“สหรัฐ”เปรี้ยวใส่ไทยหนัก งดออกเสียงประณามรัสเซีย

19 ต.ค. 2565 | 12:35 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2565 | 19:43 น.
5.4 k

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

การลงมติ “งดออกเสียง” ของไทยในเวทีการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (UNGA) ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ซึ่ง ได้มีการจัดลงมติประณามรัสเซียต่อกรณี “บูรณภาพแห่งดินแดน” ผ่านการผนวก 4 ดินแดนของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 กำลังกลายเป็นปมใหญ่ในจุดยืนทางการเมืองของไทย กับ สหรัฐอเมริกา และชาติมหาอำนาจในสหภาพยุโรป
 

การจัดลงมติประณามรัสเซียครั้งประวัติศาสตร์รอบนี้ มี 193 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติร่วมแสดงจุดยืน โดยมี 143 ประเทศสมาชิกที่ลงมติสนับสนุนข้อมติดังกล่าว ในจำนวนนั้นมีประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 7 ประเทศลงมติสนับสนุน 

กลุ่มประเทศสมาชิกที่คัดค้านการลงมติประณามรัสเซียต่อกรณี “บูรณภาพแห่งดินแดน” มี 5 ประเทศ ประกอบด้วย รัสเซีย, เกาหลีเหนือ, เบลารุส, ซีเรีย และ นิการากัว
 

กลุ่มประเทศสมาชิกที่งดออกเสียงมี 35 ประเทศ โดยประเทศไทยลงมติงดออกเสียงร่วมกับ สปป.ลาว เวียดนาม จีน อินเดีย
 

ทั้งๆ ที่ เมื่อช่วงวันที่ 2 มีนาคม 2565 ไทยลงมติ “สนับสนุน” การประณามรัสเซียที่รุกรานยูเครน ในเวทีการประชุมสหประชาชาติไปก่อนหน้า


 

ลึกลับจากทำเนียบรัฐบาลแอบกระซิบผมมาว่า การลงมติงดออกเสียงของไทยในการประณามรัสเซีย ทำให้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ และชาติสมาชิกในกลุ่ม G-20 ไม่พอใจอย่างมาก และอาจนำมาซึ่งการเหวี่ยง “การบอยคอต” การเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ที่รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพในห้วงเดือนพฤศจิกายนก็เป็นไปได้ 
 

“เหวี่ยง” ขนาดว่า “เจ้าหน้าที่ระดับสูง” ของสถานฑูตอเมริกา ประจำประเทศไทยบางคนต้องแสดงท่าทีอันไม่เป็นมิตรกับปลัดกระทรวง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยเลยทีเดียว
 

“เหวี่ยง” หนักขนาดว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงในสถานฑูตอเมริกาประจำประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในทำเนียบขาว สั่งยกเลิกการเจรจาและปัดทิ้งข้อเสนอของรัฐบาลไทยและนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พยายามล็อบบี้ให้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่มีกำหนดการเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ G-20 ในช่วงวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2565 ที่บาหลี อินโดนีเซีย โดยขอให้ โจ ไบเดน บินลงมาแวะจอดที่ประเทศไทย เพื่อหารือกับผู้นำรัฐบาลไทยในช่วงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 แม้ว่าจะไม่เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค เพราะติดภารกิจงานแต่งหลานสาว
 

ลึกลับจากกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า แม้แต่ โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานประเทศไทยและพม่า ณ สำนักงานกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ก็มีปฏิกิริยาไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งในท่าทีของไทยเป็นอย่างยิ่ง
 

เพราะเห็นว่า ไทยมีจุดยืนที่เป็นเสียงส่วนน้อยของอาเซียน และเอนเอียงไปทาง “รัสเซีย-จีน”


 

รัศมิ์ ชาลีจันทร์ เจ้าของเพจ “ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador Returns” และอดีตเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ ไปไกลขนาดโพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าว ว่า “เรื่องที่ไทยงดออกเสียงประณามการผนวกดินแดนของยูเครนโดยรัสเซียในสหประชาชาติ ซึ่งผมได้แสดงความผิดหวังต่อบรรดาข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่มีส่วนในการนี้ ผมได้รับข้อมูลมาจากหลายแหล่งอีกทีว่า เรื่องนี้เป็นการสั่งการมาโดยตรงจากฝ่ายการเมือง โดยอ้างผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ในขณะที่ฝ่ายข้าราชการประจำ ไม่ว่าระดับกรม หรือ ที่ประจำการที่นิวยอร์ก ได้เสนอแล้วว่าให้ไทยออกเสียงสนับสนุนร่างมติดังกล่าวของสหประชาชาติ”
 

....มาถึงตอนนี้มันยิ่งดูชัดเจนว่าเหตุผลที่ไทยงดออกเสียงนั้น มันไม่ใช่เรื่องความต้องการวางตัวเป็นกลางของไทยอะไร แต่คือ แค่ต้องการเอาใจรัสเซียเพื่อหวังให้ ปธน.ปูติน มาร่วมเอเปคแค่นั้นเอง ซึ่งมันน่าอนาถใจมากที่เอาผลประโยชน์ของประเทศชาติในเวทีโลก ไปแลกกับสิ่งนี้เพียงเพื่อฝ่ายบริหารจะได้หน้าจากการมาร่วมประชุมเอเปคของปูติน”
 

แม้ว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พยายามอรรถาธิบายที่ไทยงดออกเสียงว่า “เป็นเพราะเห็นว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในตอนนี้มีความอ่อนไหวและพลุ่งพล่านอย่างมาก ความพยายามหาทางแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจาแทบไม่ปรากฏ มีแต่คิดจะประณามกัน ซึ่งรังแต่จะผลักให้คู่ขัดแย้งหันไปใช้ความรุนแรงมากขึ้น เสี่ยงกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทำลายล้างกัน...”
 

“ไทยรู้สึกเศร้าใจกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับประเทศและประชาชนชาวยูเครน จึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ลดใช้ความรุนแรงและหันหน้ามาเจรจากัน และเรียกร้องให้สหประชาชาติหาทางแก้ไขปัญหาอย่างสันติ เพื่อนำความปกติสุขกลับคืนมาสู่ประชาชนยูเครนและชาวโลก”....


 

ถึงตอนนี้กระทรวงการต่างประเทศยืนยันเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ข้อตกลงในหลากหลายเรื่องในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคนั้น ผู้แทนสหรัฐจะเล่นแง่เพื่อนำไปสู่การ “ดึงเรื่อง” แน่นอน
 

ความหวังของผู้นำรัฐบาลไทยในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 3 ประเด็นใหญ่  
 

เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ (Open) เปิดการค้าการลงทุนเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเอเปค ผ่านการขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of Asia-Pacific: FTAAP) ที่ต้องสะดวก รวดเร็ว และทุกคนต่างได้รับประโยชน์อย่างครอบคลุม ในบริบทของการเจริญเติบโตหลังโควิด-19 รัฐบาลไทยหวังว่าจะสร้างการลงทุนให้เปิดกว้างขึ้น ปรับเปลี่ยนสู่การเจริญเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน
 

สร้างการเชื่อมโยงทุกมิติ (Connect) ฟื้นฟูการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย ผ่านการจัดตั้งกลไกการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ พร้อมหารือแนวทางที่จะช่วยในการส่งเสริม อาทิ การอำนวยความสะดวกให้แก่อาชีพที่สำคัญ เช่น ลูกเรือ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีระบบรหัสแบบกุญแจสาธารณะ ในการแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพในภูมิภาค และการขยายคุณสมบัติของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card: ABTC) ให้ครอบคลุมผู้เดินทางที่เปิดกว้างขึ้น เช่น ผู้ประการรายย่อย โดยหวังว่าจะเป็นวาระเร่งด่วนและต้องดำเนินการให้สำเร็จโดยเร็ว


 

สร้างสมดุลรอบด้าน (Balance) ส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไร ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
 

ข้อตกลงหลักที่ให้ความสำคัญใน 4 ด้านนั้นอาจจะแกว่งเสียแล้ว
 

(1) เศรษฐกิจที่เน้นการเติบโตอย่างทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำ (inclusive economy) มีการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศและการเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิง โดยเน้นแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลา เซเรนาเพื่อสตรีและการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม (La Serena Roadmap for Women and Inclusive Growth) รวมถึงผลักดันการสร้างเครือข่ายสตรีผู้ประกอบการ BCG 
 

(2) พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) มาปรับใช้ เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก และสตาร์ทอัพ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมพร้อมไปกับสร้างผลกำไรทางธุรกิจ 


 

(3) ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Sustainability through managing resources) เช่น การจัดการทรัพยากรป่าไม้ โดยในปีหน้า APEC 2022 จะยังคงส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมป่าไม้ต่อไป และในสี่ปีถัดไปประเทศไทยจะเรียกประชุมรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านป่าไม้ เพื่อส่งเสริมการจัดการและการฟื้นฟูป่าอย่างยั่งยืน รวมถึงมีการรับรองผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ ซึ่งเอเปค จะมีการสำรวจวิธีการเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ที่เก็บเกี่ยวมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
 

(4) ด้านความมั่นคงทางอาหาร (food security) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล เอเปค จะส่งเสริมการใช้ข้อมูลและการวิจัย เพื่อแก้ไขปัญหาขยะในทะเล รวมถึงส่งเสริมการทำประมงรายย่อยและประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน ส่วนด้านแผนงานความมั่นคงทางอาหาร เอเปค จะรับรองความปลอดภัย ความมั่นคง และความยั่งยืนของอาหารสำหรับทุกคน โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เช่น Big Data
 

เหตุงดออกเสียงของไทยจึงบานปลาย กลายเป็นคนละเรื่องเดียวกันเสียแล้วครับ
 

สุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้ชี้แจงเหตุผลของไทยที่ตัดสินใจงดออกเสียงว่า...
 

1.ในฐานะประเทศขนาดเล็กที่มีอำนาจธิปไตย ประเทศไทยยึดถือกฎบัตรบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศเป็นสำคัญ เสมือนแนวป้องกันสุดท้าย ไทยยังยึดถือโดยชัดแจ้งต่อหลักการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐต่างๆ ตามหลักของกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ


 

ประเทศไทยยึดถือนโยบายมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องว่าจะคัดค้านการข่มขู่คุกคามหรือใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐใดรัฐหนึ่งและการใช้กำลังผนวกดินแดนของรัฐอื่นโดยไม่ได้ถูกยั่วยุ
 

2.ไทยเลือกที่จะงดออกเสียงลงคะแนนต่อข้อมติซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศและมีสถานการณ์ขึ้นลงอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นการด้อยค่าต่อโอกาสที่การทูตจะยังผลให้เกิดการเจรจาข้อมติที่สันติและปฏิบัติได้จริงเพื่อแก้ไขความขัดแย้งซึ่งอาจผลักให้โลกไปสู่ความเสี่ยงของสงครามนิวเคลียร์และการพังทลายของเศรษฐกิจโลก
 

3.ประเทศไทยมีความห่วงกังวลอย่างแท้จริงต่อการแบ่งแยกขั้วทางการเมืองที่สูงขึ้นในหลักการระหว่างประเทศซึ่งทำให้เกิดผลในทางลบต่อวิธีการและแนวทางการยุติสงคราม การประณามนั้นยั่วยุให้เกิดความขัดขืนและลดทอนโอกาสของการมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์เป็นอย่างยิ่ง
 

4.ประเทศไทยโศกเศร้าเสียใจกับการทำลายล้างทางกายภาพ ทางสังคม และทางมนุษยธรรมของยูเครนและความยากลำบากที่รุนแรงซึ่งประชาชนชาวยูเครนต้องทนทุกข์ทรมาน ไทยจึงต้องการเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายในโศกนาฏกรรมในยูเครนนี้จะต้องลดความขัดแย้งและความรุนแรง ทั้งพยายามเสาะหาสันติวิธีเพื่อจัดการกับความไม่ลงรอย โดยอิงกับความเป็นจริงที่ปฏิบัติได้และข้อห่วงกังวลจากทุกฝ่าย ความมั่นคงของมนุษย์และสิทธิในการมีชีวิตนั้นเป็นเสาหลักที่สำคัญในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ข้อ3) 
 

ถึงทุกวันนี้สิทธิดังกล่าวได้ถูกพรากจากชาวยูเครนและประชาชนอีกหลาย ล้านคนทั่วโลก มันจึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบสูงสุดขององค์กรที่ได้รับความเคารพสูงสุดแห่งนี้ในการนำสันติภาพและความปกติสุขของชีวิตกลับมาสู่ชาวยูเครน ไม่ใช่โดยการใช้ความรุนแรง แต่ด้วยกลไกทางการทูตเท่านั้นที่จะสามารถนำสันติสุขกลับมาได้จริงและโดยถาวร


คอยดูว่าการเหวี่ยงของสหรัฐต่อไทยจะมาไม้ไหนกันอีกต่อไปหลังจากนี้
 

ความหวังของลุงตู่ในการสร้างความสำเร็จ จากการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคอาจไม่ราบรื่นเสียแล้วลุงเอ๋ย!