พรรค-นักเลือกตั้ง! กล้าเพิ่มรายได้ต่อหัว?

29 ก.ย. 2565 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2565 | 07:23 น.
697

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ตุลาคม 2565 นับเป็นการเริ่มต้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หรือ “แผนพัฒนา ฉบับที่ 13” ซึ่งจะเป็นแม่แบบหรือไมล์สโตนของการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ในทุกกรมทุกกระทรวงไปอีก 5 ปีนับจากนี้  คือ นับตั้งแต่ปี 2566-2570

 

แผนพัฒนา ฉบับที่ 13 นี้มีเป้าหมายสำคัญ คือ เน้นสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เพื่อแก้จุดอ่อนและข้อจำกัดที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม เพื่อนำประเทศไปสู่สังคมก้าวหน้า และสร้างมูลค่าได้อย่างยั่งยืน

 

เพื่อให้เกิดความเข้าใจโรดแมปของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในแง่ภาพรวม ผมขมวดปมให้เห็นถึงแนวทางการผลักดันให้การขับเคลื่อนแผนงานเป็นไปตามเป้าหมาย สศช. ได้กำหนดหมุดหมาย ไว้ทั้งหมด 13 หมุดหมาย ใน 4 มิติ

 

พรรค-นักเลือกตั้ง!  กล้าเพิ่มรายได้ต่อหัว?

1.มิติภาคการผลิตและบริการ มีการกำหนดเป้าหมายไว้ 6 หมุดหมาย

  • ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง
  • ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน
  • ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก
  • ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง
  • ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค
  • ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน

 

พรรค-นักเลือกตั้ง!  กล้าเพิ่มรายได้ต่อหัว?

 

2.มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม มีการกำหนดไว้ 3 หมุดหมาย

  • ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็งมีศักยภาพสูงและสามารถแข่งขันได้
  • ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน และไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง
  • คนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม

 

3.มิติความยั่งยืน ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการกำหนดไว้ 2 หมุดหมาย

  • ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ มี 2 หมุดหมาย ได้แก่ ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน

 

พรรค-นักเลือกตั้ง!  กล้าเพิ่มรายได้ต่อหัว?

พรรค-นักเลือกตั้ง!  กล้าเพิ่มรายได้ต่อหัว?

 

ทั้งหมดนี้คือ โรดแมปของประเทศไทยหลังจากนี้ไป “เรือธง” ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจควรจะเดินไปทางนี้

 

ใครที่เป็นผู้ประกอบการ ควรที่จะยึดเป้าหมายนี้ เป็นองค์ประกอบหลักในการบริหารจัดการ กำหนดทิศทางของภาคธุรกิจให้ตอบโจทย์ของประเทศ

 

หากว่า นี่คือ พันธสัญญาประชาคม รัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคไหน ก็ครจะยึดถือโรดแมป นี้แหละเป็นกรอบยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศ

 

มิใช่พอการเมืองฝ่ายฉันมาก็โละทิ้งยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาฯ ที่กำหนดไว้มาใช้ตามนโยบายที่พรรคการเมืองเห็นสมควร หรือตามความประสงค์ของรัฐบาลใหม่จะเป็นผู้กำหนดใหม่ทั้งหมด

 

เพราะถ้าเป็นแบบนี้ ก็ไม่ควรจะมีการกำหนดแผนพัฒนาฯ มาเป็นแม่แบบ แม่บท ให้เปลืองงบประมาณ เปลืองสมอง เปลืองสติปัญญา และเปลืองพิธีกรรม โดยเปล่าประโยชน์

 

ทว่า โรดแมปเป้าหมาย หรือ หมุดหมายที่ทางสภาพัฒน์กำหนดไว้นั้น เป็นเพียงกรอบยุทธศาสตร์ของเส้นทางการเดินเท่านั้น

 

ผมเห็นว่า สิ่งที่คนไทยจะต้องพิจารณาร่วมกันคือ ดัชนีชี้วัด เพราะนี่คือ เป้าหมายเส้นทางการเดินของของคนไทย

 

พรรค-นักเลือกตั้ง!  กล้าเพิ่มรายได้ต่อหัว?

 

ดัชนีชี้วัดสำคัญมากที่สุดที่มีผลต่อประชาชนมากที่สุดคือ การกำหนดเป้าหมายว่า ภายใน 5 ปีนับจากนี้ไปคนไทยจะได้เห็นภาพชัดเจนที่สุด

  1. ประชากรของประเทศไทย จะมีรายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปี เท่ากับ 9,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือตกประมาณ 300,000 บาท จากปี 2564 รายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปีแค่ 7,097 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือตกประมาณ 227,000 บาท เพิ่มขึ้น 73,000 บาท ใน 5 ปี
  2. ดัชนีความก้าวหน้าของคนอยู่ในระดับสูง เท่ากับ 0.7209  โดยปี 2563 อยู่ที่ 0.6501
  3. ความแตกต่างของความเป็นอยู่หรือรายจ่าย ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุดร้อยละ 10 และต่ำสุดร้อยละ 40  มีค่าต่ำกว่า 5 เท่า โดยปี 2562 มีค่าเท่ากับ 5.66 เท่า
  4. ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบเคียงกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกปกติ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยปี 2561 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานลดลงร้อยละ 16

 

ประเด็นอื่นผมไม่ค่อยสนใจสักเท่าใด เพราะนั่นอาจไม่ค่อยเป็นรูปธรรมต่อปากท้องของประชาชนที่เด่นชัด

 

แต่ประเด็นประชากรของประเทศไทย จะมีรายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปี เท่ากับ 9,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือตกประมาณ 300,000 บาท จากปี 2564 รายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปีแค่ 7,097 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือตกประมาณ 227,000 บาท เพิ่มขึ้น 73,000 บาท ใน 5 ปีนี่ผมสนใจมาก นี่คือความก้าวหน้าของแผนพัฒนาฯ 13 ที่กล้าประกาศว่า คนไทยจะมีรายได้ต่อหัวต่อคนต่อปีสักเท่าใดกันแน่ ในแผนที่ถกเถียงกันมายาวนาน

 

ถ้ายึดเอารายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปี เท่ากับ 9,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือตกประมาณ 300,000 บาท มาเป็นตัวเทียบเคียง เท่ากับว่า ประชากรของประเทศไทยจะมีรายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 14,600 บาท หรือเพิ่มขึ้นปีละ 14,600 บาท เดือนละ 1,216 บาท ตลอด 5 ปี

 

รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยของประชากรไทย 67 ล้านคน เพิ่มเดือนละ 1,216 บาท พอยาไส้ค่าครองชีพของประชาชนหรือไม่ต่างหากที่ควรพิจารณา

 

ท่านคิดว่า การกำหนดเป้าหมายรายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปีไว้ที่ 300,000 บาทในระยะ 5 ปี ข้างหน้า น้อยไปหรือมากไป!

 

พรรค-นักเลือกตั้ง!  กล้าเพิ่มรายได้ต่อหัว?

 

โปรดอย่าลืมครับว่า...จีดีพีต่อหัวหรือ GDP per Capita ไม่เพียงแต่เป็นตัวสะท้อนภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม แต่เป็นตัวสะท้อนภาพกว้างไปถึง “การกินดีอยู่ดี” ของคนในประเทศนั้นๆ

 

ที่สำคัญ เป้าหมายรายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปี ไม่ได้สะท้อนคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศนั้นแต่อย่างใด

 

หากแต่เป็นการกำหนดค่าเฉลี่ยของรายได้ประชากรในแต่ละปี แม้จะไม่ใช่ทุกคนแต่คือค่าเฉลี่ย และต้องไปวัดกับต้นทุนค่าครองชีพจริงของประเทศนั้นๆ ด้วยว่า การกินดีอยู่ดีนั้นเกิดขึ้นจริงแค่ไหน

 

ผมว่ารัฐบาลต้องกล้ายึดเอาการกินดีอยู่ดี เป็นเป้าหมายในการทำงานแล้ววัดเป็น KPI ไปเลย ถ้าตอบโจทย์ว่า การลงทุน แผนงาน นโยบายทั้งหมดในแต่ละปี ที่มาของบประมาณไปใช้ตอบโจทย์การกินดีอยู่ดี รายได้ต่อหัวต่อคนต่อปีดีขึ้นตามเป้าหมาย เอางบไปใช้เลย

 

ทำแบบนี้เอามั้ยครับพี่น้อง!

 

ทำไมผมกล้าเสนอแบบนี้ละครับ เพราะมาเลเซียทำให้เห็นแล้วว่า ทำได้และสามารถยกระดับรายได้ประเทศขึ้น จากรายได้ปานกลางไปยืนเป็นประเทศที่ประชาชนมีรายได้สูงเกือบทะลุปีละ 500,000 บาท หรือ เดือนละ 41,666 บาท คนของเขามีรายได้พอเลี้ยงลูก เลี้ยงครอบครัวได้อยู่สบายแล้วครับ

 

พรรค-นักเลือกตั้ง!  กล้าเพิ่มรายได้ต่อหัว?

 

คราวนี้มาดูความจริงประเทศไทย...ถ้าเรายึดจีดีพีต่อหัวหรือ GDP per Capita ที่เป็นตัวสะท้อนภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และสะท้อนภาพกว้างไปถึง “การกินดีอยู่ดี” ของผู้คน

  • ปี 2560 รายได้ประชาชาติต่อหัวของคนไทย อยู่ที่ 225,095 บาทต่อคนต่อปี
  • ปี 2561 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 236,815 บาทต่อคนต่อปี
  • ปี 2562 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 243,705 บาทต่อคนต่อปี
  • ปี 2563 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 224,962 บาทต่อคนต่อปี
  • ปี 2564 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 232,160 บาทต่อคนต่อปี

 

เห็นตัวเลขแล้วบอกได้ว่า รายได้ของคนไทย วนอยู่ในอ่างครับ! รายได้ประชาชาติต่อหัวต่อคนของปี 2564 ถดถอยน้อยกว่าปี 2561 ครับ!

 

แล้วครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนไทย เดือนละ 27,352 บาท

 

แล้วรายได้เฉลี่ยมาจากไหนบ้าง มาจากการทำงานมากที่สุดคิดเป็น 66.8% (18,255 บาท)  แบ่งเป็นรายได้จากค่าจ้างและเงินเดือน คิดเป็น 42.6%  มาจากกำไรสุทธิจากการทำธุรกิจ 15.8% มาจาก กำไรสุทธิจากการทำเกษตร 8.4%

 

ที่สลดใจร้ายกว่านั้น และเป็นตัวบ่งบอกว่า ไม่พอกินคือ ครัวเรือนไทยจำนวนเกินกว่าครึ่งหรือราว 51.5% มีหนี้สินเฉลี่ยจำนวน 205,679 บาท/ครัวเรือน เป็นหนี้สินที่ใช้ในครัวเรือนมีจำนวนมากที่สุด คิดเป็น 75.4%

 

เป็นหนี้สินจากการใช้จ่ายในการอุปโภค  38% เป็นหนี้สินจากการซื้อ/เช่าบ้านและ/หรือที่ดิน คิดเป็น 35.9% เป็นหนี้สินที่ใช้ในการศึกษาคิดเป็น 1.5% แต่รัฐกลับละเลยใช้ดาต้าเหล่านี้มาประยุกต์ในทางนโยบาย

 

กล้ากันมั้ยละครับหัวหน้าพรรค นักเลือกตั้ง ประกาศไปเลยใน 4 ปีที่อาสามาบริหารประเทศ จะออกนโยบายมาดูแลเพื่อทำให้รายได้ประชาชาติต่อหัวต่อคนต่อปีของคนไทย ไปยืนอยู่ระดับ 3-4-5 แสนบาท

 

ทำแบบนี้ได้...นั่นละ ความกินดีอยู่ดีจะกระจายตัวออกไปในมือประชาชน เพราะเงินเพิ่มขึ้นมาอย่างเป็นกอบเป็นกำ