“พาณิชย์" แจง ทูตพาณิชย์ประเทศเพื่อน แก้ปัญหา PM 2.5 ข้ามแดน

23 ก.พ. 2568 | 06:30 น.

กรมการค้าต่างประเทศ เร่งหารือ 3 ประเทศเพื่อนบ้าน เตรียมออกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มุ่งแก้ปัญหา PM 2.5 ฝุ่นควันข้ามพรมแดน

นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ ได้เชิญทูตพาณิชย์มาหารือเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งได้มอบหมายให้นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้แทนในการหารือ 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจถึงความจำเป็นที่กระทรวงพาณิชย์ต้องกำหนดมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลอดการเผา เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ข้ามพรมแดน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหา PM 2.5 ในประเทศไทย  

นางอารดาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานที่ออกกฎระเบียบทางการค้า ได้กำหนดมาตรการโดยคำนึงถึงการร่วมแก้ไขปัญหา PM 2.5 เพื่อปกป้องสวัสดิภาพทางสุขอนามัยทางอากาศของประชาชนไทยเป็นสิ่งสำคัญ 

ขณะเดียวกันต้องมีความสมดุลในการกำหนดมาตรการนำเข้าเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกส่วนตลอดห่วงโซ่การใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 4 ประเทศ ที่ต้องร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง 

โดยเน้นย้ำว่ามาตรการที่จะกำหนดนั้นเป็นมาตรการที่ใช้กับการนำเข้าสินค้าเกษตรจากทุกประเทศ แต่ใช้กับสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นกลุ่มแรก เพื่อให้เป็นไปตามหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) และความตกลงการเสรีต่าง ๆ ที่ไทยร่วมเป็นภาคีสมาชิก 

ทั้งนี้ ได้ชี้แจงหลักการของการควบคุมที่ประเทศผู้ส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะต้องจัดเตรียม อาทิ 

  • แบบฟอร์มเพื่อใช้ประกอบการนำเข้า 
  • เอกสารรับรองจากหน่วยงานผู้มีอำนาจอย่างเป็นทางการ (Competent Authority : CA) ของประเทศผู้ส่งออกที่ยืนยันว่าสินค้าที่ส่งออกมาจากแหล่งเพาะปลูกที่ไม่มีการเผา 
  • เอกสารประกอบอื่น ๆ เช่น ภาพแผนที่ระบุพิกัดที่ตั้งแปลงปลูก (Map of Polygon) เพื่อยืนยันแปลง ที่ใช้ในการเพาะปลูกของสินค้าที่นำเข้ามายังประเทศไทยว่าปลอดการเผา

นางอารดาฯ กล่าวว่า ทูตพาณิชย์ทั้ง 3 ชาติ มีความเข้าใจต่อความสำคัญของปัญหา PM 2.5 ที่ประเทศในอาเซียนจะต้องร่วมกันแก้ไข และร่วมให้ข้อคิดเห็นว่ามาตรการที่ออกควรต้องมีการหารือร่วมกัน ตลอดจนควรจะต้องให้มีระยะเวลาในการเตรียมตัว (Transitional Period) สำหรับประเทศผู้ส่งออก และพิจารณาถึงความพร้อมในการนำเทคโนโลยีมาใช้ประกอบด้วย 

นอกจากนี้ ควรนำมาตรการนี้หารือในกรอบอาเซียน เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญของทั้งภูมิภาค สินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นวัตถุดิบที่มีความสำคัญในห่วงโซ่การผลิตอาหารสัตว์ โดยเฉพาะไก่ ซึ่งเป็นอาหารสำคัญสำหรับการบริโภคภายในประเทศ และเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย 

ทั้งนี้ ไทยมีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากการเพาะปลูกในประเทศประมาณปีละ 4 - 5 ล้านตัน แต่มีความต้องการใช้ประมาณปีละ 9 ล้านตัน จึงต้องมีการนำเข้าประมาณ 4 – 5 ล้านตันต่อปี โดยแหล่งนำเข้าสำคัญในปี 2567 ได้แก่

  • เมียนมา ปริมาณ 1,750,023.71 ตัน (87%)
  • สปป.ลาว ปริมาณ 253,659.28 ตัน (12.61%)
  • กัมพูชา ปริมาณ 7,750 ตัน (0.39%)