ที่ดิน ผู้หญิง กฎหมาย ความกินดีอยู่ดี ของครัวเรือนสมัยรัชกาลที่ 5

15 ก.ค. 2563 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2563 | 18:02 น.
698

 

คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย ผศ.ดร.ธันยพร จันทร์กระจ่าง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,592 หน้า 5 วันที่ 16 - 18 กรกฎาคม 2563

 

 

เราอาจจะคุ้นชินกับวลีและการเคลื่อนไหวสากลเพื่อ “เรียกร้องสิทธิสตรี” จนกลายเป็นความเคยชินที่จะมีข้อสันนิษฐานในใจว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ผู้หญิงนั้น ถูกลิดรอนทางสิทธิหรือไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย อีกทั้งไม่มีบทบาททางเศรษฐกิจ เพื่อคํ้าจุนครอบครัวเมื่อเทียบกับผู้ชาย 

 

วันนี้ผู้เขียนจะนำงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ ทำร่วมกับ ผศ.ดร.เจสสิกา เวชบรรณยงค์รัตน์ (Chankrajang and Vechbanyongratana, 2020) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการวิเคราะห์หลักฐานทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ที่อาจจะต้องทำให้เราเปลี่ยนข้อสันนิษฐานกันใหม่เลยค่ะ

 

ในงานวิจัยชิ้นนี้ เราได้ใช้เอกสารทางประวัติศาสตร์หลายส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ ต้นขั้วโฉนดสวนในเขตกรุงเทพฯ และธนบุรี จากสมัยรัชกาลที่ 5 กว่า 9,000 ฉบับ ที่ปัจจุบันเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์กรมที่ดิน เหตุที่เราสนใจที่ดินก็เพราะว่าที่ดินนอกจากจะเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญแล้ว ยังเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าตั้งแต่สมัยโบราณ การถือครองที่ดินย่อมแสดงให้เห็นถึงทั้งการเข้าถึงปัจจัยที่นำมาซึ่งรายได้ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และความมั่นคงในระยะยาว การศึกษาจากเศรษฐศาสตร์พัฒนาจากหลายประเทศ

 

ในปัจจุบันก็แสดงให้เห็นว่า หากผู้หญิงสามารถเข้าถึงการใช้ที่ดินได้เหมือนผู้ชายแล้ว นอกจากจะมีประสิทธิภาพในการผลิตไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้ชาย ยังมีผลดีต่อความเป็นอยู่ของสมาชิกในครัวเรือนมากกว่าอีกด้วย เนื่องจากเป็นการยากที่จะมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ถึงเพศของเจ้าของที่ดิน ต้นขั้วโฉนดสวนของไทยซึ่งมีการเขียนคำนำหน้าชื่อ เช่น อำแดง นาง นาย ที่บอกถึงเพศของเจ้าของ จึงนับว่าเป็นหลักฐานที่ทรงคุณค่ายิ่ง 

 

สิ่งแรกที่เราค้นพบก็คือ 82% ของโฉนดทั้งหมด มีผู้หญิงอย่างน้อยหนึ่งคนเป็นเจ้าของ ในขณะที่ 74% มีผู้ชายอย่างน้อยหนึ่งคนเป็นเจ้าของ อีกทั้งส่วนใหญ่ของโฉนดที่มีชื่อคนเดียวเป็นเจ้าของ เป็นโฉนดที่ถือครองโดยผู้หญิง ข้อค้นพบแรกนี้บ่งชี้ว่า ผู้หญิงในสมัยยรัชกาลที่ 5 สามารถและได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในการถือครองที่ดินไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้ชาย 

 

นอกจากมีสิทธิในเอกสารแล้ว เมื่อเรานำเพศของเจ้าของที่ดินมาหาความสัมพันธ์กับผลิตภาพการผลิตต่อพื้นที่ โดยมีการควบคุมปัจจัยอื่นๆ เราพบว่า สวนที่ถือครองโดยผู้หญิงล้วนนั้น มีผลิตภาพการผลิตสูงกว่าสวนที่ถือครองโดยคู่สมรส 6.7% ใน ขณะที่สวนที่ถือครองโดยผู้ชายล้วน มีผลิตภาพการผลิตที่ตํ่ากว่าสวนที่ถือครองโดยคู่สมรส 6.7% 

 

นี่เป็นหลักฐานจากการวิเคราะห์ที่สำคัญว่า ในแง่ของการปฏิบัติ ผู้หญิงในสมัยนั้น ต้องมั่นใจในสิทธิในที่ทำกินของเธอที่เขียนอยู่ในกระดาษมากเพียงพอ จนตัด สินใจที่จะลงทุนลงแรงในการทำสวน ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่ต้องรอผลในระยะยาว และการลงทุนลงแรงนั้นก็สันนิษฐานได้ว่าต้องมีปริมาณมากอย่างมีนัยสำคัญ จนเห็นผลออกมาเป็นผลิตภาพในการผลิตที่สูงกว่าสวนของผู้ชาย 

 

การค้นพบสองอย่างข้างต้นนั้น ก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้เรามั่นใจว่า แล้วในยุคสมัยที่ที่ดินเริ่มมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดและมีการเริ่มกว้านซื้อขายที่ดิน เนื่องจากการมีการส่งออกผลผลิตที่ได้จากที่ดิน (ข้าว) ไปขายในตลาดโลก ผู้หญิงที่ถือครองที่ดินอยู่นั้น จะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายจากแรงกดดันเหล่านี้หรือไม่ 

 

เราจึงนำข้อบันทึกกรณีพิพาททางที่ดิน 217 กรณีในช่วงเวลา 13 ปี นับตั้งแต่ ค.ศ. 1899 ที่เก็บไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาตินำมาวิเคราะห์ เราพบว่าถึงแม้กรณีส่วนใหญ่มีผู้ชายเป็นโจทก์หรือจำเลย เกือบครึ่งของทั้งมด (105 กรณี) มีผู้หญิงอย่างน้อย หนึ่งคนร่วมเป็นโจทก์หรือจำเลย ไม่เป็น เรื่องแปลกที่จะพบผู้หญิงเป็นโจทก์ฟ้องร้องผู้ชายที่เป็นข้าราชการมียศขุนนาง และไม่เป็นเรื่องแปลกเช่นกันที่ผู้หญิงคนเดียว ถึงแม้เป็นหญิงหม้าย ถูกฟ้องโดยผู้ชายที่เป็นขุนนาง แต่กลับได้รับความยุติธรรมและการคุ้มครองจากผู้ตัดสิน 

 

ที่ดิน ผู้หญิง กฎหมาย ความกินดีอยู่ดี ของครัวเรือนสมัยรัชกาลที่ 5

 

นอกจากนั้น ผู้หญิงบางคนยังเป็นตัวแทนของญาติผู้ชายของเธอในกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย ซึ่งในบรรดาผู้หญิงเหล่านี้ มี 4 คนเท่านั้นที่มียศ นอกนั้นล้วนเป็นอำแดงหรือนาง และเมื่อเรานำ 47 กรณีที่มีผู้หญิงเกี่ยวข้องและมีคำตัดสินชัดเจนมาวิเคราะห์ ผู้ชายไม่ได้มีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะชนะคำตัดสินเมื่อเป็นโจทก์ และจากสถิติเมื่อเป็นจำเลย ผู้หญิงมีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะชนะคำตัดสิน 

 

 

การวิเคราะห์ข้อมูลนี้ ทำให้เราเห็นได้ว่า นอกจากมีสิทธิในที่ดินในกระดาษและสะท้อนมาในการปฏิบัติจริงแล้ว เมื่อมีกรณีพิพาททางที่ดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในสมัยนั้น ก็มิได้เลือกเพศในการปฏิบัติ ผู้หญิงก็ได้รับการคุ้มครองและความยุติธรรมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้ชาย

 

ทีนี้มาถึงคำถามสำคัญทางเศรษฐ ศาสตร์ ที่ว่า แล้วสิทธิในที่ดินทำกินของผู้หญิงมีความหมายอะไรกับความกินดีอยู่ดีของครัวเรือนของเธอหรือไม่ จากการประมาณค่าของเราโดยใช้ข้อมูลราคาในสมัยนั้น จากค่ากลาง รายได้รายปีจากครัวเรือนที่มีสวนถือครองโดยผู้หญิงล้วน มีค่าเท่ากับค่าใช้จ่ายพื้นฐานสำหรับข้าวที่ให้คนผู้ใหญ่พอรับประทานภายใน 1 ปี ถึงประมาณ 10 คน และโดยเฉลี่ยครัวเรือนหนึ่งในสมัยนั้น มีประมาณ 6 คน 

 

นั่นก็แปลว่า ครัวเรือนที่มีสวนถือครองโดยผู้หญิงมีรายได้เหลือใช้จากค่าใช้จ่ายอาหารพื้นฐานมากทีเดียว นอกจากนั้น เรายังคำนวณตะกร้าสินค้าพื้นฐานที่บ่งชี้ถึงค่าครองชีพพื้นฐานในสมัยนั้นซึ่งรวมทั้งอาหาร เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ ผัก นํ้ามัน ค่าเครื่องอุปโภค เช่น เสื้อผ้า เทียน สบู่ ด้วย นับเป็นครั้งแรกที่มีการคำนวณตะกร้าสินค้าพื้นฐานในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย 

 

เราพบว่า ในกรณีของผู้หญิงล้วนเป็นเจ้าของสวน ค่า welfare ratio ซึ่งนำรายได้ครัวเรือนมาหารรายจ่ายจากตะกร้าสินค้าพื้นฐานครัวเรือน มีค่ามากกว่า 1 (1.66) หมายความว่า รายได้ครัวเรือนเหล่านั้นมีเกินความเพียงพอในการยังชีพพื้นฐานของครัวเรือน ซึ่งค่าประมาณที่เราได้ เทียบเท่า กับค่าประมาณ จากเมืองในสมัยนั้นที่มีกิจกรรมจากภาคอุตสาหกรรมแล้ว อย่างเช่น  มิลาน และปักกิ่งเลยทีเดียว

 

มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าสิ่งที่เราค้นพบในงานวิจัย เป็นภาพที่ดีเกินจริง ขัดแย้งไปจากข้อค้นพบที่มีมาทางประวัติศาสตร์โดยสิ้นเชิงหรือไม่ ถึงแม้ว่าในความคิดและข้อสันนิษฐานในใจของคนส่วนใหญ่ อาจจะเป็นภาพของผู้หญิงสมัยโบราณและผู้หญิงตะวันออกที่ขาดสิทธิ มีบันทึกทางประวัติศาสตร์จากชาวต่างชาติ และงานทางวิชาการจำนวนไม่น้อย บ่งชี้ว่า ผู้หญิงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่โบราณมา มีบทบาทและความสำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งในเกษตรกรรมและการค้าขาย ที่ดินในกลุ่มคนที่สืบเชื้อสายมาจากคนเชื้อชาติไทหรือไต ก็สืบทอดมาทางฝ่ายหญิง 

 

 

งานศึกษา Doepke et al. (2012) ก็ยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่า การมีสิทธิในด้านการถือครองที่ดินของผู้หญิงไทยและผู้หญิงอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน ได้รับคะแนนดัชนีสูงสุด เทียบเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วในตะวันตกที่มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงกว่ามาก 

 

การค้นพบและการวิเคราะห์ของผู้เขียนและอาจารย์เจสสิกา นอกจากจะมีคุณค่าทางหลักฐานทางวิชาการที่เป็นรูปธรรมแล้ว ยังชี้ให้เห็นว่า การศึกษาและการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่ใช้หลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนมาก มีความสำคัญในการทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งเป็นรากฐานของปัจจุบันและอนาคต 

 

เอกสารอ้างอิง

• Chankrajang, T. and Vechbanyongratana, J., ‘Land, Ladies and the Law: A Case Study on Women’s Land Rights and Welfare in Southeast Asia in the Nineteenth Century’, Forthcoming, Economic History Review (2020).

• Doepke, M., Tertilt, M., and Voena, A., ‘The economics and politics of women’s rights’, Annual Review of Economics, 4 (2012), pp. 339-72.