Bitkub เอ๋ย..พี่จะบอกไห้! อย่าเล่นกับไฟ ไปกระตุกหนวดเสือ

03 ก.ย. 2565 | 08:00 น.
10.8 k

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

โปรดจับตากันอย่ากระพริบ สำหรับ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BITKUB) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประกาศตนว่า จะเป็นสตาร์ทอัพระดับ “ยูนิคอร์น” ของเมืองไทยและของเอเชีย ที่ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงพระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก 
 

พระศุกร์เข้า Bitkub เมื่อคณะกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBS บริษัทย่อยของ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB มีมติยกเลิกข้อตกลงซื้อหุ้นบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จาก บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ในสัดส่วน 51% คิดเป็นมูลค่ารวม 17,850 ล้านบาท  

แม้ว่า “ท๊อป” จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ออกมาระบุว่า เนื่องด้วยความล่าช้าของธุรกรรมจึงทำให้มีการยุติดีลในครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้กับทั้ง 2 ฝ่ายได้เดินหน้าต่อไป ซึ่งผู้บริหารทั้ง 2 ฝ่าย ได้พิจารณาอย่างที่ถ้วนอย่างรอบด้าน และเห็นตรงกันว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด 
 

แต่สังคม ผู้ลงทุน คนรุ่นใหม่ที่รวยจนกันในพริบตา เริ่มกังขากับเส้นทางของ  Bitkub ไปแล้ว!


 

30 สิงหาคม 2565 พระเสาร์ก็เข้ากระแทก Bitkub อีกดอกใหญ่ คราวนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศลงโทษทางแพ่ง นายสำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี บริษัทลูกของ Bitkub หลังจากตรวจสอบพบว่า มีพฤติกรรมการซื้อเหรียญ KUB จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง 61,107.66 เหรียญ มูลค่า 1.9 ล้านบาท ซึ่งต่างจากพฤติกรรมก่อนเกิดข้อมูลภายใน 
 

ก.ล.ต.เห็นว่า การกระทำของนายสำเร็จ เป็นความผิดฐานซื้อเหรียญ KUB โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน หรือ “อินไซเดอร์” ตามมาตรา 42(1) ประกอบมาตรา 43(1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 70 และมาตรา 72 แห่งพ.ร.ก.ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 จึงสั่งปรับทางแพ่งจากพฤติกรรมใช้ข้อมูลภายใน 8.53 ล้านบาท และสั่งห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 12 เดือน!


 

ที่ต้องบอกว่า โปรดจับตาอย่ากระพริบ เพราะบริษัท Bitkub กำลังเล่นกับไฟ ไปกระตุกหนวดเสือเข้าอย่างจั๋งหนับ
 

เล่นกับไฟชุดแรก บิตคับ กล้าออกประกาศท้าทายคำสั่งผู้กำกับ ผ่านทาง “Bitkub Chain” ว่า นายสำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี ยังปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวตามปกติ จนกว่าจะเกิดความชัดเจนในกระบวนการทางกฎหมาย และการดำเนินการของบริษัท ไม่ได้รับผลกระทบกับเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด
 

ต่อมา นายสำเร็จ ได้กระตุกหนวดเสือเมื่อโพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงข้อมูลว่า ผมรู้กฎหมายเรื่อง Insider trading เป็นอย่างดีว่าเวลาผมทำโปรเจ็กต์ ผมก็จะซื้อ KUB ไม่ได้ ช่วงเวลาที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษ ผมเป็นผู้บริหาร BBT ซึ่งเป็นคนละบริษัทกับ Exchange ดังนั้น ผมกล้าพูดได้ว่า ผมไม่รู้เรื่อง SCB ดีลใด ๆ ทั้งสิ้น….เป็นความบังเอิญที่เป็นเวลาที่ทำดีลกันพอดี….


“ผมได้บอก ก.ล.ต.แล้ว แต่ทาง ก.ล.ต.ก็ยังตัดสินลงโทษอยู่ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีหลักฐานชัดเจนว่าผมกระทำผิด ผมจึงจะขอต่อสู้ในกระบวนการทางกฎหมายต่อไป ผมขอยืนยันว่าผมบริสุทธิ์ใจ และยืนหยัดที่จะพัฒนาเทคโนโลยีของ Bitkub Chain ต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ดีและได้มาตรฐาน”...


 

ความกล้าหาญที่จะต่อสู้กับข้อกลาวหาและบทลงโทษของนายสำเร็จ ผมเห็นว่า เป็นข้อต่อสู้ส่วนตัวที่มั่นใจว่า ไม่ผิด และไม่รับมติสั่งเปรียบเทียบปรับทางแพ่งที่ ก.ล.ต.ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย เสนอให้คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) พิจารณาโทษปรับทางแพ่ง แทนที่จะฟ้องเอา ผิดทางแพ่งและทางอาญาคู่ขนานกัน ตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ (มาตรา 96) 
 

คณะกรรมการ ค.ม.พ.ซึ่งประกอบด้วย 1. อัยการสูงสุด 2. ปลัดกระทรวงการคลัง 3. อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ 4. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ 5. เลขาธิการ ก.ล.ต.จะต้องมีมติอย่างใดอย่างหนึ่งหากมีผู้บริหารบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจเกี่ยวพันกับมหาชน
 

ดังนั้น ผมไม่แปลกใจที่ในวันที่ 31 สิงหาคม ทาง ก.ล.ต.จะออกมาชี้แจงว่า หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมเข้ามาเปรียบเทียบปรับตามช่วงเวลาดังกล่าว กระบวนการต่อไป ก.ล.ต.จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง เพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ในอัตราที่สูงสุดที่กฎหมายบัญญัติต่อไป 
 

แต่ที่ผมแปลกใจมาก คือ การกล้าท้าทายของ บริษัท Bitkub ที่กล้าออกมาสวนทางปืนยืนยันในการทำงานว่า นายสำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี ยังปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวตามปกติ จนกว่าจะเกิดความชัดเจนในกระบวนการทางกฎหมาย
 

ผมขอบอกว่าหนุ่มเหน้าสาวสวย รํ่ารวยความฝันว่า อ้ายน้องอย่ากระตุกหนวดเสือเชียว


 

เพราะก.ล.ต.นั้น มีฤทธิ์เดช มีอำนาจในทางกฎหมายอย่างเหลือล้นในการจัดการกับธุรกิจที่ต้องมีความโปร่งใส รับผิดชอบ ตรวจสอบได้ หากมีคนหมู่มากมาควักเงินจากกระเป๋าไปลงทุน
 

แม้พรก.พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ใน มาตรา 96 จะให้อำนาจการกำกับดูแล ตรวจสอบไว้น้อยกว่า พรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แต่หากใครแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญ ใครผู้ใดกระทำการอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
 

ใคร ผู้ใด ยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล บัญชีธนาคาร บัญชีที่เปิดไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบัญชีอื่นใดที่ใช้ชำระราคาซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือใช้บัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล บัญชีธนาคาร บัญชีที่เปิดไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบัญชีอื่นใดของบุคคลอื่น ย่อมต้องถูกจัดการแน่นอน
 

อย่าได้แปลกใจเลยครับที่ ก.ล.ต. ออกมาบอกในวันรุ่งขึ้นว่า ตอนนี้ได้ประสานความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ในการตรวจสอบรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เพื่อร่วมกันในการสืบสวนและตรวจสอบการกระทำผิดเกี่ยวกับตลาดทุนและสินทรัพย์ดิจิทัล 


 

พี่ขอบอกน้องๆ วัยละอ่อนได้เลยว่า ความยากลำบากกำลังถามหา Bitkub โดยอัตโนมัติแล้ว และความลำบากนั้นมาเยือนในบริบทที่ต่างกัน กฎหมาย ความผิด การทำงาน การซื้อขาย การใช้จ่าย การตรวจบัญชีเส้นทางการเงิน จะถามโถมใส่
 

ผมไปตรวจสอบข้อมูลจากก.ล.ต.มาพบว่า นับตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ก.ล.ต.ได้เข้าไปตรวจสอบพบการกระทำผิดของ Bitkub จำนวนมากถึง 15-16 ครั้ง ถูกสั่งปรับไปก้อนโตรวม 43.5 ล้านบาท
 

5 มกราคม 2564-24 มกราคม 2564 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ยินยอมให้บุคคลที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัท เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการงาน มีความผิดตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ถูกสั่งเปรียบเทียบปรับ 190,000 บาท
 

1 มกราคม 2564 -31 กรกฎาคม 2564 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด เก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าในระบบที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายเมื่อทำธุรกรรมเท่านั้น (cold wallet) น้อยกว่า 90% ของมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าทั้งหมด มีความผิดตามมาตรา 30 ถูกสั่งเปรียบเทียบปรับไป  858,000 บาท
 

ครั้งที่ 3 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (trading rules) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. โดยหยุดซื้อขายเหรียญดิจิทัลสกุล JFIN Coin (JFIN) และ Infinitus (INF) ชั่วคราว มีความผิดตามมาตรา 30 ถูกสั่งเปรียบเทียบปรับ 300,000 บาท
 

8 มกราคม 2564-19 กรกฎาคม 2564 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ไม่รักษากลไกการทำงานของระบบซื้อขายให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย (surveillance) ไม่รัดกุมเพียงพอที่จะทำให้บิทคับทราบธุรกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นการผลักดันราคาจากการแจ้งเตือนของระบบในทันที ผิดตามมาตรา 30 ถูกสั่งปรับ 1,265,000 บาท
 

6 มกราคม 2564 - 28 พฤษภาคม 2564 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ ขาดระบบงานที่รองรับการรวบรวมและประเมินข้อมูลลูกค้าไม่เหมาะสมและเพียงพอ มีความผิดตามมาตรา 30 พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ถูกสั่งเปรับ 398,500 บาท
 

มกราคม 2564 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ รายงานเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบสารสนเทศที่มีความสำคัญ ประเภทระบบหยุดชะงัก ต่อก.ล.ต.ล่าช้ากว่าระยะเวลาที่ประกาศกำหนด ถึง 6 ครั้ง ผิดตามมาตรา 30 ถูกสั่งเปรียบเทียบปรับ 454,000 บาท
 

21 มกราคม 2564 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ มีระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย ระบบรับฝากและถอนทรัพย์สิน และระบบการแสดงยอดทรัพย์สินของลูกค้า ไม่เหมาะสมและเพียงพอ ไม่ต่อเนื่อง มีความผิดตามมาตรา 30 ถูกสั่งเปรียบเทียบปรับ 305,000 บาท
 

5 พฤษภาคม 2565 มีคำสั่งเปรียบเทียบปรับBitkub เป็นเงิน 2,533,500 บาท จากการจดทะเบียน Bitkub Coin เข้าซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BO) ทาง BO โดยคณะกรรมการคัดเลือก อนุมัติเหรียญ KUB เข้าซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ไม่ได้คำนึงถึงมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (COI) จึงมีความผิดตามมาตรา 30 พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล  
 

ต่อมาพบการกระทำผิดอีกทั้งหมด 5 ครั้ง ตามมาตรา 94 ของ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล โดย นายอรรถกฤต ชิมผลาพิบูลย์ ในฐานะประธานกรรมการ, และนายพงศกร สุตันตยาวลี, นายปิยพงษ์ โคตรชนะ, นายสุกฤษฏิ์ พุทธวิริยะ, นายนิธิวัฒน์ มณีสินธุ์ ในฐานะกรรมการในคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BO กระทำการหรือละเว้นกระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้ BO คัดเลือก Bitkub Coin เข้าซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ได้คำนึงถึงมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (COI) จึงมีคำสั่งเปรียบเทียบปรับ รายละ 2.5  ล้านบาท รวมเป็นเงิน 12.66 ล้านบาท 
 

30 มิ.ย. 65 ก.ล.ต.ได้ดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 3 ราย 1.บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด 2.นายอนุรักษ์ เชื้อชัย และ 3.นายสกลกรย์ สระกวี ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัทบิทคับ กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ ของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด จึงสั่งให้ผู้กระทำผิดชำระเงินค่าปรับรวม 24.1 ล้านบาท
 

ผิดพลาด จนถูกสั่งปรับมากมายแบบบี้ เจอตำบลกระสุนตกแน่นอน.....อ้ายน้องเอ๋ย!