เงินบาท  แบงก์ชาติ  แพะ

21 ส.ค. 2562 | 10:55 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ส.ค. 2562 | 17:56 น.
2.8 k

คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3498 หน้า 7 วันที่ 22- 24 สิงหาคม 2562

โดย รศ.ดร.พรชนก คัมภีรยส คูเวนเบิร์ค คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

2 อาทิตย์ที่แล้วตอนกลับมาจากสหรัฐฯ ระหว่างทางกลับบ้านคนขับแท็กซี่บ่นให้ฟังเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น คนขับอธิบายว่าเมื่อเงินบาทแพงขึ้น ต่างชาติต้องใช้เงินสกุลของเขาปริมาณมากขึ้นเพื่อซื้อบาท สินค้าและบริการของไทย จึงมีราคาแพงขึ้นในสายตาของต่างชาติ เป็นปัญหาต่อการส่งออกและการท่องเที่ยว 2 ภาคส่วนที่เป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย

เงินบาทไม่ได้เพิ่งแข็งค่า... รายงานของ Bloomberg เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาบอกว่า ปีที่แล้วเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และในปีนี้การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของฝั่งประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลให้เงินของประเทศตลาดเกิดใหม่แข็งค่าขึ้นถ้วนหน้า

แต่สาเหตุที่เงินบาทของไทยแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องและแซงหน้าเงินสกุลอื่นๆ นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยและนักวิเคราะห์ค่าเงินมองว่า มีสาเหตุมาจากเศรษฐสถานะของไทยที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล ซึ่งหมายถึงว่าไทยมีรายได้จากต่างประเทศสูงกว่ารายจ่าย และมีทุนสำรองระหว่างประเทศ (สินทรัพย์ต่างชาติที่ถือโดยธนาคารกลาง) ในปริมาณมาก

แบงก์ชาติเองก็มีส่วนเพราะแบงก์ชาติขึ้นชื่อว่ามีลักษณะ hawkish คือธนาคารกลางที่กังวลปัญหาเงินเฟ้อ จึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันต่อราคา หรือแปลได้ว่าแบงก์ชาติช่วยดูแลทั้งอำนาจการซื้อของเงินบาทและผลตอบแทนการลงทุนในรูปเงินบาท นอกจากนั้นที่ผ่านมายังดูแลเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทได้เป็นอย่างดี

ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ส่งให้เงินบาทเป็นที่ต้องการของนักลงทุน เป็น safe haven (สินทรัพย์ปลอดภัย) คือสินทรัพย์ที่ราคามีแนวโน้มคงที่หรือเพิ่มสูงขึ้น ความผันผวนตํ่า เรียกว่าถือเงินบาทเพื่อหลบภัยจากความวุ่นวายของโลกก็ดี เพื่อเก็งกำไรก็ได้ อุปสงค์ต่อบาทจึงเยอะ เงินบาทจึงแข็ง ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาเงินบาทแพงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเกือบทุกสกุลในโลก (ไม่รวม cryptocurrencies) และเมื่อเงินบาทแข็ง การส่งออกลดลง 6 เดือนติดต่อกัน แบงก์ชาติปรับลดเป้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของปีนี้ลง หลายภาคส่วนต่างแสดงความเห็นว่ามาตรการดูแลค่าเงินบาทของแบงก์ชาติที่ออกมานั้นไม่เพียงพอ คำถามคือจะให้แบงก์ชาติทำอะไรอีก

 

ที่ผ่านมาแบงก์ชาติดำเนินมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยการลดปริมาณการออกตราสารหนี้ระยะสั้น ลดวงเงินการถือครองเงินบาทของต่างชาติ และมีแผนที่จะผ่อนคลายการควบคุมเงินทุนไหลออก แต่มาตรการดูแลค่าเงินที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคงหนีไม่พ้น การเข้าแทรกแซงค่าเงิน การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการควบคุมการไหลของเงินทุน

การเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทโดยการซื้อทุนสำรองระหว่างประเทศ เป็นการช่วยรักษาให้เงินบาทมีราคาถูกและความผันผวนตํ่า เพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย ทำให้สถานภาพ safe haven ของบาทยิ่งแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้ความต้องการถือบาทเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้นปริมาณทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้ไทยได้สถานะประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน (currency manipulator) ในมุมมองของสหรัฐฯ

มาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนน่าจะส่งผลชะงัดต่อค่าเงินบาท เนื่องจากเป็นมาตรการที่รุนแรง ส่งผลในวงกว้าง ซึ่งจากประสบการณ์ตรงของแบงก์ชาติในการออกมาตรการลักษณะนี้ในปี 2549 พบว่าก่อให้เกิดผลเสียทั้งต่อตลาดการเงินและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งยังขัดกับเป้าหมายของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

ทางออกที่ง่ายที่สุดคือ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ ซึ่งแม้จะลดไปแล้ว 25 จุดจากการประชุม กนง. ครั้งที่ผ่านมา หลายฝ่ายยังคาดว่าแบงก์ชาติจะลดอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย หนึ่งครั้งก่อนสิ้นปี ซึ่งน่าจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท เพราะหากผลตอบแทนของการถือเงินบาทลดลง แรงจูงใจของนักลงทุนในการถือบาทย่อมจะลดลง

เงินบาท  แบงก์ชาติ  แพะ

แต่หากดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ธนาคารกลางประเทศต่างๆ รวมถึงไทยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แนวโน้มการเกิดสงครามค่าเงินเพิ่มสูงขึ้น เงินบาทกลับมีค่าเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นเดียวกับเงินเยนและเงินสวิสฟรังก์ (safe haven สกุลหลักของโลก) ในขณะที่เงินสกุลอื่นๆ อ่อนค่าลงอย่างชัดเจน

 

 

การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงไม่น่าจะตอบโจทย์หากการไหลเข้าของเงินทุนเป็นเพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยและสถานะ safe haven ของบาท แต่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยแย่ลงกว่าเดิม ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ทั้งยังลดขีดความสามารถในการใช้นโยบายการเงินของธนาคารกลางเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคต

รัฐบาลกำลังจัดตั้งทีมดูแล “เสถียรภาพเงินบาท เสมือนว่าแบงก์ชาติดูแลได้ไม่ดีพอ ซึ่งความจริงแล้วแบงก์ชาติดูแลได้ดีและอาจดีเกินไปภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ แต่ด้วยระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นของไทยค่าเงินบาทจึงมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นในระยะยาว การแกว่งค่าของบาทในระยะสั้นไม่ว่าจะเป็นขาขึ้นหรือลงเกิดขึ้นได้จากปัจจัยชั่วคราวซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แม้แต่สถานะ safe haven ของบาทก็ขึ้นอยู่กับอารมณ์ตลาด ความผันผวนของค่าเงินจึงเป็นความจริงที่ต้องยอมรับและ ต่างต้องดูแลตัวเอง มาตรการที่จะรับมือกับการแข็งค่าของเงินบาทหากส่งผลกระทบในระยะยาว อาจได้ไม่คุ้มเสีย

แบงก์ชาติมีหน้าที่หลักในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาว มาตรการของแบงก์ชาติไม่ควรนำไปใช้สนับสนุนกลยุทธ์การค้าการลงทุนของใครหากขัดกับเป้าหมายหลักของแบงก์ การรับมือกับการแข็งค่าของเงินบาทในขณะที่ทั่วโลกดำเนินนโยบายการเงินแบบขยายตัวไม่ใช่เรื่องง่าย

ปัญหาการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยอาจสืบเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เงินบาทอาจไม่ใช่สาเหตุหลัก นอกจากนั้นการมุ่งรักษาค่าเงินให้อยู่ในระดับตํ่า อาจมีผลทำให้อัตราค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานลดลง รายได้และกำไรของผู้ส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ส่ง ผลต่อความเหลื่อมลํ้าทางสังคม ดังนั้นนโยบายรัฐบาลควรเน้นไปที่กลยุทธ์การแข่งขันด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ด้านราคา และแบงก์ชาติต้องเป็นอิสระ... จากนักการเมือง

วันนี้จะบินไปอังกฤษ ประ เทศที่ค่าเงินเคยทะลุ 90 บาทและปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 37 บาทต่อปอนด์ เศรษฐศาสตร์ในชีวิตจริง...

Footnote: ส่วนหนึ่งมาจากบทความ What should the Bank of Thailand do about the appreciating baht? ใน the East Asia Forum, Australian National University

 

เงินบาท  แบงก์ชาติ  แพะ