KEY
POINTS
วันนี้ (1 ก.พ. 2568) ระหว่างเวลา 08.00-17.00 น.สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) จำนวน 76 จังหวัด และ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) จำนวน 47 จังหวัด
โดย กกต.ได้ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.อบจ.จำนวน 6,815 คน ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม จำนวน 92 คน ยื่นคำร้องให้รับสมัคร จำนวน 17 คน และสมัคร นายก อบจ. จำนวน 192 คน ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม จำนวน 3 คน ยื่นคำร้องให้รับสมัคร จำนวน 2 คน
ในการเลือกตั้ง นายก อบจ. และ สมาชิก อบจ. ครั้งนี้ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น แต่มีภาพความเชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติเพราะมีทั้งพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้
ขณะที่แกนนำพรรค หรือ แม้แต่ผู้นำจิตวิญญาณของพรรค ได้ตะเวนเดินสายขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก อบจ. และ ส.อบจ. ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงกันอย่างคึกคัก
“เพื่อไทย”ชิงนายก อบจ. 14 จว.
โดย พรรคเพื่อไทย (พท.) ส่งผู้สมัครชิงนายก อบจ. 14 จังหวัด ประกอบด้วย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงราย เชียงใหม่ นครพนม มหาสารคาม สกลนคร ศรีสะเกษ บึงกาฬ หนองคาย มุกดาหาร และนครราชสีมา ขณะที่สมาชิก อบจ.ในหลายจังหวัด ก็สวมเสื้อพรรคเพื่อไทย ลงเลือกตั้ง หวังกระแสพรรคในฐานะรัฐบาล เป็นตัวช่วยให้คว้าชัยเลือกตั้ง
กลยุทธ์การหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ใช้จุดแข็งของพรรค และตัวบุคคลเป็นตัวชูโรง เพื่อชิงคะแนนเสียง ประกอบด้วย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง เป็นแม่ทัพใหญ่ขึ้นเวทีปราศรัยชูนโยบายรัฐบาล ที่เชื่อมโยงกับการบริหารท้องถิ่น
ขณะที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัคร ในบางจังหวัด
“ประชาชน”ลุ้น 17 จังหวัด
ส่วน พรรคประชาชน (ปชน.) ส่งผู้สมัครชิงเก้าอี้ นายก อบจ. 17 จังหวัด ครบทุกภาค ประกอบด้วย จันทบุรี ชลบุรี ตราด นครนายก นนทบุรี ปราจีนบุรี พังงา ภูเก็ต มุกดาหาร ระยอง ลำพูน สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี และ เชียงใหม่
กลยุทธ์พรรคประชาชน ใช้ 3 อดีตหัวหน้าพรรค ทั้ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชัยธวัช ตุลาธน 2 อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันเป็นประธานคณะก้าวหน้า รวมถึง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน คนปัจจุบัน นำทีมแกนนำพรรค ดาวกระจายลงพื้นที่ปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัคร ในพื้นที่คาดว่ามีลุ้นคว้าเก้าอี้
ค่ายน้ำเงินหวัง 10 นายกอบจ.
ขณะที่กลุ่มการเมืองเครือข่ายสีน้ำเงิน (พรรคภูมิใจไทย) ส่งผู้สมัครชิงเก้าอี้ นายก อบจ. อาทิ จังหวัดนครพนม มหาสารคาม ศรีสะเกษ บึงกาฬ บุรีรัมย์ พิจิตร ลพบุรี พัทลุง พังงา สตูล
โดยผู้สมัครค่ายสีน้ำเงิน ใช้กลยุทธ์ให้ผู้สมัครที่เป็นทั้งอดีต นายก อบจ. และ ผู้สมัครท้องถิ่น ที่มีฐานเสียงการเมือง ไม่ว่าจะเป็น สจ. เทศบาล และ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล รวมถึงกลไกกระทรวงมหาดไทย สนับสนุนในแต่ละพื้นที่
ภายหลังปิดหีบลงคะแนนเลือกตั้ง นายก อบจ. 47 จังหวัด และ ส.อบจ. 76 จังหวัด วันเสาร์ที่ 1 ก.พ.นี้ มาลุ้นกันว่า “พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาชน-ค่ายสีน้ำเงิน” ใครจะประสบความสำเร็จ คว้าชัยมากที่สุด...
+++++++++
กกต.รายงานผล อบจ.เรียลไทม์
สำหรับการรายงานผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ก.พ. 2568 นี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้อำนวยความสะดวกให้สื่อมวลชน และประชาชน ได้ติดตามการนับคะแนนการเลือก อบจ.ทั้ง 76 จังหวัด ทั่วประเทศ
โดยรายงานผลผ่านจอ 85 นิ้ว หลังปิดหน่วยเลือกตั้ง เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ของวันที่ 1 ก.พ. 2568 ณ ชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รายงานการนับคะแนนเลือกตั้งระดับท้องถิ่น พร้อมกันทั้งประเทศ
สำหรับในพื้นที่การรายงานผลคะแนน มีจอทีวีรายงานผลคะแนน ทั่วทุกภาค ตั้งแต่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ซึ่งมีจอ Interactive รายงานผลรวมทั้งประเทศ พร้อมกันนี้ยังจัดที่นั่งให้ผู้เข้าร่วมได้ติดตามการรายงานผลคะแนนด้วย
+++++++
นอนหลับทับสิทธิ์เสีย 6 สิทธิ
ในวันที่ 1 ก.พ.2568 นี้ หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนไหนไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง อบจ. ตามกฎหมาย จะเสียสิทธิ์ทางการเมือง 6 ประการ ดังนี้
1. เสียสิทธิ์ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
2. เสียสิทธิ์สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
3. เสียสิทธิ์เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
4. เสียสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
5. เสียสิทธิ์ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร ท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
6. เสียสิทธิ์ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น
โดยการจำกัดสิทธิ์จะกำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้งครั้งล่าสุด
++++++
เปิด 7 เหตุจำเป็นไม่ไปใช้สิทธิ์
หากใครไม่สามารถไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ ก็สามารถดำเนินการแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง อบจ. ได้ก่อนวันเลือกตั้ง 7 วัน หรือ หลังเลือกตั้ง 7 วัน
สำหรับเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เช่น
1.มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
2.เจ็บป่วย และไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
3.เป็นคนพิการ หรือ ทุพพลภาพ หรือ ผู้สูงอายุ และไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
4.เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
5.มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
6.ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
7.มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด