จากดิจิทัลหยวน…สู่ดิจิทัลบาท

14 เม.ย. 2564 | 11:50 น.
อัปเดตล่าสุด :14 เม.ย. 2564 | 18:54 น.
1.7 k

จากดิจิทัลหยวน…สู่ดิจิทัลบาท : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย  ผศ.ดร.วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,670 หน้า 5 วันที่ 15 - 17 เมษายน 2564

ประเทศจีนได้เริ่มทดสอบใช้งาน ดิจิทัลหยวน หรือ DCEP (Digital Currency Electronic Payment) ในบางพื้นที่มาระยะหนึ่งแล้ว  โดยการเริ่มทดสอบนี้ได้รับความสนใจจากผู้คนมากพอสมควรเพราะมีการ “แจกเงินฟรี” สำหรับผู้โชคดีที่อยากจะมา ทดลองใช้ดิจิทัลหยวน การสร้างและขยายการใช้งานดิจิทัลหยวนของธนาคารกลางแห่ง ประเทศจีน หรือ PBOC (People’s Bank of China) เป็นสิ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมาการใช้จ่ายส่วนใหญ่ของประชาชนจีนเป็นการใช้จ่ายผ่าน Mobile Payment Application ของเอกชนเจ้าใหญ่ 2 เจ้าคือ Alipay และ WeChat Pay (รวมกันแล้วเกิน 90%)  

หากรัฐบาลจีนอยากเปลี่ยนเกมส์ให้ตัวเองมีบทบาทมากขึ้น  และทำให้การใช้จ่ายของประชาชน (รวมถึงข้อมูล Transactions ต่างๆที่เกี่ยวข้อง) อยู่ในมือเอกชนเจ้าใหญ่เหล่านี้น้อยลง ก็ต้องยิ่งรีบขยายการใช้งาน DCEP ให้มากขึ้นและเร็วขึ้น (อย่างไรก็ดี ทั้ง Alipay และ WeChat Pay ก็ปรับตัวทันที โดยการทำให้ Wallet ของตัวเองสามารถรองรับการใช้งาน DCEP ได้ด้วย) นอกจากนี้ หากวันหนึ่งรัฐบาลจีนมีการบังคับใช้ DCEP กับบริษัทต่างประเทศที่เป็นคู่ค้า ก็จะทำให้จีนผลักดันเป้าหมายเรื่องการทำให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล (RMB Internationalization) ได้ง่ายยิ่งขึ้น

สำหรับประเทศไทย เป็นเรื่องน่ายินดีที่เมื่อเร็วๆ นี้ (วันที่ 2 เม.ย. 2021) ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แถลงข่าวเกี่ยวกับโครงการ Retail CBDC (Central Bank Digital Currency) หรือ เงินดิจิทัลบาทสำหรับใช้โดยคนทั่วไป ซึ่งกำลังจะเริ่มพัฒนาในปีนี้ และมีแผนจะเริ่มทดลองใช้ในปีหน้า โดยช่วงนี้จะเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะเริ่มพัฒนาจริง ผู้เขียนเลยอยากมาชวนคุยว่า หากประเทศไทยจะสร้างดิจิทัลบาทขึ้นมาให้คนทั่วไปใช้นั้น มีประเด็นอะไรที่สำคัญและควรนำมาพิจารณาบ้าง

1. ประชาชนจะได้อะไรบ้าง?

จริงๆ คำตอบนี้จะขึ้นอยู่กับการออก แบบว่า ดิจิทัลบาท นี้จะมีคุณสมบัติอะไรบ้าง แต่หลักๆ แล้วการมี Retail CBDC จะเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนในด้านเทคโนโลยีการ ชำระเงิน และหากการออกแบบเอื้อให้สามารถชำระเงินแบบ Offline ได้ และช่วยให้การทำ Cross-Border Transfer/Payment ทำได้ง่ายขึ้น ประชาชนก็น่าจะได้ประโยชน์มากขึ้นที เดียว (เพราะคุณสมบัติจะเหนือจาก E-Money ที่มีอยู่แล้ว)

 

2. อะไรคือสิ่งที่ท้าทาย?

การพัฒนาเทคโนโลยีนี้เพื่อให้สามารถใช้ในวงกว้างได้ไม่ใช่เรื่องง่าย การเตรียมความพร้อมเรื่อง Cyber Attack และ Data Privacy เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง นอกจากนี้บทบาทของธนาคารพาณิชย์ในการเข้ามาร่วมพัฒนาหรือร่วมสร้าง Technology ที่รองรับก็เป็นเรื่องสำคัญ (สำหรับดิจิทัลหยวน ได้มีการแจกจ่ายให้ประชาชนผ่านธนาคารพาณิชย์ รวมถึงธนาคารพาณิชย์ และบริษัทเอกชนได้รับอนุญาตให้สร้าง Wallet ที่ Compatible กับ DCEP ได้)

 

จากดิจิทัลหยวน…สู่ดิจิทัลบาท

 

สิ่งที่ท้าทายอีกด้านหนึ่งคือพัฒนาการของ Digital Currency แบบ Stablecoin ที่สร้างโดยเอกชน โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่เข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่ได้อยู่แล้ว โดยประชาชนส่วนใหญ่มี account และ log in อยู่ทุกๆ วัน หากบริษัทพวกนี้สร้าง Stablecoin ขึ้นมาให้คนใน Ecosystem ของตัวเองใช้ คนสามารถใช้ซื้อของใน Ecosystem นั้น และโอนให้เพื่อนๆ ที่อยู่ใน Ecosystem เดียวกันได้ (ลองนึกภาพว่าถ้าบริษัทแบบ Facebook สามารถสร้าง Global Stablecoin ขึ้นมาได้จริงๆ ซึ่งเท่าที่ทราบบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ ก็สร้างทีมขึ้นศึกษาเรื่อง Digital Currency อย่างใกล้ชิด) สิ่งเหล่านี้จะท้าทายธนาคารกลางมากขึ้นเรื่อยๆ ทีเดียว

 

3. สรุปแล้วเราจำเป็นต้องมีดิจิทัลบาทนี้ไหม?

หากมองดูจากประเทศอื่นๆ มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ได้พัฒนาและทดลองใช้ Retail CBDC ขึ้นมาแล้วจริงๆ ในขณะที่หลายประเทศกำลังศึกษาอยู่แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าใช้จริงหรือไม่ 

สำหรับประเทศไทยความจำเป็นที่จะต้องมีดิจิทัลบาทในวันนี้ ผู้เขียนมองว่าเป็นสิ่งที่ “Nice to Have” ส่วนความจำเป็นในการศึกษาเพื่อพัฒนาและมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีนั้น ผู้เขียนมองว่าเป็นสิ่งที่ “Must Have” การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการวางแผนเริ่มพัฒนา Retail CBDC ในปีนี้ และมีแผนจะเริ่มทดลองใช้ในปีหน้า ผู้เขียนมองว่า ธปท.ได้เดินมาถูกทางและถูกเวลาแล้ว ซึ่งผู้เขียนก็จะรอคอยที่จะฟังข่าวเกี่ยวกับพัฒนาการของ Retail CBDC นี้ ในขั้นต่อๆ ไป

การเงินในโลกอนาคตจะมีการเปลี่ยน แปลงอีกมาก การศึกษาทำความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเตรียมความพร้อมและตามเทคโนโลยีให้ทัน เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคน