ไข้หวัดใหญ่ระบาด คาดปี 68 ผู้ป่วยพุ่ง 9 แสนราย เร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง

18 ก.พ. 2568 | 20:40 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.พ. 2568 | 20:43 น.

กรมควบคุมโรค เผยข้อมูล 1 ม.ค.- 17 ก.พ. พบป่วยไข้หวัดใหญ่สะสม 107,570 ราย เสียชีวิต 9 ราย คาดการณ์ทั้งปี 68 อาจพุ่งสูงกว่า 9 แสนราย แนะประชาชนกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนป้องกัน

จากการแถลงข่าว "รู้ทันโรค รู้ทันภัย" ป้องกันได้ นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค(คร.) พร้อมด้วย พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค เปิดเผยเกี่ยวกับสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 17 กุมภาพันธ์ พบผู้ป่วยสะสม 107,570 ราย เสียชีวิต 9 ราย คิดอัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 0.008 แนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นกว่าปี 2567 และสูงกว่าค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี

กลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุด คือ อายุ 5-9 ปี, อายุ 0-4 ปี และอายุ 10-14 ปี ตามลำดับ โดยสายพันธุ์ที่ตรวจพบมากที่สุด คือ สายพันธุ์ A/H1N1(2009) ร้อยละ 41.38 รองมา คือ สายพันธุ์ B ร้อยละ 37.9 และ A/H3N2 ร้อยละ 26.72 การระบาดส่วนใหญ่มักพบในโรงเรียนมีมากถึงถึง 11 เหตุการณ์ ในเรือนจำ 3 เหตุการณ์ และค่ายทหาร 2 เหตุการณ์

ในปี 2568 คาดว่า จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากปี 2567 ซึ่งจะพบสูงในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนสิงหาคม - ตุลาคม และช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม โดยคาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงถึง 903,446 ราย จึงต้องมีมาตรการที่จะกดอัตราป่วยให้ลดลงโดยมีคำแนะนำให้ประชาชนเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันปีละ 1 ครั้ง และไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ

ทั้งนี้ หากพบว่า มีอาการป่วยให้หยุดพักจนกว่าจะหาย พร้อมแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันมียาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ที่ใช้ในการรักษาและลดอาการรุนแรงของโรค แนะนำให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุก ๆ ปี เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ในช่วงของการรณรงค์ คือ ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม - 31 สิงหาคม 2568

1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์

2. เด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี

3. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง, หอบหืด, หัวใจและหลอดเลือด, ไตวาย, เบาหวาน, ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด

4. ผู้อายุมากกว่า 65 ปี

5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

6. ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ

7. ผู้มีภาวะโรคอ้วน ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 (BMI)

ทั้งนี้ สำหรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดแบ่งวัคซีนป้องกันไข้หวัดเป็นสายพันธุ์ขั้วโลกเหนือ ครอบคลุม 4 สายพันธุ์เป็น A และ B อย่างละ 2 สายพันธุ์ และขั้วโลกใต้ ครอบคลุม 3 สายพันธุ์ เป็น A จำนวน 2 สายพันธุ์ และ B จำนวน 1 สายพันธุ์

สำหรับประเทศไทยปัจจุบันจะฉีดในช่วงเดือนตุลาคม - มีนาคม จะเป็นสายพันธุ์ขั้วโลกเหนือ ส่วนสายพันธุ์ขั้วโลกใต้จะเป็นช่วง 6 เดือนถัดมา คือ ตั้งแต่เดือนเมษายน - กันยายน ซึ่งวัคซีนที่ฉีดให้กับประชาชนในปัจจุบันครอบคลุมกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในช่วงนี้ คือ สายพันธุ์ A/H1N1(2009) ซึ่งสอดคล้องกับการระบาดในต่างประเทศ 

ไข้หวัดใหญ่ระบาด คาดปี 68 ผู้ป่วยพุ่ง 9 แสนราย เร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง

สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในต่างประเทศ

1. ญี่ปุ่น : 

ข้อมูลระหว่างวันที่ 2 กันยายน 2567 -26 มกราคม 2568 มีผู้ป่วยสะสม 9.52 ล้านคนเฉลี่ยวันละ 66,132 คน พบสัดส่วนของสายพันธุ์ A/H1N1 ร้อยละ 77.1 และ สายพันธุ์ A /H3N2 ร้อยละ 22.9

2. ไต้หวัน:

ข้อมูลระหว่างวันที่ 19-25 มกราคม 2568 มีผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เข้ารับการรักษาสูงถึง 162,352 คน ซึ่งตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2567 จนถึงกุมภาพันธ์ 2568 พบผู้ป่วยอาการหนัก 67 คนและเสียชีวิต 132 คนส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ A โดยพบสายพันธุ์ย่อยที่สำคัญ 2 ชนิด คือสายพันธุ์ A/H1N1 และ สายพันธ์A /H3N2

3. ฮ่องกง:

ศูนย์ป้องกันสุขภาพรายงานว่าใน 4 สัปดาห์แรก 2568 มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อาการหนักที่รักษาตัวใน ICU จำนวน 199 คน โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 122 คน และมากกว่าร้อยละ 70 ของผู้ป่วยหนักหรือผู้เสียชีวิต ไม่ได้รับวัคซีนซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป

4. สหรัฐอเมริกา:

ประเมินว่ามีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ถึง 24 ล้านคน ในช่วงฤดูกาลนี้ ก็คือตั้งแต่ประมาณตุลาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน โดยมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกว่า 310,000 คน และเสียชีวิต 13,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ถึงร้อยละ 97