84,000 ชุด กับ มนุษย์ตามธรรม! ฉากที่ 4

01 ก.พ. 2568 | 06:00 น.

84,000 ชุด กับ มนุษย์ตามธรรม! ฉากที่ 4 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4067 หน้า 6

วันหนึ่ง ในห้องประชุมนิรนาม จิต ของผมมันสวิง เพราะว่า หลังจากบรรยายถวายแง่คิดในการเล่าธรรมะให้พระสงฆ์ฟังจนเป็นที่เข้าใจ ก่อนจะลงมาจากเวทีผมก็ตั้งจิตเบิกบุญกุศลที่สั่งสมไว้ทุกภพชาติมาถวายให้พระสงฆ์พึงประสบกับความสำเร็จ โดยปราศจากทุกข์โศกโรคภัย แล้วลงมากราบเบญจางคประดิษฐ์

ขณะที่ผมกำลังจะหันไปรับของจากพระเดชพระคุณท่านเจ้าอาวาส จู่ๆ “วิทยากรนิรหนาม!” (ฮา)
 

ผู้บรรยายในลำดับต่อไปเดินขึ้นไปคว้าไมค์พูดออกลำโพงดังไปทั่วทั้งบริเวณว่า

“พระคุณเจ้าทั้งหลาย ผมจะขอบอกหลัก ในเรื่องของการให้พร เอาไว้เป็นแนวปฏิบัติว่า พระจะต้องเป็นผู้ให้พรฆราวาส ไม่ใช่ฆราวาสเป็นคนให้พรพระ เนื่องจาก พระมีศักดิ์สูงกว่าฆราวาส!” ผมรู้สึกไม่ค่อยจะดีว่าทำไม “วิทยากรนิรหนาม!” ท่านนั้นถึงได้ดูแคลนฆราวาสกันต่อหน้าต่อตาขนาดนั้น พระสงฆ์นั่งเงียบกันทั้งห้อง 

หลายรูปหันมามองหน้าผมเหมือนจะให้กำลังใจ ผมก็รีบเอา “จริต” มา “ดัด” ด้วยการดึง “จิต” มาคุยกับตัวเองว่า “ยังจำได้ใช่ไหม เราเคยสอนลูกสิษย์ว่า อยู่เป็น คือ รู้จักดัดจริต แต่อย่า ดัดจริตจนเกินพอดี! ใครเผลอ ดัดจริตจนเกินพอดี! ชาวบ้านเขาจะพูดลับหลังว่า กระแดะ! (ฮา)

ปกติผมมักจะชวนแท็กซี่คุยจนกว่าจะถึงบ้าน วันนั้นผมนั่งเงียบเพื่อพิจารณาตัวเองว่า ดร.ผาณิต กันตามระ สอนผมไว้ว่า “อย่าเปิดประตูบ้านต้อนรับวิญญาณที่สิ้นธรรม!” หมายถึง “อย่าเอาเจตสิกเฮงซวย” มานั่งครอบงำจิตของเรา มันจะก่อกวนตัดรอนความเป็นมนุษย์! ให้เรารูดลงไปเป็น คน! ขย่มเราให้ร่วงจากการเป็น คน ไปเป็น เดรัจฉาน! เราจะกลายเป็น มารขวางธรรม! เดรัจฉาน มีทายาทเป็น นักขวางลาภ!” (ฮา) 

อารมณ์ผมเรื่องนั้นในวันนี้จัดว่า คุณภาพในการดัดจริตยังเฉยอยู่ ในใจลึกๆ ก็เคยคิดว่า หลวงปู่ วัดสายป่า เวลาจะเดินทางไกลก็มีโยมตามกันไปส่งขึ้นเครื่องบิน โยมก็บอกกับ หลวงปู่ ว่า “ขอให้ หลวงปู่ เดินทางไปกลับด้วยความสวัสดี นะเจ้าคะ”

ถ้อยคำแบบนี้ก็เป็นการถวายพร หลวงปู่ ก็ตอบกลับกับคุณโยมด้วยอารมณ์แจ่มใส ว่า “ขอบใจ ขอบใจ เจริญพรนะคุณโยม” ตัวอย่างเชิงบวกแบบนี้ยังมีให้ดูกันอยู่ทุกวัด ไม่เคยเห็นว่าหลังจากโยมถวายพระพรให้พระสงฆ์ มีความปิติแล้วพระสงฆ์จะเกิดความเสื่อมตรงจุดไหน 

เรามาคลายเซ็งกันสักนิดดีกว่า ผมอ่านกรณีตัวอย่าง แม่ค้าผู้รู้ถูก หลังจากได้ฟังพระเทศน์ว่า “ระวังจิตของเราเอาไว้ให้ดี เผลอเมื่อไหร่จะโดน เจตสิก ลากไป สมาส หรือ ผลัดกัน สนธิ ขยับจาก ความผูกพัน! ข้ามเส้นไปสู่ การผูกมัด...” 

เธอเคยเชื่อเพื่อนที่ยุว่า “กู้เงินบริษัทนี้ไม่มีปัญหา ผมกับผู้จัดการสนิทกันดี ผลลัพธ์ที่ผลิดอกแต่ควักตังค์ออกมาชำระหนี้ได้ไม่กี่ใบ เพราะยอดขายไม่ปัง หลังจากโดนบริวารผู้จัดการรุมยำ เธอเอามาเล่าว่าจำจนวันตาย หลังจากรอดพ้นปัญหามาได้ก็เริ่มขายแล้วเก็บหอมรอมริบจนมีทุนปั๊วะ กลายเป็นนักขายเสื้อผ้าอาภรณ์ในโลกออนไลน์ สบาย...บรื๋อ สบายล้วนๆ น่ะดี แต่ทะลึ่งมี บรื๋อ! เข้ามาแจมนี่สิ พับผ่า... 

ลูกค้าเสียงหนุ่มโทรเข้ามาคุยกันในโทรศัพท์มือถือ ตะแกถามว่า “มีกางเกงในที่ใช้แล้วแต่ยังไม่ได้ซักบ้างไหมจ๊ะ...” เธอลืมไปว่า “เจตสิกเฮงซวย” มันรอทีเผลออยู่แล้ว องค์เคืองลงประทับจิตของแม่ค้า เธอจึงหลุดปากตอกกลับว่า “ไอ้เอี้ยเอ๊ย...” ก่อนที่ลูกค้าจะลาจากยังจะบรื๋อเป็นลูกคู่ส่งท้ายว่า  “เอ๊ย...ย...ย” (ฮา)

ล่าสุด มีข่าวว่าเธอคิด สโลแกน คือ คำขวัญ พกพาเอาไว้ใน “จิต” ว่า “เราคือบ๋อยของลูกค้า” การสอน หรือ สอนแล้วเอาไม่อยู่ ต้องหันมาใช้ การสั่ง ให้ จิต รู้จักจำว่า “ทมะ” คือ “ข่มใจ” คล้ายกับ “ดิสเบรค” จะให้เป๊กพ่อก็ต้อง “ขันติ” คือ “อดใจ” คล้ายกับ “จอดรถ ดับเครื่อง ดึงกุญแจออก แล้วก็ล็อคล้อ” 

ผมเคยบ่นว่า กูรูเล่ายาวจนคนขี้เกียจอ่าน หนนี้ผมเจอ “เจตสิก คือ ปัจจัยแห่งจิต” กูรูเล่าสั้น ผมเข้าใจความหมายรวม แต่ทว่า แฟนคลับ ใกล้บ้านเขาแวะมาอ่านแล้วพึมพำว่า “ทราบแต่ไม่ซึ้ง…งงว่ะ! ” (ฮา)

คำว่า เจตสิก กูรู ของประเทศที่ตะวันไม่ตกดิน คือ อังกฤษ เขาแต่งคำว่า เจตสิก โดยจัดอักษรไว้แปดตัว คือ Cetasika สะกดเป็นคำไทยว่า เจตสิกา และ เขาเปล่งเสียงเรียก ว่า ซี้ . ทา . สิ . ค่ะ อนุบาลสายวัดอ่านแล้วคงจะคุยกับคุณแม่ว่า “หนูว่า จิต กับ เจด ตะ สิก เขาคงจะจีบกันในชั่วโมงวาดเขียนแน่เลยค่ะแม่ เพราะ เจด ตะ สิก เขาบอกให้ จิตท่าว่า เธอเอา ซี้ . ทา . สิ . ค่ะ” (ฮา) 

ในเมื่อกูรูชี้โพรงว่า “เจตสิก คือ ปัจจัยแห่งจิต” เราพึงรู้ว่า “ จิต” มีหน้าที่อยู่สามอย่าง คือ หนึ่ง : รับรู้ สอง : จดจำ สาม : ดึงข้อมูลที่  รับรู้ กับ จดจำ มาพิจารณาว่า ไม่ใช่? หรือ ไม่ใช่ - ไม่ใช่ เท่ากับ ใช่! (ฮา) “จิต” เมื่อ “คุมอารมณ์” กับ “กำหนดตัวเลือกเอาไว้ในใจอย่างแยบคาย” ก็ตัดสินใจง่าย ว่าจะทำอย่างไร 

ถ้าเราเข้าถึง ถ้อยคำ คือ พยัญชะ กับ เนื้อเรื่อง คือ อรรถะ เราจะล่วงรู้ได้ไว เช่น “ปัจจัย” คือ “เครื่อง” ทั้งนี้ “เครื่อง” ก็คือ “ทุกสิ่งทุกอย่าง” หมายถึง “ทั้งหมด” อย่างเช่น “สิ่ง” เป็น “ภาวะ” กับ “ของ” สำหรับ  “อย่าง”  ได้แก่ “แบบ” หรือ“วิธี” ความซับซ้อนจุกจิกของแกงเลียงเถานี้ช่วยให้เราเรียนทางลัด ด้วยแนวทาง ค้นไว้ใช่ว่า ถึงแม้จะไม่ลึกซึ้งก็ไม่เป็นไร เราคงจะไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้มั้ง (ฮา)

สรุปได้เลยว่า “ปัจจัย” คือ “เครื่องใช้อันเป็นมูลเหตุต้นทาง ที่ทำให้เกิดผลลัพธ์อย่างหนึ่งอย่างใดในที่สุด” 

แถมนิทาน ผีเจ้าระเบียบ ส่งท้าย : ศาลาการเปรียญในวัดร้างมีคนสัญจรมานอนฟรีกันบ่อย มีอยู่คืนหนึ่ง ผู้ชายตัวโย่งสองคนนอนหงาย ผู้ชายตัวเตี้ยสามคนนอนตะแคง ผีรู้สึกว่าคนทั้งห้ามีสัดส่วนสูงต่ำขัดกันดูไม่งามจึงลงมือลากทุกคนให้นอนหันหัวตรงกัน 

แต่ทว่า เท้ายาวไม่เท่ากัน ผีขยันลากเท้าทุกคนให้เรียงตรงกัน แต่ทว่าหัวยาวไม่เท่ากัน ผียืนเกากระดูดแกรกๆ ได้แต่ตัดใจ “ทิ้งเจตสิกเชิงลบ” ว่า “เราจะวางภาระที่เสียเวลาเปล่า” เขียนฝากไว้ข้างฝาว่า “รักษาเจตสิกเชิงบวก” บอกว่า “ใครมานอนที่นี่อย่างมีระเบียบชีวิตผู้นั้นจะดีงาม!”