ทำไมเผด็จการทหารในเมียนมา ถึงน่ากลัวสำหรับประเทศไทย

12 พ.ค. 2564 | 13:00 น.
2.9 k

ทำไมเผด็จการทหารในเมียนมา ถึงน่ากลัวสำหรับประเทศไทย

คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,678 หน้า 5 วันที่ 13 - 15 พฤษภาคม 2564

 

บทความนี้จะไม่เน้นการมองย้อนอดีตกลับไปดูเมียนมา ภายใต้การปกครองของระบอบทหารที่ปกครองยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ (1962-2011) แต่จะมองไปในอนาคต โดยใช้ทฤษฎีทางด้านเศรษฐศาสตร์ และเศรษฐกิจ-การเมือง 

เผด็จการทหารถือเป็นหนึ่งในรูปแบบการปกครองที่มีลักษณะอำนาจนิยม ซึ่งหมายถึงระบอบการ เมืองที่มีฐานอยู่บนอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเผด็จการ ชนิดที่ผู้ปกครองสามารถใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือรัฐ หรือกลุ่มคนใดๆ ในการดำรงไว้ซึ่งเป้าหมายสูงสุด คือ การรักษาอำนาจของตน โดยมักจะไม่คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นที่เป็นปฏิปักษ์กับผู้นำ ควบคุมสื่อมวลชน ผูกขาดการใช้อำนาจและจำกัดการตรวจสอบ (Kurian, George Thomas, 2011) 

แต่เผด็จการทหารมักจะแตกต่างจากเผด็จการพลเรือนด้วยหลายสาเหตุ อาทิ แรงจูงใจในการยึดอำนาจ สถาบันซึ่งใช้จัดระเบียบการปกครอง และหนทางสละอำนาจ ผู้นำกองทัพที่เข้ามาทำรัฐประหารมักพิจารณาตนว่ากำลังเข้ามาช่วยให้ประเทศชาติพ้นจากภาวะวิกฤติของการเมือง (ความฉ้อฉล ไม่มีวิสัยทัศน์ คอรับชั่น ฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือในกรณีเมียนมาคือ การทุจริตการเลือกตั้ง) และเศรษฐกิจ (วิกฤติการณ์ทางการเงิน ภาวะเศรษฐกิจ ตกตํ่า) และมักจะอ้างฐานะของตน เป็นผู้ชี้ขาด เป็นคนกลาง (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2540 และ Cheibub, 2010) 

และเมียนมาก็เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในโลก นั่นคือ ถูก Disrupt โดยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน หากแต่ด้วยฐานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries) ตามการจัดอันดับโดยสหประชาชาติ และประเทศรายได้ระดับกลาง-ล่าง ตามการจัดอันดับโดยธนาคารโลก 

นั่นหมายความว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจของเมียนมายังเป็นประเทศที่เน้นการขายและส่งออกทรัพยากร (Factor Driven Economy) ยังไม่ได้ก้าวไปสู่ประเทศที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Innovative Driven Economy)  

เนื่องจากประเทศไม่เท่าทันเทคโนโลยี ไม่สามารถปรับตัวเพื่อให้ตนเองสามารถเป็นเจ้าของ หรือสร้างเทคโนโลยีได้เอง แต่กลุ่มผู้นำเผด็จการอำนาจนิยมมีความต้องการใช้เทคโนโลยีเพื่อ 2 วัตถุประสงค์ นั่นคือ สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับตนเองและพวกพ้อง พร้อมกับที่ต้องการสร้างความมั่นคงให้กับระบอบที่ตนเองผูกขาดอำนาจ ดังนั้นการตกเป็นทาสทางเทคโนโลยี ที่ต้องหวังพึ่งการซื้อเทคโนโลยีนำเข้าจากต่างประเทศที่ตนเองมีความพึ่งพิงสูงจึงเกิดขึ้น

 

ทำไมเผด็จการทหารในเมียนมา ถึงน่ากลัวสำหรับประเทศไทย

 

ที่มาของเทคโนโลยีเหล่านี้ เกิดขึ้นจากการนำเอาทรัพยากรของประเทศทั้งทรัพยากรธรรมชาติ แรงงาน โอกาส และความมั่นคงในบางมิติที่กลุ่มผู้นำสามารถสละได้ ไปแลกกับเทคโนโลยีในรูปแบบของรายงาน Country For Sale โดยกลุ่มเคลื่อนไหวภาคประชาชน Global Witness (2009) 

เทคโนโลยีในการควบคุมและชี้นำความคิดของคนในสังคมคงจะถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ เพราะการควบคุมโดยอาวุธได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ประชาชนเมียนมาไม่กลัวและพร้อมที่จะปะทะ เทคโนโลยีในการควบคุมสังคมในรูปแบบ Social Monitoring โดยอาจอยู่ในรูปแบบของ สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) แอปพลิเคชั่น รูปแบบการถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งในระบบและนอกระบบ  

 

การใช้ระบบการให้คะแนนความประพฤติทางสังคม (Social Credit Rating) ทั้งเพื่อให้รางวัล เพื่อเข้าสู่บริการภาครัฐ และเพื่อลงโทษให้หลาบจำ เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมถูกกล่อมเกลาให้มีความคิดและนิสัยในรูปแบบที่อ่อนน้อมและยอมรับอำนาจ โดยไม่คิดที่จะปฏิเสธ ในขณะเดียวกันก็ต้องทำให้คนที่มีแนวคิดที่จะต่อต้านรัฐไม่สามารถรวมตัวกันได้ติด (Larson, 2018) 

ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของเมียนมา ก็คงจะถูกนำมาขายเพื่อแลกเปลี่ยนกับเทคโนโลยีที่ จะต้องถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความมั่งคั่งและความมั่นคงให้กับกลุ่มผู้ปกครอง จนเมียนมาเข้าสู่คำสาปแห่งทรัพยากรธรรมชาติ (Curse of Natural Resources หรือ Poverty Paradox) ที่ทำให้ประเทศเข้าสู่วังวนกับดักจนไม่สามารถพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ (Smith and Waldner, 2021; Venables, 2016;  Ross, 2015) 

เช่นเดียวกับที่ ความเหลื่อม ลํ้าในทุกมิติ และความไม่มีธรรมาภิบาล เพื่อรักษาอำนาจให้กับเผด็จการคณาธิปไตย เป็นเครื่องบั่นทอนสำคัญอย่างยิ่ง ที่ทำให้ประเทศไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้ในระยะยาว (Cingano, 2014; Rachid and Hammadachek, 2017) 

และที่กล่าวว่ามันน่ากลัวที่สุดสำหรับประเทศไทย ก็เพราะเมื่อเรามองย้อนกลับมาดูตัวเราเองแล้ว หากเรายังคงเล่นพรรค เล่นพวก เห็นพวกพ้องสำคัญกว่าความถูกต้อง พวกมากลากไป ในที่สุดการเมืองที่ล้มเหลว ก็จะกลายเป็นข้ออ้าง ที่ทำให้ประเทศร่วงหล่นไปสู่วังวนของประเทศ ที่ไม่สามารถพัฒนาได้เช่นเดียวกับที่เกิด ไปแล้วในประเทศเพื่อนบ้านของเรานั่นเอง 

 

Cheibub, José Antonio (2010-04-01). “Democracy and dictatorship revisited”. Public Choice. 143 (1-2): 67-101. doi:10.1007/s11127-009-9491-2. ISSN 0048-5829

Cingano, F. (2014), “Trends in Income Inequality and its Impact on Economic Growth”, OECD Social, Employment and Migration Working Papers, No. 163, OECD Publishing, Paris, https://doi.org/ 10.1787/5jxrjncwxv6j-en. 

Global Witness (2009) (https://www.globalwitness.org/en/reports/country-sale/)

Kurian, George Thomas (2011), The Encyclopedia of Political Science. Washington. CQ Press. pp. 103 

Larson, Christina (2018) Who needs democracy when you have data? MIT Technology Review, August 20, 2018. https://www.technologyreview.com/2018/08/20/240293/who-needs-democracy-when-you-have-data/

Rachid MIRA & Ahmed HAMMADACHEK (2017) Good Governance and Economic Growth: A Contribution to the Institutional Debate about State Failure in Middle East and North Africa. Asian Journal of Middle Eastern and Islamic Studies Vol. 11, No. 3, 2017 http://mideast.shisu.edu.cn/_upload/article/files/b2/cd/dfefe5e94775ae5995ef202c53d4/1284d2fb-7377-4558-9c0e-2593e8caa581.pdf )

Ross, Michael L. (May 2015). “What Have We Learned about the Resource Curse?”. Annual Review of Political Science. 18: 239-259. doi:10.1146/annurev-polisci-052213-040359. S2CID 154308471.)

Smith, Benjamin; Waldner, David (2021). “Rethinking the Resource Curse”. Cambridge University Press. doi:10.1017/9781108776837 

Venables, Anthony J. (February 2016). “Using Natural Resources for Development: Why Has It Proven So Difficult?”. Journal of Economic Perspectives. 30 (1): 161-184. doi:10.1257/jep.30.1.161. S2CID 155899373

ชัยอนันต์ สมุทวณิช (2540) ไตรลักษณรัฐกับการเมืองไทย, กรุงเทพฯ ISBN 9748965503