ปัจจุบันแม้ว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 จะมีแนวโน้มดีขึ้นในบางพื้นที่แต่เราทุกคนยังคงต้องดูแลสุขภาพตนเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ขณะนี้พบผู้ป่วยจากไข้หวัดใหญ่จำนวนมาก ข้อมูลล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า พบผู้ป่วยกว่า 1 แสนรายและเสียชีวิตแล้ว 9 ราย
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หญิงตั้งครรภ์ ที่ควรดูแลสุขภาพร่างกายเป็นพิเศษเพื่อลดความรุนแรงของอาการเจ็บป่วย และการเสียชีวิต
ทั้งนี้ โรคไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายจากการหายใจเอาเชื้อไวรัสในฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย ที่ฟุ้งกระจาย
ในอากาศจากการไอ จามรดกัน หรือติดต่อทางอ้อมโดยเชื้อไวรัสติดมากับมือ ผ้าเช็ดหน้า หรือแก้วน้ำที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย
ผู้ที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ควรพักผ่อนรักษาที่บ้านจนกว่าจะหาย และควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อต้องใกล้ชิดกับผู้อื่น ใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้า ปิดปากและจมูกทุกครั้งเวลาไอจาม หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ
หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น หอบเหนื่อย ซึมลง รับประทานอาหารได้น้อย ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว สำหรับผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคจากการไอหรือจาม
ด้านนางสาวนัยนา ใช้เทียมวงศ์ ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กล่าวว่า สำหรับการป้องกันการแพร่กระจายของโรคไข้หวัดใหญ่ วิธีการสวมหน้ากากอนามัยที่ถูกวิธีควรปฏิบัติดังนี้
1. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ก่อนสวมหน้ากากและหลังถอดหน้ากาก
2. เลือกขนาดของหน้ากากอนามัยให้เหมาะสม และปรับสายให้กระชับกับใบหน้า
3. สวมหน้ากาก ให้คลุมจมูกและใต้คาง
4. เวลาต้องการพูด หรือดื่ม / รับประทานอาหาร ไม่ควรดึงหน้ากากมาไว้ที่คางแต่ให้ถอดเก็บไว้ในถุงหรือซองพกพาที่สะอาด
หากหน้ากากเปียกชื้นหรือชำรุดให้รีบเปลี่ยนหน้ากากทันที สำหรับการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ทิ้งโดยจับสายคล้องหูและถอดออกโดยไม่สัมผัสหน้ากาก ใส่ถุงปิดให้สนิทและทิ้งลงถังขยะที่มีฝาปิด
นายแพทย์อัครวัฒน์ เพียวพงภควัต ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กล่าวว่า ประชาชนควรดูแลสุขอนามัยของตนเองเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรค โดยให้ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่
ในกรณีข้าวกล่อง อาหารถุง ต้องนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนทุกครั้ง ใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร เมื่อกินอาหารร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะอื่น ๆ ร่วมกัน และที่สำคัญล้างมือก่อนและหลังกินอาหาร รวมถึงหลังการใช้ส้วมด้วย
การล้างมืออย่างถูกวิธีให้ปฏิบัติตาม 7 ขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้
1. ฝ่ามือถูกัน
2. ฝ่ามือถู หลังมือและนิ้วถูซอกนิ้ว
3. ฝ่ามือถูฝ่ามือและถูกซอกนิ้ว
4. หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ
5. ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ
6. ปลายนิ้วมือถูฝ่ามือ
7. ถูรอบข้อมือโดยล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อโรค
นอกจากนี้ประชาชนควรรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย สัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที กินอาหารถูกหลักโภชนาการ มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งหมั่นสังเกตตนเอง หากมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ เมื่อมีอาการควรนอนพักผ่อนให้มาก ดื่มน้ำบ่อย ๆ
ถ้าตัวร้อนมาก ควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น ภายใน 3 - 7 วัน แต่หากมีอาการไอมากขึ้น หรือมีไข้สูงนานเกิน 2 วันควรไปพบแพทย์
นอกจากนี้โรคไข้หวัดใหญ่ยังเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ มักมีโรคแทรกซ้อนที่พบบ่อย ได้แก่ ปอดบวม หลอดลมอักเสบ ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงถึงชีวิตได้