยวในที่ป่าอนุรักษ์

ทั้งภัยจากสารเคมี ทุกข์จากหนี้สินที่พอกพูนขึ้นทุกวันและต้องการหาวิถีที่ยั่งยืนตนเองและสิ่งรอบข้าง ต้องการเปลี่ยนแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นเปลี่ยนอย่างไร กระบวนการให้ความสำคัญกับการประเมินทุนตั้งต้นด้านต่างๆ ที่ชุมชนมี ไม่ว่าจะเป็นทุนทรัพยากร ทุนมนุษย์ ทุนด้านการเงิน ทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และทุนทางสังคม เช่น พลังกลุ่ม วัฒนธรรมการคิดการอยู่  ทุนดั้งเดิมที่ชุมชนวนาไพรมีมากพอและสามารถเอามาใช้ได้เลยในการดำเนินกระบวนการคือ ทุนทางสังคมและทุนมนุษย์

ผลจากการประเมินระดับทุนของชุมชนจะนำมาใช้ต่อในขั้นตอนการค้นหากลยุทธ์หรือเครื่องมือที่จะช่วยการปรับเปลี่ยนวิธีคิดหรือพฤติกรรม (ศัพท์ทางวิชาการเรียกว่าต้นแบบหรือ prototype) ในการค้นหา ทีมวิจัยประยุกต์ใช้เทคนิค design thinking และเทคนิคการกระตุ้นความคิดนอกกรอบเดิมร่วมกับเกษตรกร ในที่สุด ชุมชนวนาไพรได้เรื่องการปลูกข้าวไร่/ข้าวนา การทำระบบนํ้า และการหารายได้เสริม มาเป็นกลยุทธ์ช่วยการปรับ เปลี่ยนวิธีคิด ทัศนคติและพฤติกรรม 

 

ความเป็นไปได้ของวิถี ‘คนอยู่กับป่า’ ภายใต้ พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562

 

 

ด้วยกลยุทธ์เหล่านี้มาจากฐานคิดของชุมชน ชุมชนจะมีความเชื่อมั่นและตั้งใจที่จะทำ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการพัฒนาและทดลอง prototype เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมกับชุมชนที่สุด เช่น ทดลองหาพันธุ์ข้าวไร่และข้าวนา วิธีการดูแลข้าวโดยไม่ใช้สารเคมี การปรับรูปแบบและพัฒนาระบบการส่งนํ้า การค้นหาผลิตภัณฑ์สร้างรายได้เสริมที่ไม่ต้องลงทุนสูง การทดลองตลาดของผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบร่วมกับนักออกแบบภายใต้ brand PAMAPAI

ในช่วงทดลองและพัฒนา ทีมวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จะเรียนรู้และแก้ไขปัญหาร่วมกันกับ ชุมชน แน่นอนว่าการทดลองบางอย่างไม่ประสบผลสำเร็จต้องปรับเปลี่ยนแก้ไข บางอย่างใช้เวลาไม่นาน บางอย่างใช้ทั้งฤดูกาลจึงเห็นผล

สุดท้ายคือการประเมินผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกลยุทธ์เหล่านี้ เราพบว่า จำนวนเกษตรกรที่ปลูกข้าวและพื้นที่ปลูกข้าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  รายจ่ายด้านอาหารลดลง เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และรายได้ลดลง

 

แต่เกษตรกรไม่สร้างหนี้เพิ่ม ปริมาณการใช้สารเคมีลดลงมาก มีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นอีกจนสร้างระบบตรวจสอบ ระบบยืมและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว ในเชิงนามธรรม เราพบว่า จุดที่ทำให้เกษตรกรตัดสินใจเริ่มเปลี่ยน เช่น ยอมสละที่ดินที่เคยได้รายได้จากข้าวโพดมาปลูกข้าวเพื่อบริโภคและหยุดใช้สารเคมี เพราะเกษตรกรรู้สึกว่ากำลังเป็นหุ้นส่วนหนึ่งของการทดลองที่มีทีมวิจัย มีหัวหน้าอุทยานเป็นหุ้นส่วนด้วย แต่จุดที่ทำให้เกษตรกรมองเห็นโอกาสและมั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นและเป็นไปได้จริง คือกระบวนการติดตามผล อย่างใกล้ชิดและสร้างความมั่นใจในสิทธิ์การใช้พื้นที่ 

ดังนั้น สำหรับหลายๆ ชุมชน การจัดสรรสิทธิ์การใช้ที่ดินต่อครัวเรือนและการสร้างความชัดเจนเรื่องขอบเขตการใช้ที่ดินตามหลักการของ พรบ. อุทยาน 2562 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทำความเข้าใจให้ตรงกัน แต่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดที่ส่งผลไปจนถึงการปรับเปลี่ยนสู่รูปแบบเกษตรที่ยั่งยืนเหมาะกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งความคาดหวังไม่ได้ตกอยู่กับเกษตรกรในพื้นที่เท่านั้น แต่จะอยู่ที่เจ้าหน้าที่อุทยานและหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ที่จะร่วมกับชุมชนออกแบบแนวทางที่เป็นไปได้จริงและยั่งยืนทั้งกับคนและป่า 

นั่นหมายถึงว่า นอกจากกฎหมายที่เปิดช่องแล้ว คือ ทักษะ (skill) และวิธีคิด (mindset) ของเจ้าหน้าที่อุทยานในการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับเกษตรกร จะเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการจัดการทรัพยากรร่วมกัน (co-management) ระหว่างชุมชนกับภาครัฐ จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า วิถี “คนอยู่กับป่า” เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ภายใต้ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 

อ้างอิงจาก โครงการวิจัย “นวัตกรรมทางสังคมเพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตของเกษตรกรบนพื้นที่สูงสู่ความยั่งยืน” โดย เขมรัฐ เถลิงศรีและคณะ สนับสนุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)