แม้ภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารในปี 2567 จะดูดี แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่าแต่ละกลุ่มธุรกิจมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตแตกต่างกันไป ขณะที่อัตราการเติบโตในปีนี้คาดว่าจะเฉลี่ยที่ 5% และเมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่าความเป็นจริงอาจไม่สวยงามอย่างที่คิด
ด้วยจำนวนร้านอาหารที่มีมากกว่า 7 แสนร้านค้า แบ่งเป็นร้านอาหารขนาดใหญ่ 7 หมื่นร้านค้า ซึ่งมีไม่ถึง 10% ขณะที่อีกกว่า 90% หรือกว่า 6 แสนร้านค้าเป็นร้านอาหารขนาดกลางและขนาดเล็ก เช่น ร้านอาหารข้างทาง ร้านในปั๊มน้ำมัน
หรือร้านกาแฟเล็กๆ ที่ขาดศักยภาพและต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก ทั้งจากการแข่งขันสูงและขาดการปรับตัว ทำให้หลายรายต้องปิดกิจการไป ซึ่งภาพเหล่านี้จะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในปี 2568
นายสุภัค หมื่นนิกร ผู้ก่อตั้งสถาบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทอีซี่ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์จำกัดผู้บริหารร้านแฮมเบอร์เกอร์ “Siam Steak”และไส้กรอกพรีเมี่ยม “อีซี่ส์” เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารปี 2567 แม้ตัวเลขยอดขายโดยรวมจะเติบโตประมาณ 5%
แต่เมื่อเจาะลึกลงไปแต่ละกลุ่มธุรกิจจะเห็นภาพที่แตกต่างกัน ธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็กหรือแบรนด์ใหม่ เช่น ร้านไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟสัญชาติจีน อาจมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย เนื่องจากเป็นผู้เล่นใหม่ที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน
ในขณะที่ธุรกิจร้านอาหารขนาดใหญ่ เช่น ไมเนอร์ฟู้ด, ซีอาร์จี, แมคโดนัลด์, เคเอฟซี, กับข้าวกับปลา และแบล็คแคนยอน มักมีเป้าหมายการเติบโตที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย เพราะมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งและมีระบบการบริหารจัดการที่ดี
ทำให้สามารถขยายสาขาและเพิ่มยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง ธุรกิจขนาดใหญ่จึงต้องเติบโตอย่างน้อย 7% ต่อปี เพราะต้นทุนค่าแรง ค่าสินค้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี หากธุรกิจสามารถเติบโตได้เท่ากับอัตราการเพิ่มขึ้นของต้นทุน ก็จะถือว่ารักษากำไรให้เท่ากับปีก่อนหน้าได้ แต่หากต้องการเพิ่มกำไรก็ต้องมียอดขายที่เติบโตสูงกว่านั้น
อย่างไรก็ดีธุรกิจร้านอาหารขนาดใหญ่ก็เผชิญกับความท้าทายเช่นกัน โดยเฉพาะการแข่งขันกับแบรนด์ต่างชาติที่เข้ามาเปิดตลาดในไทยที่มีมากขึ้น เช่น แบรนด์อาหารจีน
นอกจากนี้การขยายตัวของศูนย์การค้าหรูอย่าง One Bangkok และโครงการใหม่ของกลุ่มเดอะมอลล์ แสดงให้เห็นว่าตลาดร้านอาหารระดับบนยังคงเติบโต แต่เมื่อพิจารณาถึงภาพรวมของตลาดร้านอาหารทั้งหมดแล้ว คาดการณ์ว่าตัวเลขการเติบโต 5% อาจไม่สะท้อนถึงสถานการณ์จริงของร้านอาหารขนาดกลางและขนาดเล็กส่วนใหญ่
“สุภัค” บอกว่า การจะบอกว่าร้านอาหารประเภทไหนกำลังได้รับความนิยมนั้นเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเราหันมาดูวิธีการบริหารจัดการร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น
ปัจจุบันมีร้านอาหารหลากหลายประเภทให้เลือกมากมาย ดังนั้นร้านอาหารที่ต้องการเติบโตในปี 2568 จึงต้องมีความแตกต่างและโดดเด่น โดยเริ่มจากการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า เพื่อให้เข้าใจความต้องการและความชอบของลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างแท้จริง จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดที่ตรงจุด
อีกทั้งการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจร้านอาหารประสบความสำเร็จ AI สามารถช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ช่วยในการวางแผนการตลาด การสร้างสรรค์คอนเทนต์ และการทำโฆษณาออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือการออกแบบเมนูอาหารให้มีความน่าสนใจและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยแบ่งเมนูออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
1.เมนูซิกเนเจอร์ เป็นเมนูเด่นของร้านที่สร้างความแตกต่างและเป็นที่จดจำ
2.เมนูที่มีความหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มกว้าง
3.เมนูที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ
“สุภัค” บอกอีกว่า แนวโน้มธุรกิจร้านอาหารในปี 2568 แม้ธุรกิจอาหารจะมีแนวโน้มเติบโต แต่การเติบโตนั้นคาดว่าจะอยู่ในระดับที่ทรงตัว หรืออาจลดลงเล็กน้อยประมาณ 2-3% เมื่อเทียบกับปี 2567
สาเหตุหลักที่ทำให้การเติบโตชะลอตัว ได้แก่ 1.ปัจจัยทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ แต่กำลังซื้อของผู้บริโภคโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า ปัจจัยสำคัญอย่างจำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 และการลงทุนจากต่างชาติก็ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา
2. ต้นทุนค่าแรงที่ปรับสูงขึ้น รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบที่ผันผวน ส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรของผู้ประกอบการ และ 3.นโยบายภาครัฐ แม้จะมีนโยบายดอกเบี้ยต่ำ แต่เงื่อนไขในการเข้าถึงสินเชื่อยังค่อนข้างเข้มงวด ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่หรือรายเล็กขยายธุรกิจได้ยาก
คาดว่าปี 2568 จะเป็นปีที่ท้าทายสำหรับธุรกิจหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากปัจจัยหลายประการที่เกิดขึ้นในปีนี้ ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า สถานการณ์ธุรกิจอาหารในปีหน้า ก็เช่นกัน ที่เชื่อว่าต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ
โดยเฉพาะเรื่องกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากทั้งผู้ประกอบการรายใหม่ในประเทศและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม หวังว่าจะมีปัจจัยบวกจากภายนอกเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนจากต่างประเทศและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมในด้านนี้ แต่ปัจจุบันยังขาดความชัดเจนในรายละเอียดของนโยบายเหล่านี้
ไม่ใช่เพียงธุรกิจร้านอาหารขนาดใหญ่ที่ต้องเผชิญความท้าทาย ร้านอาหารขนาดกลางและเล็กก็เผชิญกับความท้าทายเช่นกัน ดังนั้นต้องจับตาถึงกลุ่มร้านอาหารที่มีแนวโน้มจะถดถอยลงจากปัญหารอบด้าน เช่น ธุรกิจร้านอาหารที่เน้นขายปริมาณในราคาถูกเพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น ร้านอาหารประเภทข้าวมันไก่ราคา 10 บาท หรือข้าวผัดโปรโมชั่นราคา 20 บาท
มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาและปิดตัวลงในระยะยาว เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูง ทำให้ธุรกิจไม่สามารถอยู่รอดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่ามีร้านอาหารประเภทนี้เปิดตัวขึ้นมาจำนวนมาก
เพื่อสร้างกระแสและดึงดูดลูกค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ค่อยๆ หายไปจากตลาด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือร้านอาหารซีฟู้ดที่เน้นขายในราคาประหยัด เป็นต้น
“ผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าหรือบริการของตนเอง อาจต้องเผชิญกับปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งรายใหญ่ หรือแบรนด์ที่มีชื่อเสียง
และอาจต้องปิดกิจการในที่สุด สำหรับผู้ประกอบการที่เช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า จะต้องเผชิญกับค่าเช่าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่สามารถสร้างยอดขายได้ตามเป้าหมาย อาจถูกยกเลิกสัญญาเช่าได้”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,052 วันที่ 12 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2567