KEY
POINTS
พงศาวดารว่านางจงหยกผู้นี้มีอาวุธวิเศษเหน็บหลังพอโยนขึ้นฟ้าตกลงมาถูกนายทหารจีนที่ขี่ม้าอยู่ถึงกับสลบตกจากหลังม้า คุณชายคึกฤทธิ์สันนิษฐานอย่างมีอารมณ์ขันไว้เบื้องต้นว่า งานนี้น่าจะเป็นสากกะเบือ ตามสำนวนสักวาเก่าที่ร้องกันว่า “ฝนตกแดดออก นกกระจอกเข้ารัง แม่หม้ายใส่เสื้อสากกะเบือเหน็บหลัง”
“หวนรำลึกชาติไทยสมัยก่อน
ครั้งเชียงแสนเทพนครยังเป็นใหญ่
เกิดสงครามรามประชิดติดเวียงชัย
ไทยสู้จนขาดใจเพื่อไทยรัฐ
เบ้งเฮ็กรบกลับพ่ายมาหลายครั้ง
หมดกำลังอธิปไตยใกล้วิบัติ
เฉลิมเกียรติหญิงไทยให้เห็นชัด
นางจกหยกออกสกัดศัตรูไว้
นางชื่อเรียงเสียงไรไม่ปรากฏ
ด้วยจีนเรียกเพี้ยนไปหมดสุดเดาได้
แต่พฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าเป็นไทย
ควรเทอดไว้เป็นศรีสตรีเอยฯ”
ในระหว่างที่ได้ภรรยาออกไปยันศึกนี้เบ้งเฮ็กกระวนกระวายรอพันธมิตรผู้ใหญ่มาช่วยนั่นก็คือบกลกไต้อ๋องหรือพ่อขุนบกลกเจ้าเมืองปัดหลับตองฟังดูก็คล้ายสันป่าตอง_สนุกดี
ลักษณะ lanna warrior ของพ่อขุนบกลกไต้อ๋องนี้มีความสมบูรณ์แบบสอดคล้องตามอย่างขุนแผนวรรณคดีไทยในยุคหลังได้บันทึกเอาไว้นานับประการ คาแรกเตอร์ของท่านไม่ธรรมดาคล้ายแสนตรีเพชรกล้าในแง่มนต์วิชชาแต่ความสง่างามต่างๆออกลักษณะไปทางทรงเจ้านายฝ่ายเหนือ
กล่าวคือ ว่าครานั้น
‘ไต้อ๋องทรงเครื่องกษัตริย์ ใส่เสื้อพื้นทองประดับพลอยเหน็บดาบใหญ่สองเล่ม ขี่คอช้างเผือกยืนอยู่ มีทหารถือธงใหญ่แห่หน้าช้างคนหนึ่ง มีทหารซึ่งเป็นควาญสำหรับขี่สัตว์ร้ายคู่หนึ่ง ส่วนทหารเกณฑ์รบนั้นมิได้ได้เสื้อเกราะ หน้าตาก็ผิดจริตคน (พงศาวดารจีนค่อนจะเหยียด) แล้วก็มิได้ตีกลองแลม้าฬ่อ ตีแต่ฆ้องเรียกคนเป็นสำคัญ’
การที่บกลกไต้อ๋องใช้ช้างเผือกเป็นพระราชพาหนะนั้นก็แสดงให้เห็นแล้วว่า บกลกไต้อ๋องย่อมขึ้นไปจากราชอาณาจักรทางใต้ที่มีโขลงช้างป่าอยู่ก็เห็นจะได้รับวิชาช้างคชศาสตร์จากขอมจากแขกเข้าไปแล้ว จึงได้นิยมว่าช้างเผือกนั้นเป็นสัตว์ที่คู่ควรเป็นราชพาหนะ กองทัพขณะนั้นปรากฏมีธงชัยเฉลิมพล เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จยาตราทัพไปด้วยพระองค์เอง ก็มีทหารเชิญธงนั่งอยู่หน้าช้างพระที่นั่ง ธงนั้นมีความหมายเป็นมิ่งขวัญของกองทัพพ่อขุน ผิดกับธงสีต่างๆ ที่ใช้กันในกองทัพจีนสมัยเดียวกัน เพราะลงในทัพจีนนั้นใช้เป็นเครื่องประดับ และใช้เป็นจำนวนมากให้ดาษดา ส่วนประดาไพร่ราบทหารเลวก็ไม่ได้ใส่เสื้อเกราะ
จูล่งถึงกับเอ่ยปากอุยเอี๋ยนว่าตั้งแต่เด็กหัดรบจนทำสงครามมาบัดนี้ ก็ยังไม่ได้เห็นขบวนศึกประหลาดอย่างนี้เลย
เหตุที่สุภาพบุรุษแห่งเซียงสานถึงขั้นประสาทเสียเมื่อเห็นกองทัพของพ่อขุนบกลกนั้นก็เพราะพูดยังไม่ทันขาดคำ เสียงระฆังก็รัวขึ้นบกลกไต้อ๋องกระทำการร่ายมนต์อยู่บนหลังช้างเผือกสักครู่หนึ่ง ฤทธิ์เวทย์คาถาอาคมของท่านก็บันดาลให้เกิดพายุใหญ่พัดมา
ลมพายุนั้นพัดเอาก้อนหินศิลากระเด็นมาดั่งห่าฝน ถูกทหารจีนบาดเจ็บล้มตาย เกิดเหตุอลหม่านกันขึ้นในกองทัพ ทุกฝ่ายพากันวิ่งหลบก้อนหินกันวุ่นวาย ในขณะนั้นเองบกลกไต้อ๋องก็เปลี่ยนสภาพจากขุนแผนกลายเป็นทาร์ซาน ท่านเป่าเขาควายเสกขึ้นด้วยเสียงอันดังแล้วก็เกิดเหตุว่ามีประดาสัตว์ร้ายวิ่งพุ่งออกมาจากป่าเป็นอันมากตรงเข้าใส่ทหารจีนฝ่ายตรงข้ามไล่กัดกินเอาตามใจชอบ ฝ่ายทหารจีนกำลังตื่นพายุลูกเห็บหินอยู่นั้นโดนสัตว์ประหลาดเข้าไล่กัดซ้ำเป็นครั้งที่สองก็หมดปัญญาจะสู้รบ ร้องแรกวิ่งแหกแตกหนีเตลิดเปิดเปิงไปคนละทาง ขนาดเตียวจูล่งยังต้องขับม้าหนีเข้าค่ายเอาตัวรอด
ซึ่งควรจะต้องแทรกไว้ในที่นี้ว่าอันวิชาประเภทว่าวิชาเสือสมิงหรือการแปลงคนเป็นเสือนั้นมีอยู่ไม่ใช่ด้วยเหตุว่าเป็นเรื่องสนุกนึกอยากจะเป็นเสือสาง แต่เป็นด้วยว่าในราชการสงครามสมัยก่อนนั้นจำเป็นจะต้องมีหน่วยสอดแนมไปสืบราชการลับกองกำลังฝ่ายตรงข้าม จะมาเที่ยวเดินไปในลักษณะเป็นผู้เป็นคนก็จะถูกจับได้เสียลับกันหมด จำจำจะต้องแปลงร่างเป็นเสือเปนจระเข้ ออกไปทำงาน เมื่อออกไปทำงานแล้วก็ตกลงกับผู้ที่อยู่ในที่มั่นว่าเมื่อกลับมาแล้วจะต้องใช้ไม้หน้าสามไม้คานตีเข้ากี่ทีถึงจะแปลงร่างกลับเป็นคนได้ ไม่ใช่อยู่อยู่นึกอารมณ์ดีอยากจะเป็นผีเป็นเสือสมิงอะไรกับเขาขึ้นมา จึงมาฝึกวิชานี้
กลับมาที่ขงเบ้งได้ทราบข่าวการเรียกเอาสัตว์ป่าเสือไพรมาช่วยงานทำราชการของไต้อ๋องบกลกก็คิดหาทางซ้อนกลโดยการใช้ไม้แกะเป็นรูปสัตว์ร้ายต่างๆเขียนลายทาสีให้เหมือนของจริงแต่ข้างในนั้นขงเบ้งใส่ดินระเบิดมีล้อเข็นให้เดินได้ รูปอันนี้หรือว่าหุ่นสัตว์นี้ก็มีไว้เพื่อลวงสัตว์ร้ายที่ไต้อ๋องนำมาใช้ในการรบ ด้วยของเบ้งรู้ดีว่าสัตว์ป่าหาจะกลัวสิ่งใดมากไปกว่าไฟและดินปืน ถ้าไปจุดไฟจุดดินระเบิดเฉยๆสัตว์ก็จะไม่กล้าเข้าใกล้จำจะต้องทำการปลอมสัตว์ขึ้นมาเป็นหุ่นให้สัตว์จริง ตายใจพอเข้าใกล้จุดไฟระเบิดเสียก็จะสามารถพิฆาตทัพสัตว์ป่าของพ่อขุนบกลกได้ดับสะเหมียงเกลี้ยงกล้อง
ในการออกปะทะกันครั้งสุดท้ายฝ่ายไทยแพ้ยับเยิน พ่อขุนโดนระเบิดตายในที่รบ ขงเบ้งเข้ายึดเมืองงินแขได้ เปนอันสูญเสียนครหลวงแก่กองทัพจีนจนสิ้น รอบนี้เบ้งเฮ็กของเราหมดกำลังซมซานต้องบากหน้าไปพึ่งเจ้าเมืองออโกโก้ก ชื่อพญาลุดตัดกุด
อันพญามีชื่อท่านนี้ ลือกันว่ามีพละกำลังมากตัวสูงสามศอกกินแต่เนื้อสัตว์และผลไม้เป็นอาหารทั้งมีวิชาคงทนสารพัดอาวุธ
ยิงฟันแทงไม่เข้า
กองกำลังทหารของลุดตัดกุดมีเทคโนโลยีทำเสื้อเกราะอ่อนชนิดเบาใช้หวายแช่น้ำมันไว้หกเดือนถักมาเป็นเสื้อเกราะพอจะข้ามน้ำก็ใช้เกราะนี้ช่วยพยุงตัวข้ามฟากไปได้แลละม้ายคล้ายยุคพระร่วงใช้ครุชันยา ทำชะลอมตักน้ำไม่มีผิด
ฝ่ายจีนมีความเครียดมากเพราะกองทัพจีนใส่เสื้อเกราะโลหะมีน้ำหนักมากแม้จะป้องกันอาวุธได้มีศักยภาพแต่ถึงคราวจะต้องข้ามน้ำก็พลาดพลั้งลงไปจมน้ำตายหลายที
พญาลุดตัดกุดมีความคับแค้นในการที่ขงเบ้งยกทัพมาย่ำยีแว่นแคว้นแดนไทยเรามาก ในฐานะที่ตนเองก็เป็นคนไทยเรา_จำจะต้องออกหน้าปกป้องดินแดน ท่านจึงส่งกองทัพหน้ากองกำลัง 30,000 ไปรับทัพขงเบ้งอยู่ที่ริมแม่น้ำ แถมใช้เกราะเบาพาตัวข้ามน้ำไปรบอีก! ขงเบ้งเองมีความพึงพอใจในการที่เบ้งเฮ็กไปเที่ยวชักนำเอาเจ้าเมืองไทยต่างๆมาเข้าสงครามคราวนี้ เพราะจะได้ไม่ต้องออกตามล่าตัวให้ยุ่งยาก สะดวกแก่การกำจัด
งวดนี้ขงเบ้งยังคิดแผนการดีกว่าระเบิดไม่ได้จึงวางแผนนำมาประยุกต์เปนประทัดเหล็กออกใช้ในราชการสงครามกล่าวคือมีดินระเบิดอย่างเดียวไม่พอแต่ต้องมีสะเก็ดระเบิดฝังอยู่ในนั้นด้วยใช้วิธีทำทีพ่ายแพ้ล่อให้พญาลุดฯ หลุดเข้าในที่ล้อมซึ่งฝังเอาประทัดเหล็กไว้เป็นอันมาก เมื่อท่านไสช้างนำทหารเข้าพื้นที่สังหาร (killing field) ฝ่ายจูล่งได้ทีจุดชนวนระเบิด ก็ประทัดเหล็กแตกออกตัดศีรษะแขนขาผู้คนไทยเรา (ไทยลาว)ทั้งหลายตายสิ้นเหม็นกลิ่นศพฟุ้งตลบไปทั่วบริเวณ
ขงเบ้งสะอึกอยู่ในใจเมื่อเห็นภาพอันสยดสยองนี้สั่งให้เตี๋ยวหนีคุมทหาร 1000 คน ไปหาเบ้งเฮ็กแล้วลวงว่า พญาลุดฯ เอาชนะล้อมขงเบ้งไว้ได้ให้เบ้งเฮ็กรีบยกทหารกองหนุนขึ้นไปช่วย ฝ่ายเบ้งเฮ็กหลงกลเห็นเตียวหนีทำทีตะลีตะลานแตกทัพเข้ามาสวามิภักดิ์ก็หลงเชื่อในกลอุบายรีบยกทัพตามขึ้นไปบนภูเขาหวังใจจะเห็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพันธมิตรแต่กลับได้พบซากศพทหารไทยนับ หมื่นไหม้เกรียมอยู่ส่งกลิ่นฟุ้งอุบาทว์ตลบทั่วไปก็ถึงกับตกใจสิ้นสติร้องขึ้นด้วยเสียงอันดังเหมือนอย่างเสียงของเสือที่ถูกอาวุธกำลังดับสูญชีพหมดพลังอำนาจในความเป็นเสือลงในบัดนั้น
ถูกทหารจีนจับมัดไว้ได้เป็นครั้งที่เจ็ด และยอมจำนน กลายเป็นเมืองขึ้นของจีนแต่นั้นมาขงเบ้งวางอุบายแยบยลให้เบ้งแฮ็กเป็นเจ้าประเทศราชถวายความภักดีแต่เมืองจีนและสร้างศาลเจ้าประจำตนของขงเบ้งเอาไว้ให้เซ่นสรวงบูชาแทนที่ศาลผีดั้งเดิม
คุณชายคึกฤทธิ์ท่านตั้งคำถามชวนคิดเอาไว้ในหนังสือชุดเบ้งเฮ็กนี้ ตอนบทข้างท้ายๆว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ปัจจุบันในยุคผู้คนทางเหนือล้านนายังพากันมีวัฒนธรรมฟ้อนผีที่เรียกว่าผีมดผีเม็ง อันเป็นการฟ้อนรำบูชาบรรพบุรุษจะเป็นเรื่องที่ว่า คำว่าเบ้ง/เม็งนั้นแท้แล้วหรือจะคือคำเดียวกัน : เบ้งเฮ็ก_เม็งเฮ็ก
หากจะพูดกันว่าศาสนาหลักของฝ่ายทั้งนี้เป็นการนับถือผีก็ต้นตระกูลสายเม็ง แซ่เม็งนั่นไงคือท่านเม็งเฮ็ก โดยเป็นการรำบวงสรวงบรรพบุรุษท่านนี้ ผู้ซึ่งมีวีรกรรมกล้าหาญและสืบทอดต่อสายลูกหลานต่างๆเรื่อยมาในแถบดินแดนทางตอนเหนือของไทย
โดยท่านเล่าประสบการณ์ ในราว 20 ปีต่อมาจากการเขียนเรื่องนี้ว่า
“ผีมดผีเม็งนี้เป็นผีบรรพบุรุษนะครับ คนในภาคพายัพนี่แบ่งกันได้เป็นสองตระกูลหือสองเชื้อสายเรียกว่าผี ผีแปลว่าตระกูลก็ได้ ถามได้เลยใครเป็นผีอะไร ถ้าเป็นผีเม็งก็บอกว่าผีเม็ง ผีมดก็บอกว่าผีมด”
แล้วถึงปีนี่เวลาเทศกาลก็มีการเซ่นผี คนที่เป็นผีมดก็ฟ้อนผีมด คนที่เป็นผีเม็งก็ไปฟ้อนผีไปทำการเซ่นสรวงบรรพบุรุษที่เรียกว่าผีเม็ง คำว่าผีใดนั้นผมเข้าใจว่าเป็นการสืบเชื้อสายมาจากคนไทยที่เรียกว่าคนเมือง…ถือกันคล้าย ๆ กับเป็นแซ่ของคน ส่วนพิธีกรรมนั้นผิดกัน เวลาฟ้อนผีมดนั้นต้องปลูกกระโจมใหญ่แล้วมีผ้า …ห้อยลงมา ลูกหลานถ้าต้องการผีเข้าก็ไปโหนผ้าที่ผูก ผีเข้าก็ออกฟ้อน ..
“..ผีเม็งนั้นฟ้อนกลางแจ้ง มีการตั้งเครื่องเซ่นกลางแจ้ง..เซ่นสรวงบรรพบุรุษปิดรายการด้วยการรำดาบ…แล้วก็ผีเม็งหรือทั้งสองผีนั่นแหละจะต้องมีคนผู้หลักผู้ใหญ่ในละแวกบ้านที่เรียกว่าต้นผี ….เป็นผู้ที่ติดต่อกับบรรพบุรุษได้ แล้วก็จะมีการทำพิธี ส่วนการเข้าผี ผีเข้านั้นไม่ใช่เข้าแต่ผู้ใหญ่คนเดียว ซึ่งอาจจะไม่เข้าเลย เข้าลูกหลานทุกคนใครก็ได้ที่เข้าไปนั่งอยู่นั้น การแสดงอาการว่าผีเข้าก็คือการออกไปฟ้อนออกไปรำ”
“ครั้งหนึ่งสมัยผมอยู่ลำปาง มีโรงเรียนของมิชชันนารี โรงเรียนวิชานารี โรงเรียนสตรีสอนศาสนาคริสต์ ก็มีชาวเมืองไปเรียนมาก ถึงเทศกาลฟ้อนผีก็มีเสียงดนตรีดังใกล้ ๆ โรงเรียน ขณะนั้นนักเรียนกำลังสอบ นั่งสอบกันไปสอบกันมา เกิดผีเข้าทั้งชั้น ร้อนออกจากห้องไปฟ้อนผี.. อันนี้ผมก็ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ก็คงจะเป็นผีเม็งอีกล่ะ นี่เป็นเรื่องที่น่าศึกษาวิจัยกันต่อไปเพราะการเข้าผีแบบนี้เป็นการเข้าผีที่เป็นประเพณีดั้งเดิมของภาคเหนือ มีมาช้านานมาก และก็เป็นเรื่องความผูกพันทางสายโลหิต”
ส่วนกรณีคุณผู้อ่านทักถามมาถึงว่าเบ้งเฮ็กท่านออกไปรำเขนเข้าสู้ศึกเป็นอย่างไรขออนุญาตนำรูปการรำเขนสมัยปัจจุบันที่สำนักนาฏศิลป์วังหน้าประกอบไว้ตามแนบมา