เปิดตำราแนวคิดบริหารธุรกิจ เทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน

20 พ.ย. 2562 | 11:20 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2562 | 18:22 น.
896

 

นอกจากระบบการปกครองประเทศของจีน ที่มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเองแล้ว แนวคิดการบริหารธุรกิจเทคโนโลยีชั้นนำของจีนกำลังกลายเป็นโมเดลใหม่ที่ชวนติดตาม ทั้งนี้เพราะธุรกิจเหล่านี้ได้ขึ้นมาเป็นผู้เล่นระดับโลก มีโมเดลธุรกิจที่แตกต่าง ตลอดจนมีเงินทุนมหาศาล สิ่งเหล่านี้มาจากวิสัยทัศน์และแนวคิดการจัดการที่แตกต่าง ผู้เขียนขอสรุปเป็น 4 ส่วน ได้แก่ “ทำเร็ว, เน้นวิจัย, สร้าง platform และ มุ่ง disruption”

1.ทำเร็ว - เพื่อให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่าง 2 บริษัท บริษัทแรกคือ บริษัท Bytedance ซึ่งเป็นบริษัท Unicorn ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกกว่า 78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยบริษัทมีอายุเพียง 7 ปี และเป็นเจ้าของแอพยอดนิยมหลายตัวพร้อมกัน อาทิ Toutiao และ Tik Tok เป็นต้น บริษัทนี้กำลังขึ้นแท่นท้าชิงความเป็นใหญ่กับกลุ่มบริษัทยักษ์เดิม BAT (ได้แก่ Baidu,Alibaba, Tencent) โดยทุกวันนี้มีปริมาณจราจรออนไลน์แซงหน้า Baidu และ Alibaba ไปแล้ว และกำลังกินส่วนแบ่งปริมาณจราจรจาก Tencent หรือ Wechat อย่างดุดัน

นอกจากนี้ อาจเรียกได้ว่า Tik Tok เป็นแอพแรกของจีนที่มีความนิยมในต่างประเทศอย่างแท้จริง คือ มีผู้ใช้ในต่างประเทศกว่า 350 ล้านคน มากกว่าผู้ใช้คนจีนเอง จึงน่าคิดว่าทำไมบริษัท Bytedance ถึงเติบโตธุรกิจได้เร็วขนาดนี้ คำตอบอยู่ที่วัฒนธรรมองค์กรที่ผู้ก่อตั้งคือคุณ Zhang Yiming ได้วางไว้ให้มีความคล่องตัว ระดับชั้นการตัดสินใจน้อย เรียกชื่อกันโดยใช้ชื่อแรกหมด ไม่ต้องเรียกตำแหน่งงาน (คนจีนมักเรียกชื่อกันโดยใช้นามสกุลตามด้วยตำแหน่งงาน โดยเฉพาะกับผู้อาวุโสกว่า) นอกจากความมีวิสัยทัศน์แบบเฉียบคมแล้ว คุณ Yiming ทำงานแบบติดดินลงมือเรียนเขียนโปรแกรมเองเพื่อให้ AI ของบริษัทมีความแตกต่าง แน่นอนว่าเมื่อไรที่บริษัทนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ ย่อมเป็นหุ้นสุดนิยม

อีกบริษัทที่ต้องเอ่ยเรื่องความเร็วได้แก่ Luckin Coffee ซึ่งตั้งแต่จัดตั้งขึ้นในปลายปี ค.ศ. 2017 จนถึงเข้าตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ใช้เวลาเพียง 18 เดือน โดย ณ วันที่ IPO กลางปีนี้ ได้เปิดร้านกาแฟไปแล้ว 2,500 แห่ง มีมูลค่า ณ วัน IPO กว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แปลว่าเฉลี่ยเปิดร้านกาแฟวันละ 5 แห่งทุกวันตั้งแต่บริษัทเปิดทำการเลยทีเดียว

แนวคิดบริษัทเริ่มจากการวางตำแหน่งของบริษัท โดยไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นร้านกาแฟ หากแต่มองว่าตนเองคือบริษัทโลจิสติกส์ ดังนั้นการจัดสรรทรัพยากรจึงเป็นไปแบบธุรกิจโลจิสติกส์ที่เน้นความรวดเร็วและแม่นยำ ทุกวันนี้บริษัทมีมูลค่าหุ้นกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

2.เน้นวิจัย - ลักษณะพิเศษของบริษัทจีนคือความพยายามพัฒนาปัจจัยการผลิตหลักให้ได้เอง เพื่อทดแทนการนำเข้า บริษัทที่เน้นการวิจัยและพัฒนามากที่สุดของจีนได้แก่ Huawei ซึ่งมีงบการวิจัยต่อปีกว่า 17 พันล้านเหรียญ สรอ. ซึ่งมากกว่างบวิจัยของไทยทั้งประเทศกว่า 3 เท่า ด้านบริษัท Sensetime ซึ่งเป็นบริษัท AI ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก มีจำนวนนักวิจัยด้าน AI ระดับปริญญาเอกเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งในจีน ในด้านหนึ่งเป็นเพราะผู้ก่อตั้งเป็นศาสตราจารย์ชั้นนำด้าน AI อยู่แล้ว

ในด้านอุตสาหกรรมดั้งเดิม บริษัทจีนก็เน้นวิจัยมาโดยตลอด ตั้งแต่อุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้า จนถึงรถไฟความเร็วสูง ได้กลายเป็นเทคโนโลยีจีนไปหมดแล้ว บริษัท Baidu ซึ่งถึงแม้กำลังถูกเบียดให้ตกออกจากทำเนียบ BAT เป็นบริษัทแรก แต่ก็มีการลงทุนวิจัยด้าน AI แบบเชิงลึกเป็นจำนวนมหาศาล เพื่อรอโอกาสตีกลับจากตลาด 5G เป็นต้น

 

 

 

 

3.สร้าง platform - บริษัทที่จะเติบโตได้ในอนาคตต้องมีลักษณะของความเป็น Platform และการสร้างโมเดลธุรกิจแบบนี้ ต้องมีเนื้อหาที่น่าสนใจต่อผู้ใช้ และเปิดให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมในการสร้างเนื้อหาโดยตรง ตัวอย่างบริษัท Xiaomi ถึงแม้ผลิตโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ก็ได้ใช้แนวคิดเรื่องนี้โดยให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอตลอดจนร่วมปรับปรุงระบบ OS ทำให้สามารถสร้างฐานลูกค้าได้อย่างรวดเร็วในช่วงแรก อีกตัวอย่างคือ บริษัท Bytedance เปิดให้ผู้ใช้ลงบทความใน Toutiao ได้โดยมีโอกาสได้รับผลตอบแทนหากมีผู้อ่านและติดตามถึงระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ผู้เขียนจะไม่แปลกใจหากวันหนึ่ง บริษัท Luckin Coffee จะประกาศตัวเป็นบริษัท Fintech เมื่อผ่านระยะการหว่านเงินในการสร้างโครงข่ายเพื่อสร้างฐานลูกค้าและข้อมูลเชิงพฤติกรรมให้มากเพียงพอ ลองมาดูที่บริษัท Pingduoduo ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม e-commerce ที่กำลังมาแรงที่สุดในขณะนี้ ใช้กลยุทธ์รวมกลุ่มเพื่อนซื้อเพื่อให้ได้ส่วนลดที่น่าดึงดูด การระดมเพื่อนทำได้โดยการส่งข้อความผ่านแอพ Wechat ของค่าย Tencent

4.มุ่ง disruption - ผู้เขียนสังเกตว่าบริษัทยักษ์จีนที่ประสบความสำเร็จในแง่ของการ disruption มักเป็นผลของการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรมากกว่าเรื่องของการมีเทคโนโลยีที่ก้าวลํ้าที่สุด บริษัท Huawei มีประธานบริหาร 3 คน โดยให้หมุนเวียนกันเป็นประธานทุกๆ6 เดือน ซึ่งต่างจากบริษัททั่วไปที่มีรูปแบบผู้บริหารร่วมที่ให้บริหารงานไปพร้อมกัน ภายใต้การหมุนเวียนถี่ๆ ผู้บริหารจะมีความกระตือ
รือร้นตลอดเวลา นอกจากนี้ คุณ RenZhengfei ผู้ก่อตั้ง ได้บอกว่าพนักงานบริษัท Huawei มีความเป็นหมาป่า ที่มีจมูกดี ไล่ล่าเป็นฝูง และทรหดอดทน

ทีนี้มาดูคุณ Jack Ma แห่ง Alibaba บ้าง ผู้อ่านคงคุ้นเคยกันดีกับ 18 อรหันต์ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทกับคุณ Jack Ma ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 ในวันครบรอบบริษัท 10 ปี คุณ Jack Ma ได้ขอให้ผู้ร่วมก่อตั้งทั้งหมดลาออกและสมัครทำงานกับบริษัทใหม่อีกครั้ง ถึงแม้ทุกคนได้รับกลับเข้ามาทำงานใหม่หมด แต่เป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดจากผู้ร่วมก่อตั้งมาเป็นแบบพนักงาน ซึ่งสามารถถูกให้ออกจากงานได้ถ้าผลงานไม่ผ่าน ซึ่งในเวลาต่อมามี 1 ใน 18 อรหันต์ที่ถูกให้ออกจากงานจริงๆ

คุณ Jack Ma ได้พูดไว้ในปี ค.ศ. 2005 ว่านอกจากผู้ร่วมก่อตั้งแล้ว เขามีพนักงานประมาณ 100 คน ที่สามารถให้โยกย้ายไปทำงานตำแหน่งไหนและที่ไหนก็ได้ โดยไม่มีการเกี่ยงกัน แสดงถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ยึดติดกรอบ มีความคล่องตัวสูง และกระตือรือร้นตลอดเวลา

แต่ละส่วนข้างต้นนี้ โดยตัวเองไม่ได้มีความพิเศษอะไร แต่เมื่อผสมกันแล้ว
กลายเป็นต้นตำรับแนวคิดการจัดการที่น่าสนใจ อันที่จริงจำนวนบริษัทยักษ์ใหญ่จีนที่เรารู้จักในเวทีโลก ถือว่ายังมีน้อย โดยล่าสุดจำนวนบริษัทจีนใน Global Fortune 500 มีถึง 119 บริษัท กำลังขึ้นมาเทียบชั้นกับอเมริกา ซึ่งมี 121 บริษัท

แต่มองลึกๆ บริษัทจีนเหล่านี้ เป็นรัฐวิสาหกิจในธุรกิจดั้งเดิมอยู่มาก และที่สำคัญยังไม่มีความเป็นสากลมากนัก ผู้เขียนเห็นว่าโมเดลการบริหารธุรกิจแบบจีนข้างต้น กำลังเพาะบ่มบริษัทจีนอีกหลายร้อยบริษัทให้ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่างแท้จริงได้ในอนาคต ดังนั้น การผงาดของบริษัทยักษ์จีนในเวทีโลกจะเป็นดั่งคลื่นลูกใหญ่ตลอด 10 ปีข้างหน้า

ท้ายสุด ผู้อ่านควรรู้สึกตกใจหากต้องการจับโอกาสธุรกิจจีน แต่ยังไม่คุ้นเคยกับชื่อบริษัทที่กล่าวถึงในบทความนี้

 

หมายเหตุ : ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด+

 

คอลัมน์ลวดลายมังกร โดย... มาณพ เสงี่ยมบุตร  ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่  ผู้บริหารสายงาน China Business ธนาคารไทยพาณิชย์

 

เกี่ยวกับผู้เขียน :  มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุน และการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี  ในอดีตเคยเป็นนักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง  จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสารสนเทศการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ปริญญาโท MBA มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3524 วันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2562