ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท

18 ธ.ค. 2562 | 12:20 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2562 | 19:20 น.
3.2 k

 

คอลัมน์ เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย ผศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,532 วันที่ 19-21 ธันวาคม 2562

 

เศรษฐกิจไทยเริ่มมีทิศ ทางชะลอตัวลง ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ชี้ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปี 2562 ขยายตัว 2.8% และชะลอลงเป็น 2.3% ในไตรมาส 2 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 2.4% ในไตรมาส 3 ส่งผลให้ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2562 เศรษฐกิจไทยได้ขยายตัวเฉลี่ย 2.5% ชะลอลงอย่างชัดเจนจาก 4.1% ในปี 2561

นอกจากนี้ ยังถือว่าเป็นระดับการขยายตัวที่ตํ่ากว่าที่ประเมินไว้และตํ่ากว่าศักยภาพมากขึ้น โดยศักยภาพหรือระดับธรรมชาติการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ประมาณ 3.7% ภายใต้เงื่อนไขระดับการผลิตและการว่างงานที่ตํ่ากว่าระดับธรรมชาติ หมายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงหรือถดถอย เมื่อเวลาผ่านไปค่าจ้างและระดับราคาจะลดลง ซึ่งเป็นการตอบสนองต่ออุปสงค์ที่ตํ่าลง และส่งผลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับตํ่า

ดังจะเห็นได้จากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับตํ่ามาโดยตลอดและตํ่ากว่าเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ กำหนดคือ 2% ในขณะที่เงินเฟ้อของไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 เฉลี่ยอยู่ในระดับตํ่ากว่า 1% ซึ่งเป็นระดับขอบล่างของเป้าหมายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้

หากพิจารณาตามหลักการความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (Purchasing power parity) แล้ว เงินบาทจึงมีแนวโน้มที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 1% ต่อปี และสะท้อนว่าการที่เงินเฟ้อของไทยตํ่ากว่าเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะส่งผลให้ในระยะยาวเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่แข็งค่าขึ้น

ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2558 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 36.71 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ใกล้สิ้นปีนี้ วันที่ 3 ธันวาคม 2562 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 30.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นถึง 17% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ต้นปี 2562 เป็นต้นมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนมีความสำคัญ เนื่องจากมีผลต่อราคาเปรียบเทียบของสินค้าในประเทศกับต่างประเทศ เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น สินค้าไทยในต่างประเทศจะแพงมากยิ่งขึ้น ในขณะที่สินค้าต่างชาติในประเทศไทยจะถูกลง

 

ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท

 

การแข็งค่าของเงินบาทจึงมีบทบาทสำคัญที่ส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากประเทศไทยลดลง ดังจะเห็นได้ว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากผลกระทบของความไม่แน่นอนของมาตรการกีดกันทางการค้า ประกอบกับการแข็งค่าของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้การส่งออกของไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศ ไทยในเดือนตุลาคม 2562 ชี้ว่ามูลค่าการส่งออกหดตัวถึง 5.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะทำให้สินค้านำเข้าราคาถูกลงจึงสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ในประเทศให้ตํ่าลง และจะส่งผลต่อเนื่องให้อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศตํ่าลงด้วย

แนวโน้มของเงินบาทหรือค่าเงินบาทในระยะยาวจะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มีผลต่อความต้องการสินค้าไทยเมื่อเทียบกับสินค้าต่างชาติ อาทิ ระดับราคาเปรียบเทียบหรือความเสมอภาคของอำนาจการซื้อ ความต้องการสินค้าส่งออกของไทย และศักยภาพการ ผลิตของไทย เมื่อความต้องการสินค้าไทยมีมากกว่าสินค้าต่างชาติค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้น และศักยภาพการผลิตที่สูงขึ้นจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น


 

 

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นตลาดเงินจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าตลาดสินค้า กล่าวคืออัตราแลกเปลี่ยนถูกมองว่าขึ้นอยู่กับการตัดสินใจในการถือสินทรัพย์ในประเทศหรือถือสินทรัพย์ในต่างประเทศ สินทรัพย์ดังกล่าว อาทิ เงินฝากธนาคาร หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากในระยะสั้นธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศมีปริมาณน้อยกว่าปริมาณการค้าสินทรัพย์ในประเทศกับต่างประเทศ

เมื่อประเทศไทยมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงหรือสินทรัพย์ของไทยมีผลตอบแทนที่สูงขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนต้องการที่จะถือครองสินทรัพย์ของไทยมากขึ้น และเงินทุนจะไหลเข้าประเทศไทยมากขึ้น จึงทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

นอกจากนี้การคาดการณ์ของนักลงทุนต่อการแข็งค่าของเงินบาท ก่อให้เกิดความต้องการสินทรัพย์ของไทยสูงมากขึ้นไปอีก ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างมากและรวดเร็วในปี 2562 นั้น จึงมาจากการที่มีเงินทุนไหลเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงตํ่ากว่าประเทศอื่นโดยเปรียบเทียบ (Safe haven) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่มีหนี้สาธารณะต่อ GDP หนี้ต่างประเทศระยะสั้นต่อ GDP ตํ่าอยู่ที่ระดับ 42% และ 12% ตามลำดับ และบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP เกินดุลในระดับสูงที่ 8% และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 48% ของ GDP

แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าอัตราเงินเฟ้อของโลกรวมทั้งของไทย มีแนวโน้มลดลงอยู่ในระดับตํ่าต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ปรับลดลง การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างผลกระทบ จากการขยายตัวของ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น ราคานํ้ามันที่ถูกลง การพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง

อย่างไรก็ดี การที่อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับตํ่าโดยเปรียบเทียบสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีการผลิตที่ตํ่ากว่าระดับศักยภาพการผลิต

การผลิตที่ตํ่ากว่าระดับศักยภาพ การผลิตเป็นระยะเวลานาน ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญ เนื่องจากประเทศไทยขาดศักยภาพการผลิต การพัฒนาทุนมนุษย์ที่ยังไม่เพียงพอ ขาดแรงงานที่มีทักษะและมีคุณภาพ ขาดแคลนเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตสินค้าที่มูลค่าสูง การลงทุนที่ยังอยู่ในระดับตํ่า เป็นต้น

ดังนั้น การที่ประเทศไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงเมื่อเทียบกับ GDP สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีความต้องการการลงทุน ที่ตํ่า ส่งผลให้การผลิตตํ่าลงและอยู่ในระดับตํ่ากว่าระดับศักยภาพการผลิต ส่งผลให้เงินเฟ้อตํ่า และส่งผลต่อเนื่องให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในระยะยาว

 

โดยปกติแล้วเมื่อเศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ รายได้ต่อหัว ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดถึงมาตรฐานการครองชีพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่มีแรงงานที่มีทักษะความชำนาญมากขึ้น เศรษฐกิจมีการสะสมทุนมากขึ้น และมีศักยภาพการผลิตที่สูงขึ้น อาทิ มีการนำ เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ มีความคิดสร้าง สรรค์ ต่อยอดประดิษฐ์นวัตกรรมขึ้นได้เอง บริษัทมีโอกาสหลากหลายในการลงทุนที่ให้ผลกำไร

ประกอบกับรัฐบาลลงทุนมากขึ้นในการพัฒนาประเทศ จะส่งผลให้การผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการผลิตขยายตัวสูงขึ้นมากกว่าระดับศักยภาพ ในการตอบสนองต่ออุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น จึงมีแรงกดดันทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น การผลิตที่สูงขึ้นเนื่องจากระดับศักยภาพการผลิตที่สูงขึ้นจะมีแนวโน้มผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกมากขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนซึ่งเกิดจากศักยภาพการผลิตที่สูงขึ้นจะทำให้ราคาสินค้าส่งออกลดลง ซึ่งจะทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นและเงินจะแข็งค่าขึ้น

กล่าวโดยสรุปแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทที่ผ่านมาเกิดขึ้นเนื่องจากปัจจัยที่ส่งผลต่อเงินบาททั้งในระยะยาวและระยะสั้น สำหรับทิศ ทางการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทในระยะสั้นนั้น หากเศรษฐกิจโลกมีการขยายตัวดีขึ้นภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ลดความรุนแรงลง จะส่งผลให้เงินทุนเริ่มไหลออกจากประเทศ ไทยมากขึ้น และจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

แต่ในระยะยาวนั้นก็ไม่ง่ายสำหรับเศรษฐกิจไทย ที่จะเร่งยกระดับการขยายตัวของการผลิตให้มากกว่าระดับธรรมชาติ จนทำให้เงินเฟ้อ ปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่ค่าเงินบาทจะยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อไปหากไทยยังมีการผลิตที่ขยายตัวได้ตํ่ากว่าระดับศักยภาพการผลิตในระยะยาว