การดูแลดอกเบี้ยเงินบาทที่ดีจะสามารถสร้างดุลยภาพใหม่ทางเศรษฐกิจและสังคมได้

28 ก.ย. 2565 | 10:15 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2565 | 17:44 น.

การดูแลดอกเบี้ยเงินบาทที่ดีจะสามารถสร้างดุลยภาพใหม่ทางเศรษฐกิจและสังคมได้ โดยสมหมาย ภาษี

การประกาศขึ้นดอกเบี้ยเงินดอลลาร์ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในอัตรา 0.75% เมื่อวันพุธที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะการเงินของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นอย่างมาก การประกาศเพิ่มเติมของประธานเฟดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ในการประชุมเฟดในต้นเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคมปีนี้ เพื่อให้ไล่ทันหรือไล่สกัดอัตราเงินเฟ้อของประเทศสหรัฐอเมริกาให้ได้นั้น ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับธนาคารกลางทั่วโลกมากยิ่งขึ้น
 

เพียงวันสองวันให้หลัง หลายประเทศก็ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยของสกุลเงินของตนให้สูงตามทันที เช่น ประเทศออสเตรเลีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นต้น เข้าใจว่าประเทศอื่นๆ ก็คงทยอยปรับตามมากบ้างน้อยบ้างกันไป ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นที่ได้ประกาศว่าจะยังคงรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยทางการของเงินเยนไว้คงเดิมในอัตราที่ต่ำ -0.10%
 

ความเข้าใจของคนทั่วไปเกี่ยวกับการประกาศศักดาขึ้นอัตราอย่างเข้มเป็นพิเศษของเฟดในครั้งนี้ก็คือเพื่อต้องการสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ทั้งๆ ที่นักเศรษฐศาสตร์และคนทั่วไปก็รู้ว่าเงินเฟ้อสูงทั่วโลกครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยของการผลิตสินค้าสูงขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นสูงมากของราคาน้ำมันและก๊าซ
 

แต่ถ้าพิจารณากันให้ถ่องแท้ ส่วนลึกของการใช้นโยบายนี้ของเฟด ก็เพื่อต้องการรักษาความเชื่อถือในเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐของประเทศต่างๆ ให้ยั่งยืนต่อไป พูดง่ายๆในช่วง 5 - 6 ปีที่ผ่านมา ตอนที่เศรษฐกิจทั่วโลกไม่ค่อยดี สหรัฐก็นำนโยบายปั๊มดอลลาร์ด้วย QE (Quantitative Easing) ออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย จนความเชื่อถือในดอลลาร์ของนานาประเทศลดน้อยลง มาตอนนี้คิดจะดึง QE กลับพร้อมกับการสร้างความมีค่าของดอลลาร์ขึ้นมาใหม่ นำนโยบายขึ้นดอกเบี้ยแบบเข้มมาใช้อย่างหัวปักหัวปำ โดยไม่คิดถึงชาติเล็กชาติน้อยที่ยังลำบากอยู่แม้แต่น้อย

 

ประเทศไทยเราจะปรับอัตราดอกเบี้ยกันอย่างไร ท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงค์ชาติ ท่านก็ได้ออกมาแถลงแนวทางการดูแลค่าเงินบาทไว้เมื่อประมาณต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่าจะดูแลการปรับอัตราดอกเบี้ยของเงินบาทให้รับกับสภาวะของเศรษฐกิจไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสะดุด ซึ่งผมเห็นว่าหากทำตามแนวนี้จริงจะเป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญมาก เพราะเงินบาทเราในปัจจุบันเป็นเงินที่มีความสำคัญมากขึ้นในตลาดการเงินโลก และมีการยอมรับกันกว้างขวาง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอินโดไชน่านี้ เพื่อนบ้านยอมรับว่าบาทเป็นสกุลเงินที่ใหญ่สกุลหนึ่ง ดังนั้น การจะปรับทิศทางของดอกเบี้ยเงินบาท สมควรแล้วที่ต้องใช้ความรอบคอบให้มาก และมีความเป็นตัวตนของตัวเองให้มาก
 

แบงค์ชาติเองเป็นหัวเรือใหญ่ในการช่วยเหลือและร่วมมือกับรัฐบาลในการจัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสุดๆ ให้กับธุรกิจน้อยใหญ่ โดยเฉพาะ SME ทั้งหลาย เพื่อให้มีเงินทุนสำหรับประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงวิกฤตจากโควิด-19 ใน 2 ปีเศษที่ผ่านมา พอภาคธุรกิจมีทีท่าว่าจะฟื้นตัวได้ แล้วจะมาปรับดอกเบี้ยทางการของเงินบาทอีก 0.75% ในตอนนี้ แล้วจะบดขยี้ปรับซ้ำอีก 2 ครั้ง ใน 3 เดือนข้างหน้าอีกอย่างที่เฟดบอกว่าจะทำ แล้วธุรกิจไทยจะอยู่กันรอดได้อย่างไร หากต้องถึงกับต้องเจ๊งกันอีกระลอก ผมอยากถามว่าใครจะเดือดร้อน ก็รัฐบาลอีกนั่นแหละ ส่วนเอกชนก็ต้องพากันเบี้ยวหนี้กันอีกแยะ คนที่จะพลอยเดือดร้อนด้วยก็คือแบงค์ชาตินั่นแหละ มันเป็นเรื่องงูกินหางนะครับ

 

ผมถึงบอกว่าแนวทางการดูแลเรื่องดอกเบี้ยขาขึ้นที่แบงค์ชาติได้วางไว้ว่าจะค่อยทำค่อยไปให้เหมาะสมกับสภาวะของเศรษฐกิจที่กำลังจะดีแต่ยังยักแย่ยักยันอยู่ จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมาก ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างไทย มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มากและแข็งปั๋งในอันดับที่ 13 - 14 ของโลก ขณะนี้มีอยู่เทียบเท่าประมาณ 240,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะมากลัวเรื่องเงินทุนไหลออกจนขนหัวลุกให้คนอื่นเห็น มันก็น่าอายชาวโลกเขานะครับ ถ้าเราไม่กลัวแล้วหันมาดูแลระบบที่เกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ของเราให้ดีมีเสถียรภาพและหนักแน่นเข้าไว้ เงินทุนที่ไหนจะไหลออกก็ให้มันรู้ไป ฉะนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็มีกระทรวงการคลัง แบงค์ชาติ และกลต. จะต้องดูแลธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ ตลาดตราสารหนี้และตลาดหลักทรัพย์ ให้อยู่อย่างมีเสถียรภาพ มีการปฏิบัติตัวตามกฎเกณฑ์และกฎหมาย เท่านั้นเป็นพอ
 

การที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมากด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นแบบเข้ม จะมีผลกระทบต่อไทยอย่างไรบ้าง ในเรื่องนี้มีผู้รู้และเชี่ยวชาญในวงการค้าพูดกันมากว่า ประเทศไทยจะได้รับผลดีมากในด้านสินค้าส่งออกของไทยจะมีราคาถูกลง และนักท่องเที่ยวจะเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในเมืองไทยจะถูกสำหรับนักท่องเที่ยว ฟังดูตามทฤษฎีน่าจะเป็นเช่นนี้ แต่ถ้าดูให้ลึกลงไปอาจได้ผลเพียงส่วนน้อยเท่านั้น
 

ก่อนอื่นต้องรู้ว่าการสูงขึ้นของค่เงินนั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นเงินดอลลารัสหรัฐเพียงสกุลเดียวที่ปรับค่าสูงขึ้นไปมากในตอนนี้ เมื่อเทียบกับช่วงตันปี ส่วนเงินสกุลที่สำคัญๆ อื่นล้วนแต่ค่าต้องทรุดต่ำลงทั้งสิ้น ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา (สิ้นสุด 27 ก.ย. 65) คำเงินสกุลหลักต่างๆ เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐลดลงดังนี้ ยูโร (- 21.73%) ปอนด์สเตอร์ลิง (- 27.33%) เยนของญี่ปุ่น (- 30.60%) หยวนของจีน (-10.81%) รูปีของอินเดีย (- 10.30%) รูเปียห์ของอินโดนีเซีย (- 5.86%) และเงินบาทของไทย (13.46%)
 

ดังนั้น ในเมื่อชาติต่างๆ ค่าของเงินอ่อนลงด้วยกัน การส่งออกและนำเข้ากับประเทศต่างๆ ยกเว้นกับประเทศสหรัฐอเมริกาก็จะไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกันมากนัก ถือว่าครือๆกัน และเช่นเดียวกัน นักท่องเที่ยวจากประเทศในยุโรป จากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จากจีนหรืออินเดีย จากตะวันออกกลางและจากประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ชอบมาท่องเที่ยวในประเทศไทยก็จะไม่รู้สึกว่าจะเสียค่าใช้จ่ายถูกลงแต่อย่างใด โดยสรุปแล้วผลดีที่จะบังเกิดแก่ไทยก็จะมีค่อนข้างน้อย ประเทศที่จะได้เปรียบในครั้งนี้น่าจะมีประเทศญี่ปุ่นประเทศเดียวที่กล้ายืนแข็งไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยเลย ทำให้ค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงถึงร่วม 30% มากกว่าประเทศอื่นใด
 

เรื่องที่อาจถูกกระทบมากก็คือการกู้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐของไทยทั้งภาคเอกชนและภาครัฐซึ่งรวมถึงรัฐวิสาหกิจต่างๆ ของไทย แต่เมื่อดูภาระหนี้ต่างประเทศแล้ว ก็มียอดคงค้างเป็นสกุลดอลลาร์ไม่มากภาคเอกชน ด้านต่างๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินต่างๆ และบริษัทใหญ่ๆ นั้น แทบทั้งหมดได้ทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้แล้ว ในภาครัฐบาล ท่านผู้อ่านอาจเกรงว่าไทยจะถูกกระทบมากเพราะหนี้สาธารณะของไทยมีถึง 60% กว่าของ GDP แล้ว แต่ข้อเท็จจริงเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม 2565 มีหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจอยู่เพียง 170,900 ล้านบาท หรือ 1.67% ของหนี้ภาครัฐทั้งหมด และหนี้จำนวนนี้ได้ทำการปิดความเสี่ยงไปแล้ว 63% ที่ยังทำการปิดความเสี่ยงไม่เสร็จส่วนใหญ่เป็นเงินกู้เยนที่รอการเบิกจ่ายให้จบ และอีกส่วนหนึ่งเป็นหนี้สกุลยูโรของการบินไทยที่ยังอยู่ในแผนฟื้นฟู
 

ถึงเวลาที่สามารถทำการดูแลอัตราดอกเบี้ยเงินบาทให้ดี เพื่อสร้างดุลยภาพใหม่ทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยให้ได้ ทั้งนี้ จากการถือโอกาสช่วงที่ทุกประเทศต่างประสบภาวะค่าเงินตกต่ำ และถูกบีบจากประเทศสหรัฐให้ต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยตามในตอนนี้ ผมคิดว่าถึงเวลาที่แบงค์ชาติควรหยิบฉวยโอกาสนี้เข้าไปดำเนินการตามนโยบายที่ได้พูดไว้ จริงๆ แล้วมีใครกล้าดูลูกแก้ววิเศษแล้วบอกว่าค่าเงินบาทควรอยู่ที่ 34 - 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำไมไม่ปล่อยให้ค่อยๆปรับจนเกิดเสถียรภาพในระยะปานกลาง ซึ่งอาจจะอยู่ที่ 38 - 39 บาทต่อดอลลาร์ก็ได้
 

ผมว่าเวลานี้เป็นช่วงที่ประเทศไทยควรดูแลอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ในระดับอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า การปล่อยให้เป็นไปในลักษณะนี้ในช่วง 6 เดือนแรก อาจมีการเคลื่อนย้ายของเงินทุนที่เป็นเงินตราต่างประเทศไหลออกไปบ้าง 30,000 - 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ไม่ต่ำกว่าระดับ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็เกินพอเมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้าที่ไทยพึงมี และเมื่อมองถึงการอ่อนตัวของน้ำมันดิบที่ลื่นไหลลงมาอยู่ในระดับประมาณ 70 - 90ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าทำมากขึ้น เทียบกับประเทศอื่นๆแล้ว เงินทุนสำรองระหว่างประเทศระดับนี้ไทยก็ยังติดอันดับ 20 ประเทศต้นๆ ที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงและมั่นคงในโลกนี้
 

ณ อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐที่ 38 - 39 บาท นอกจากจะดูว่าระบบการเงินของไทยยังมีเสถียรภาพดีอยู่ แล้วยังสนับสนุนการส่งออกและการนำนักท่องเที่ยวให้เข้ามาประเทศไทยมากขึ้นแล้ว ยังเป็นอัตราที่จะสนับสนุนหนี้สาธารณะของไทยที่จะอยู่ที่ระดับ 70 - 80% ของ GDP ได้อย่างเท่ห์ไม่มีที่ติ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลต่อไปสามารถเพิ่มงบประมาณเข้าไปมากพอที่จะเร่งการลงทุนโดยใช้เงินบาทให้มากขึ้น และเปิดโอกาสให้รัฐบาลจัดงบสวัสดิการ และงบการพัฒนาด้านสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพให้ประชาชนได้มากขึ้นกว่าทุกวันนี้
 

นี่แหละคือหนทางการสร้างดุลยภาพทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตใหม่ให้กับคนไทยทั้งชาติ ถ้าจะผิดไม่ได้ตามนี้ก็มีแค่เรื่องคอร์รัปชั่นทุกระดับเต็มบ้านเต็มเมืองเท่านั้น ควรที่จะต้องมีผู้นำของรัฐบาลใหม่ที่มีน้ำยาในการขจัดเรื่องนี้ได้อย่างจริงจังมาบริหารประเทศสักทีเถอะ