84,000 ชุด กับ มนุษย์ตามธรรม! ฉากที่ 3

25 ม.ค. 2568 | 06:00 น.

84,000 ชุด กับ มนุษย์ตามธรรม! ฉากที่ 3 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4065

เพื่อนผมรู้ดีว่า “เปิดวาร์ป” คือ “การเคลื่อนย้ายผู้เล่นจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้รวดเร็ว โดยไม่ต้องเล่นในเส้นทางปกติ” เดี๋ยวนี้เขาพลิก “ความหมาย” กลายเป็น “ความมุ่ง” เคลื่อนกายขยายคำฟุ้งอีกหนว่า “เปิดวาร์ป” หมายถึง “การระบุที่มาของเนื้อหา หรือ แหล่งติดต่อเพิ่มเติม” 

ในเมื่อเพื่อนเป็น “นักเปิดวาร์ป” ต้องถามกันโดยไม่ต้องรูดบัตรว่า รากศัพท์ของคำว่า “ธรรมะ” ที่คนใช้เป็น “สารตั้งต้น” หรือ “คนตั้งหลัก” มีที่ไปที่มาอย่างไร มันแย็บทันทีว่า “ธรรมะมีที่มาจากผู้ที่ตรัสรู้ และ ธรรมะก็มีที่ไปได้ในทุกสถาน ซึ่งมีโยมมานมัสการและอาราธนาเชิญพระไปแสดงธรรมตามคำขอ คำบาลีที่ว่า อาราธน จาก อา - รา - ทะ - นะ คือ ทำให้ยินดีและคล้อยตาม!”

ผมยิ้มมันก็นั่งแย้มแก้มตุ่ยเพราะมันเห็นชัดเจนว่า ผมกำลังนั่งกระดิกเท้าเข้าจังหวะอยู่… (ฮา)

มันรีบอธิบายว่า “ธรรมะ คือ รากเหง้าที่งอกจาก ภาษาสันสกฤต คำเดิมเรียกว่า ธร! หมายถึง การยึดไว้ การถือไว้ การมีไว้ การทรงไว้ คลายให้หายกังขาเลยว่า ยึดหลัก ถือหลัก มีหลัก ทรงหลัก ที่สามารถนำมาทำให้เกิดเป็น ความดี ตรงกับ ความจริงที่เป็นไปได้…”

วลีที่ว่า “วันดีคืนดี” มันจะหมายความว่า “แต่ก่อนที่รู้จักกันมาเคยมีเรื่องอะไรที่ไม่ดีก็เลยนัดกันมาคืนดี…” อะไรอย่างนั้นหรือเปล่า (ฮา) จะใช่หรือไม่ใช่ก็ไม่รู้แต่ที่รู้ๆ มีอยู่ว่า วันดีคืนดี ก็มีคนมาขอแรงให้ผมไปเล่า “ชั้นเชิงในการอธิบายธรรม” ให้ “ผู้ศึกษาพระอภิธรรม” ฟัง กับ ฝึก จะได้ไหม ผมเชื่อว่าผู้อ่านจะทำใจกับความเป็นจริงได้ว่า “กลุ่มของผู้รู้มักจะมีคนที่อวดรู้ว่ากูถูก!”

หนึ่งในหลายคราวที่ผมไปนำเสนอก็มีการ “ถก” จนกลายพันธุ์เป็น “เถียง” อันเนื่องมาจาก

การตั้งคำถามที่อธิบายยากเพื่อจะทดสอบว่า “จิต กับ เจตสิก สามารถแยกออกจากกันได้ไหม?”

ทั้งห้องรู้จักดีว่า “เจตสิก” คือ “สิ่งที่เข้ามาประกอบการปรุงแต่งจิตทำให้เกิดอารมณ์ขึ้นในใจ”

ปรากฏว่ามี “นักศึกษาสาวราวบันได” คนหนึ่ง เธอก็ตอบเสียงข้นคลั่กว่า “แยกจากกันไม่ได้!”

ผมก็ชี้จุดว่า “ถ้านักบวชแยก จิต กับ เจตสิก ให้ออกจากกันไม่ได้ เขาก็บรรลุเป็นอรหันต์ไม่ได้”

เธอส่งเสียงยังกะขึ้นเครื่องบินไม่ทันว่า “ม่-า-ย…ถู-ก อาจารย์พูดอย่างนี้ ทำให้หลักธรรมเสียหาย อาจารย์ที่สอนพระอภิธรรมก็บอกหนูเอาไว้แล้วว่า จิต กับ เจตสิก แยกออกจากกัน…ไ-ม่-ได้-!” 

                        84,000 ชุด กับ มนุษย์ตามธรรม! ฉากที่ 3

“ผมบรรยายฟรีกับวัดมา 35 ปี ได้ฟังพระท่านสอนเรื่องนี้มาหลายครั้ง ท่านเล่าแบบบ้านๆว่า จิตของเราเปรียบเหมือนน้ำ เจตสิกที่เข้ามามีส่วนร่วมผสมกับจิตก็คือ สี ถ้าเราเทสีแดงลงไปในแก้วน้ำใสๆ น้ำในแก้วมันจะเปลี่ยนเป็นสีแดง เราจะเอาสีแดงออกจากน้ำในแก้วได้ไหม?  

ผมก็เห็นด้วยกับเขามาหลายสิบปี เพิ่งจะถึงบางอ้อเมื่อไม่กี่ปีนี้เองว่า ถ้าเราเอาน้ำสีแดงในแก้วไปต้มให้น้ำระเหย มันก็กลายเป็นไอน้ำ ไปหยดลงในแก้วอีกใบหนึ่ง น้ำในแก้วใบที่สองจะใสกลายเป็นน้ำไม่มีสี เราสามารถเอาสีออกจากน้ำได้ใช่ไหมล่ะ

ด้วยวิธิเดียวกันนี้แหละ เราจึงสามารถแยกเกลือออกจากน้ำได้เช่นกัน และ ด้วยกลเม็ดนี้แหละ เราสามารถแยก เจตสิก ให้หลุดพ้นจาก จิต เช่นกัน ใช่ไหมล่ะครับ...”

นักประพันธ์นิรนามรำพึงว่า ถ้าเริ่ม “คิดน้อย” จะพูดมาก พอเริ่ม “คิดมาก” จะพูดน้อย พอเริ่ม “พูดยาก” จะคิดงงๆ พอเริ่ม “ปลง” จะไม่พูดอะไรเลย “เธอ” คือ นักธรรม แบบไหน
วันนั้นผมลืม  “พระพุทธดำรัส” ที่  “พระพุทธองค์” ได้ตรัสใน “วันปฐมพุทธภาสิตคาถา” เป็นบทสำคัญซึ่ง พระพุทธเจ้า เพิ่งเปล่งอุทานครั้งแรกหลังจากที่ตรัสรู้แล้ว ดัง…ต่อ…ไป…นี้

O อะเนกะชาติสังสารัง สันธาวิสสัง อะนิพพิสัง

“เมื่อเรายังไม่พบญาณ ได้แล่นท่องเที่ยวไปในสงสารเป็นอเนกชาติ” 

O คะหะการัง คะเวสันโต ทุกขา ชาติ ปุนัปปุนัง

“แสวงหาอยู่ซึ่งนายช่างผู้ปลูกเรือน คือ ตัณหาผู้สร้างภพการเกิดทุกคราว เป็นทุกข์ร่ำไป”

O คะหะการะกะ ทิฏโฐสิ ปุนะ เคหัง นะ กาหะสิ

“นี่แน่ะ นายช่างผู้ปลูกเรือน เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว เจ้าจะทำเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป”

O สัพพา เต ผาสุกา ภัคคา คะหะกูฏัง วิสังขะตัง

“โครงเรือนทั้งหมดของเจ้าเราหักเสียแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว”

O วิสังขาระคะตัง จิตตัง ตัณหานัง ขะยะมัซฌะคา

“จิตของเราถึงแล้วซึ่งสภาพที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป มันได้ถึงแล้วซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหา”

พยัญชนะ คือ ถ้อยคำที่ชี้ชัดว่า “หัก…แล้ว” คือ “แยกออกจากกัน” อรรถะ คือ “โครงเรือนทั้งหมด” หมายถึง “กิเลสทั้งหลายที่ผนึกรวมกันเป็นโครงรองรับความเขลา”