20 กุมภาพันธ์ 2568 ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ด้านแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 พร้อมด้วย พญ.ศิรินดา แจ่มจรรยา นายแพทย์เชี่ยวชาญ สถาบันโรคผิวหนัง แถลงสถานการณ์และการดูแลผลกระทบต่อผิวหนังจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5
ดร.นพ.วรตม์ กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษวันนี้ หลายพื้นที่มีเกณฑ์ค่าฝุ่น PM 2.5 ดีขึ้น โดยอยู่ในระดับดีมาก (สีฟ้า) 14 จังหวัด ระดับดี (สีเขียว) 13 จังหวัด ระดับปานกลาง (สีเหลือง) 32 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่ค่าฝุ่นระดับสีส้ม (37.6 - 75 มคก./ลบ.ม) เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ มี 17 จังหวัด
จากการคาดการณ์ในอีก 7 วันข้างหน้า สถานการณ์ฝุ่นมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นในทุกภาค ยกเว้นพื้นที่ภาคเหนือ ในวันที่ 21 และ 27 กุมภาพันธ์นี้ คาดว่า ค่าฝุ่นจะอยู่ในระดับสีส้ม จึงขอย้ำประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ค่าฝุ่นอยู่ในเกณฑ์สีส้มขึ้นไป สวมหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งหรือทำงานที่ต้องใช้แรงมาก
ด้าน พญ.ศิรินดา กล่าวว่า การรับสัมผัสฝุ่น PM 2.5 จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทำให้เซลล์ทำงานผิดปกติและเกิดการตายของเซลล์ ส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ รวมถึงผิวหนัง ซึ่งผลกระทบขึ้นอยู่กับปริมาณและความหนาแน่นของฝุ่น ระยะเวลาที่สัมผัส และความแข็งแรงของผิวหนังของบุคคลนั้น
กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่ผิวแพ้ง่าย ผู้ที่เป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง เช่น โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลภาวะสูงและสัมผัสฝุ่นเป็นเวลานาน รวมถึงกลุ่มที่มีผิวหนังบอบบาง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ
อาการที่พบในระยะสั้น คือ ผิวแห้ง ผิวหนังอักเสบ ลมพิษ สิว และโรคผิวหนังที่มีอยู่เดิมกำเริบ ส่วนในระยะยาว จะทำให้เกราะป้องกันผิวอ่อนแอลง โครงสร้างผิวเสียหาย เกิดริ้วรอยก่อนวัย เกิดเม็ดสี ผิวหมองคล้ำ ฝ้า รอยดำ และเป็นมะเร็งผิวหนังได้
ทั้งนี้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มี PM 2.5 สูง หมั่นตรวจเช็คสภาวะฝุ่นในบริเวณที่อยู่อาศัย จำกัดระยะเวลาในการออกนอกอาคาร ใส่เสื้อผ้าปกคลุมร่างกายให้มิดชิด ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่เหมาะสม ทำความสะอาดผิวหนังให้สะอาดอยู่เสมอ และทาครีมกันแดดเพื่อลดผลกระทบของแสงแดด