Designed in China เป็นกระแสที่จะเร่งตัวขึ้น

13 พ.ค. 2564 | 11:29 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2564 | 18:48 น.
1.2 k

Designed in China เป็นกระแสที่จะเร่งตัวขึ้น : คอลัมน์ลวดลายมังกร โดย... มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 4 ฉบับ 3678 ระหว่างวันที่ 13-15 พ.ค.2564   

 

ประเทศจีนกำลังผลัดเปลี่ยนจากการเน้นการผลิต (Made in China) ไปสู่การออกแบบ (Designed in China) อย่างรวดเร็วโดยมีแนวโน้มที่มีแต่จะเร่งขึ้นในระยะยาว และจะทำให้มีแบรนด์สินค้าจีนก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์สินค้าระดับโลกอย่างแท้จริงอีกมากในอนาคต

พร้อมกันนี้ กระแสนิยมแบรนด์ท้องถิ่นก็ได้ระอุขึ้นในระหว่างผู้บริโภคชาวจีนเอง ทำให้สินค้าต่างชาติตั้งแต่สินค้าบริโภคจนถึงสินค้าอุตสาหกรรม ที่ต้องการเจาะตลาดจีนจะต้องมีจุดเด่นที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะจะเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทั้งในประเทศจีนและในตลาดสากลด้วย

แบรนด์ที่น่าจะได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด เกี่ยวกับการออกแบบน่าจะเป็น บริษัท Xiaomi ที่ครั้งหนึ่งอาจเคยถูกมองว่าเป็นบริษัทที่เลียนแบบ Apple บริษัท Xiaomi เน้นผสมสานการออกแบบผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเข้าด้วยกันตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ผู้บริหารบริษัท Xiaomi ให้ลูกค้าผู้ใช้มีส่วนร่วมอย่างมากในการออกแบบผลิตภัณฑ์ กำหนดมาตรฐานการออกแบบ และนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างเต็มรูปแบบ จนในปัจจุบัน บริษัท Xiaomi มีผลิตภัณฑ์อิเลคโทรนิคสำหรับผู้บริโภคที่หลากหลายมีผู้ใช้กว่า 320 ล้านราย

แบรนด์เสื้อผ้า Bosideng ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1976 ได้ก้าวขึ้นมาจากผู้ผลิตเสื้อหน้าหนาวขนเป็ดแบบพื้นๆ มาสู่เวทีแฟชั่นนานาชาติด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมกับนักออกแบบชื่อดัง Jean Paul Gaultier ปรับรูปลักษณ์ของร้าน flagship store ให้มีความทันสมัย เน้นการผลิตที่มีคุณภาพสูง และขยายสายผลิตภัณฑ์ไปในหมวดเสื้อผ้าแฟชั่นมากขึ้น
                                                         Designed in China เป็นกระแสที่จะเร่งตัวขึ้น

ในระดับอุตสาหกรรมที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด น่าจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ในอดีตประเทศจีนกำหนดให้บริษัทรถยนต์ต่างชาติ ที่จะมาลงทุนในประเทศจีนจะต้องจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัทรถยนต์จีน และจำกัดการร่วมทุนได้ไม่เกินสองแห่ง แต่นโยบายการจำกัดการถือครองหุ้นโดยบริษัทต่างชาติดังกล่าว ได้เริ่มผ่อนปรนตั้งแต่ปี 2018 และจะก้าวไปสู่นโยบายเปิดเสรีเต็มที่ในปีหน้า  

บริษัทรถยนต์จีนได้พัฒนาด้านการออกแบบไปอย่างมาก โดยมีรถยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวบุกเบิกทั้งในด้านการออกแบบและโมเด็ลธุรกิจ อาทิ บริษัท NIO ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น Tesla ของจีนได้บุกเบิกโมเด็ลธุรกิจที่เรียกว่า Battery-as-a-service ทำให้ผู้ใช้รถสามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ทุกที่ตลอดเวลา และแน่นอนรูปลักษณ์ของรถยนต์ NIO มีการออกแบบที่ทันสมัยไม่แพ้แบรนด์ตะวันตก บริษัท Great Wall Motor ได้ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการออกโมเดลรถยนต์ไฟฟ้า Ora เมื่อปีที่แล้ว ที่ได้รับการออกแบบภายนอกโดยอดีตนักออกแบบจากบริษัท Porsche 
 

 

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์จีนที่กำลังก้าวขึ้นมาสู่เวทีสากล โดยมีการออกแบบที่ตอบรับกับความนิยมของผู้บริโภคยังมีอยู่อีกมาก ในขณะเดียวกันกระแสความนิยมแบรนด์ท้องถิ่นหรือที่เรียกว่า Guo Chao ก็ได้ระอุขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในประเทศจีน โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Z ที่เติบโตมาพร้อมกับความมั่นใจในสถานะของประเทศตนเอง และมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น พร้อมกับที่ GDP ต่อหัวของจีนได้เติบโตอย่างรวดเร็วและทะลุ 10,000 เหรียญสหรัฐเมื่อไม่นานมานี้ 

ความพึ่งพาแบรนด์ต่างชาติเพื่อมาบ่งบอกถึงความเป็นตัวเองมีน้อยลง เมื่อเทียบกับเยาวชนรุ่นก่อนนี้ อีกทั้งการกีดกันทางการค้าของชาติตะวันตกต่อจีนก็เป็นตัวผลักดันอีกส่วนหนึ่งให้แก่กระแส Guo Chao นี้ด้วย
 

หมายเหตุ : ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด ผู้อ่านสามารถแสดงความเห็นได้ที่ facebook: manop sangiambut

เกี่ยวกับผู้เขียน : นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนและการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี ในอดีตเคยเป็นหัวหน้านักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสาระสนเทศการบัญชี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญโท MBA จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลล่อน สหรัฐอเมริกา