แก้โจทย์ “ข้าว-ปาล์ม-ยาง” ฝ่ามรสุม ปีฉลู

18 ก.พ. 2564 | 12:50 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.พ. 2564 | 12:52 น.
1.2 k

3 แกนนำ “ยาง-ข้าว-ปาล์ม” ผ่ามรสุม ปีฉลู ไม่ฉลุย “อุทัย” แนะ กยท. ใช้สถาบันเกษตรกร ซื้อยางชี้นำราคาสูงกว่าตลาด 0.25 บาท ต่อกก. ดัดหลังพ่อค้าเอาเปรียบ นายกฯชาวนา โวยโรงสี-ส่งออก เล่นกลกดราคา “ปาล์ม” ฮึ่มรัฐ ขู่นำเข้า CPO แบนยกรัฐบาล

เผือกร้อนปมราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เป็นปัญหาทุกยุครัฐบาลที่จะต้องเผชิญและแก้ไข จากเกษตรกรอยู่ในภาคเศรษฐกิจฐานราก และฐานเสียงที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา ข้าว และปาล์มน้ำมัน โดยในปีนี้แม้ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรข้างต้นถือว่าดีระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่วายมีปัญหาถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา ดังนั้นสิ่งที่ต้องดำเนินการคือจะมีวิธีบริหารจัดการอย่างไรไม่ให้เกษตรกรถูกเอาเปรียบ

 

อุทัย สอนหลักทรัพย์

 

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒินโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และนายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การแก้ไขปัญหาราคายางของไทยทั้งรัฐบาลในอดีตและปัจจุบันยังแก้ปัญหาได้ไม่ยั่งยืน ยังวนเวียนซ้ำซาก แก้แบบเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของเกษตรกรเท่านั้น แม้ปัจจุบันรัฐบาลจะหันมาใช้วิธีประกันรายได้ชาวสวนยาง ผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็เฉพาะรายที่มาขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เท่านั้น

ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์ม

 

ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาราคายางให้มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนมากที่ยังแก้ปัญหาไม่สำเร็จ เนื่องจากราคายางในตลาดโลกผูกพันอยู่กับตลาดล่วงหน้า เป็นการเก็งกำไรจากนักลงทุนที่ซื้อขายกันล่วงหน้า มีการปั่นราคาขึ้น-ลง ทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงด้านราคาและถูกเอาเปรียบจากผู้ค้า ดังนั้นวิธีการแก้ไขปัญหารัฐควรเพิ่มศักยภาพให้ “สถาบันเกษตรกร” มีความเข้มแข็ง โดยใช้ กยท. ใช้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้สถาบันเกษตรกรซื้อน้ำยางสดในราคาชี้นำตลาดไม่เกิน 0.25 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) เมื่อซื้อชี้นำราคาแล้วให้รายงานต่อ กยท. ทุกวัน ถ้าราคายางขายขาดทุนให้ กยท.ชดเชย ซึ่งจะดีกว่าการแทรกแซงราคายาง หรือประกันรายได้ จะช่วยได้ทั่วถึงและเป็นการยกระดับราคาทั้งประเทศ 

 

ปราโมทย์ เจริญศิลป์

 

ด้านนายปราโมทย์  เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวถึง สถานการณ์ข้าวในประเทศปี 2564 ผิดปกติอย่างรุนแรง ทั้งพ่อค้าส่งออกและโรงสี อ้างส่งออกไม่ได้ มองว่าจะใช้สถานการณ์เทียมมาหลอกกดราคาข้าวเปลือกในประเทศ และให้คนไทยรับประทานข้าวสารแพง “ในฐานะนายกสมาคมฯ คงยอมไม่ได้ ที่จะให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้  คงต้องสู้กันให้ถึงที่สุด วัดกันไปว่ารัฐบาลจะเข้าข้างใคร”

 

แหล่งข่าวคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เผยว่า ผลผลิตข้าวไทยในปี 2564 มีแนวโน้มมากกว่าปี 2563 ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาข้าวไทยปรับตัวลดลงและสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ดีขึ้น จากที่ผ่านมาราคาข้าวส่งออกของไทยสูงกว่าคู่แข่งขัน ทั้งนี้ข้อมูลการส่งออกข้าวของโลกเดือนมกราคม 2564 (1-19 ม.ค.) อินเดียส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ปริมาณ 840,000 ตัน รองลงมาได้แก่ ปากีสถาน 350,000 ตัน ไทย 340,000 ตัน เวียดนาม 260,000 ตัน และสหรัฐอเมริกา 180,000 ตัน 

การส่งออกข้าวไทย เปรียบเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญ

 

สาเหตุที่ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น จากมีความต้องการข้าวนึ่งจากไนจีเรียเข้ามามากขึ้น ขณะเดียวกันผู้นำเข้าจากเบนิน และแอฟริกาใต้ยังให้ความสนใจที่จะนำเข้าข้าวจากไทย ส่วนเวียดนามส่งออกลดลงจากราคาข้าวใกล้เคียงกับราคาข้าวไทย (ลูกค้ายังเชื่อมั่นคุณภาพข้าวไทย) บวกกับเวียดนามมีสต๊อกข้าวจำกัด

 

ชโยดม สุวรรณวัฒนะ

 

ด้านนายชโยดม สุวรรณวัฒนะ ประธานกลุ่มคนปลูกปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีทองปาล์มก็ว่าได้ ผลผลิตทยอยออก ราคาผลปาล์ม ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 7.30-7.60 บาทต่อ กก. สาเหตุจากผลผลิตน้อย เนื่องจากรอบ 2 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรไม่มีเงินใส่ปุ๋ย อย่างไรก็ดีหากวันนี้กระทรวงพาณิชย์จะเปิดให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) จากต่างประเทศเข้ามา รัฐบาล หรือพรรคการเมืองที่ดูแลเกษตรกรจะเสียคะแนนแน่นอน ทั้งนี้ถ้าไม่บิดเบือนกลไกตลาด อาชีพการปลูกปาล์มไปได้แน่ 

 

“ย้อนไป  5 ปีที่แล้ว หลังรัฐบาลอนุมัติให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ 50,000 ตัน เกษตรกรชาวสวนปาล์มเหมือนตายทั้งเป็น บทเรียนราคาแพงจากการบิดเบือนกลไกลตลาดนี้ อย่าให้เกิดซ้ำ หากพรรคไหนอยากลองของกับเกษตรกรชาวสวนปาล์มก็ลองดู” นายชโยดม กล่าว 

 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,654 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“โจรลักปาล์ม” อาละวาด หลังราคาพุ่ง

"น้ำมันถั่วเหลือง" ขย่ม ปาล์มขวด หั่นราคาเหลือแค่ 39-42 บาท