นวัตกรรมทางสังคมกับการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารเคมีของเกษตรกรไทย

09 พ.ย. 2562 | 10:00 น.
2.4 k

 

คอลัมน์ เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,521 วันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2562

       

นโยบายเกษตรในช่วงเดือนที่ผ่านมาที่ส่งผลให้เกษตรกรไทยจำนวนมากต้องคิดปรับวิถีการทำเกษตรกรรมของตนให้รวดเร็วหนีไม่พ้นเรื่องที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติปรับ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งไม่สามารถผลิต จำหน่ายหรือมีในครอบครองได้ และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562

บทความนี้ไม่ได้ต้องการถกเถียงเรื่องข้อดีและผลกระทบของการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้ แต่ต้องการนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับการเดินไปข้างหน้าในการหาทางออกร่วมกันระหว่างภาครัฐและเกษตรกร โดยบทความนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า หลายฝ่ายน่าจะต้องการให้เกษตรกรเปลี่ยนพฤติกรรม โดยทยอยลดการใช้สารเคมีที่น่าจะเป็นอันตรายทุกประเภท ไม่เฉพาะสารเคมีเพียง 3 ชนิดนี้ ดังนั้น คำถามที่ตามมาคือ ถ้าเป็นวัตถุประสงค์นี้เราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรดี

จุดเปลี่ยนท่ามกลางข้อจำกัด

ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 6 (ตั้งแต่ช่วงปี 2530) รัฐบาลให้ความสำคัญมากกับการใช้ปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตเกษตรเชิงพาณิชย์ เพราะตระหนักดีว่าไม่สามารถสร้างการเติบโตให้ภาคเกษตรโดยหวังพึ่งการขยายพื้นที่เพาะปลูกได้อีกต่อไป ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจทำงานสอดประสาน สนับสนุนการใช้ปัจจัยการผลิต ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช รวมถึงสารเคมีปราบวัชพืชเพื่อเพิ่มผลผลิตในไร่ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมเกษตร

พาราควอตถูกนำออกจำหน่ายครั้งแรกของโลกเมื่อปี 2504 และแม้ในปัจจุบันจะถูกแบนการใช้ในหลายประเทศ แต่ก็ยังถือว่าเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชที่ใช้กันมากที่สุด เพราะมีประสิทธิภาพสูงและราคาไม่แพงมาก เกษตรกรไทยเคยชินกับการพึ่งพิงสารเคมีเหล่านี้มานานหลายสิบปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องหันมาทำเกษตรเข้มข้น ใช้พื้นที่เดิมๆ เพาะปลูกหลายๆ รอบ จนกลายเป็นวิถีเกษตรของเกษตรกรพืชไร่ อ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และไม้ผล ทั้งในเขตที่ราบและในพื้นที่สูงซึ่งไม่สามารถใช้เครื่องจักรกลฆ่าหญ้าได้

เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีข้อจำกัดทั้งเรื่องทุน มีปัญหาหนี้สินทับถม ขาดความรู้เกี่ยวกับสารทดแทนและทางเลือกอื่นๆ ในการกำจัดวัชพืช ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในไร่นา และไม่เห็นว่าอุตสาหกรรมปลายนํ้าผู้รับซื้อผลผลิตจะสนใจว่าต้องใช้สารเคมีฆ่าหญ้าน้อยลง

ด้วยสถานการณ์และข้อจำกัดเหล่านี้ นโยบายยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดจึงไม่ใช่เพียงประเด็นทางเศรษฐกิจแค่ต้นทุน กำไร ราคา แต่เป็นประเด็นทางสังคมที่เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ดังนั้นมาตรการที่ภาครัฐจะใช้ในช่วงการเปลี่ยนแปลงต้องชัดเจน และมากกว่าเพียงการหาสารทดแทนตัวใหม่มาบอกให้เกษตรกรใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรถูกผลักให้ไปพึ่งสารเคมีทดแทนตัวอื่น ที่ยังไม่มีข้อมูลความเหมาะสมกับพื้นที่หรือประสิทธิภาพรองรับ และเพื่อลดความเสี่ยงของการถูกหลอกลวงโดยผู้ฉวยโอกาสจนหันไปใช้สารเคมีอย่างอันตรายกว่าเดิม รวมถึงความเสี่ยงของผลผลิตที่ลดลงพร้อมกับคุณภาพตํ่าลง

 

นวัตกรรมทางสังคมกับการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารเคมีของเกษตรกรไทย


 

 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เครื่องมืออะไรที่น่าจะช่วยให้ เกษตรกรสามารถใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาสของการเรียนรู้ทางเลือกใหม่ๆ ปรับสู่วิถีที่พึ่งพิงสารเคมีอันตรายน้อยลง สิ่งที่ต้องเข้าใจคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และการเปลี่ยนแปลงทัศนคติจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเกษตรกรยอมรับจากข้างในว่าเส้นทางที่กำลังเดินไปน่าจะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น และผลการเปลี่ยนแปลง ทั้งทัศนคติและพฤติกรรมนี้จะสร้างแรงผลักจากฐานราก (bottom up) สามารถรองรับนโยบายที่มาในลักษณะ top-down ได้

จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการกับกลุ่มเกษตรกรที่เดิมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เชิงพาณิชย์ในพื้นที่สูง ที่ต้องการหันออกจากการปลูกข้าวโพดและวิถีเกษตรที่เน้นการใช้สารเคมี แต่ด้วยข้อจำกัดและความเสี่ยงมากมายที่เผชิญอยู่ทำให้การปรับเปลี่ยนเป็นเรื่องยาก

แม้เกษตรกรรับรู้นโยบายในลักษณะ top-down ว่าไม่ต้องการให้มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ต้นนํ้าแล้ว แต่ด้วยความที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นที่ต้องการของตลาด เกษตรกรจึงมีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวิถีการหาเลี้ยงครอบครัวมาตลอดกว่า 20 ปี จะทำอย่างไร นโยบายคนอยู่กับป่าที่ลงมาในลักษณะ top-down จะเกิดขึ้นได้ต้องมีแรงขับเคลื่อนที่ระดับฐานรากโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเกษตรกรเอง

ในแง่มุมวิชาการ มีงานวิจัยเชิงพื้นที่จำนวนมากที่เน้นสร้างการเปลี่ยนแปลงจากระดับพื้นที่เล็กๆ ชุมชนเป็นผู้ขับเคลื่อน และเมื่อสำเร็จก็จะเป็นต้นแบบสำหรับขยายผล ในการดำเนินงานวิจัยก็มักจะต้องนำกระบวนการนวัตกรรมทางสังคมมาใช้เพื่อให้เกษตรกรเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

กระบวนการนวัตกรรมทางสังคม สร้างการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก

ในกระบวนการนวัตกรรมทางสังคม (social innovation) เกษตรกรหรือคนในพื้นที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อน และออกแบบเส้นทางที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การทำกระบวนการยังเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือคนจากนอกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ องค์กร ภาคธุรกิจสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ เท่าที่จำเป็น ไม่เปรอะหรือสะเปะสะปะจนเกินไป  เพราะคนที่จะเข้าไปช่วยเหลือโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการมีหน้าที่ต้องเข้าใจบริบทพื้นที่ ที่มาที่ไป จุดแข็ง ข้อจำกัดของเกษตรกร และหาเทคนิคต่างๆ มาใช้เพื่อระดมความคิด หารือ จัดลำดับความสำคัญให้เกษตรกรได้พิจารณาตรึกตรองสภาพปัญหาของตนเอง

ต้นตอของปัญหา วิถีการทำเกษตรหรือพฤติกรรมที่ต้องปรับเปลี่ยน อุปสรรคในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และอะไรที่จะทำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกิดขึ้นได้ ในที่สุดเกษตรกรจะสามารถสรุปได้ว่า ปัจจัยที่จะกระตุ้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองและคนในชุมชนได้คืออะไร และจะต้องทำอย่างไรให้ปัจจัยนั้นๆ เกิดขึ้นได้จริงในชุมชน

 

ในภาษาวิชาการ คือ เกษตรกรกำลังหาต้นแบบ (prototype) ที่จะเป็นกลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชุมชนตนเอง จากนั้นเกษตรกรจะทดลองว่าต้นแบบที่คิดไว้จะใช้ได้และเหมาะสมกับบริบทพื้นที่และชุมชนของตนหรือไม่ ด้วยวิธีนี้เกษตรกรและทุกคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจะได้ เรียนรู้ ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับความรู้หรือเทคโนโลยีจากภายนอก เกษตรกรจะมีโอกาสประเมินผลต้นแบบและคิดวิธีปรับปรุงต้นแบบเอง

กระบวนการทั้งหมดช่วยในการเปิดมุมมอง ปรับเปลี่ยนทัศนคติ และอาจไปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ต้นแบบที่พัฒนาปรับปรุงให้เหมาะสมกับพื้นที่ แล้วยังช่วยดึงกลุ่มเกษตรกรที่เดิมอาจไม่ค่อยเปิดรับกับการเปลี่ยน แปลง ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาสที่สามารถนำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นได้

ด้วยขั้นตอนที่ค่อนข้างใช้ระยะเวลานาน ทำให้การทำกระบวนการลักษณะนี้เริ่มต้นได้กับเกษตรกรกลุ่มเล็กๆ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรกลุ่มนี้จะเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้จุดอื่นๆ ต่อไป ที่สำคัญคือ หน่วยงานในพื้นที่ให้ความสำคัญและยอมรับการทำงานของชุมชน ให้โอกาสเกษตรกรในการหาทางออกในลักษณะ win win

การดำเนินนโยบายยกเลิกการใช้ 3 สาร กำลังทำงานสวนทางกับสัญญาณตลาด เพราะตลาดปลายทางหรือผู้รับซื้อไม่ได้สร้างแรงจูงใจที่จะหนุนนโยบายภาครัฐได้จริง โรงงานรับซื้ออ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด แปรรูปนํ้ายางไม่ได้สนใจว่าเกษตรกรจะใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้หรือไม่

ดังนั้น จำเป็นต้องมีผู้ขับเคลื่อนนโยบายที่มีกำลังมาก ลำพังเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งพยายามหาสารเคมีตัวอื่นมาทดแทน คงไม่พอที่จะช่วยแก้ปัญหาแนวโน้มการใช้สารเคมีในการเกษตรที่มากเกินไปของเกษตรกรไทย ประเด็นจึงกลับมาที่การสร้างผู้ขับเคลื่อนในท้องถิ่นที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้จริง