KEY
POINTS
เมื่อวันพุธที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันตรุษจีน ผมขอให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆทุกท่าน ขอให้ท่านจงประสบแต่ความสุข ความเจริญ เฮงๆรวยๆ ซินเจียหยู่ยี่ ซินนี้ฮวดใช้ เซ็งที่เกี่ยนคัง!!!!
ทุกๆปีเทศกาลตรุษจีน ทางบริษัทผมจะมีการหยุดงาน และจะเปิดงานในวันชิวสี่ หรือตามปฎิทินของจีน ก็คือวันที่ 4 ของเดือนแรกของปี แต่ปีนี้ตัวผมเองกลับไม่ได้พักผ่อนเลย เพราะงานรุมเร้าถึงตัวมากมาย อีกทั้งมีนัดกับแขกผู้มีเกียรติที่นัดหมายเข้ามาพบ ซึ่งวันพุธที่เป็นวันชิวอิกหรือตรงกับวันตรุษจีน ผมได้มีโอกาสต้อนรับแขกพิเศษ 3 ท่าน หนึ่งในนั้นก็มีอาจารย์แพทย์ด้านโรคหัวใจ (Cardiologist) ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง ท่านกรุณามาเยี่ยมเยือนผม ในการสนทนากับท่าน ท่านได้ให้ความรู้ใหม่ๆมากมายแก่ผมทีเดียว หนึ่งในเรื่องที่ท่านได้กล่าวถึง คือเรื่องของ “Cytokines” ซึ่งก็ทำให้ผมต้องกลับบ้านมานั่งสืบค้นหาบทวิจัยต่างๆออกมาอ่านดู ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากสำหรับคนแก่อย่างผมทีเดียวครับ
ในความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์ทุกคน เมื่อเราอายุมากขึ้น ร่างกายของเราก็จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง นั่นเป็นเพราะความเสื่อมของอวัยวะของเราได้มาถึงแล้ว และหนึ่งในนั้นที่มีความสำคัญมาก ก็คือ ระบบภูมิคุ้มกัน ที่ค่อยๆเสื่อมลงไปตามกาลเวลา เมื่อภูมิคุ้มกันไม่ทำงานเต็มที่เหมือนเดิม ผู้สูงวัยก็จะมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อหรือเกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ หรือระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ หนึ่งในระบบที่สำคัญในกระบวนการนี้คือ ระบบคอมพลีเมนต์ (Complement System) และ ไซโตไคน์ (Cytokines) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อ และควบคุมการอักเสบโดยธรรมชาติได้สร้างมาในตัวของมนุษย์ การทำงานผิดปกติของทั้งสองระบบนี้อาจนำไปสู่โรคหลายชนิด โดยเฉพาะในผู้สูงวัยที่มีความเสี่ยงสูง
ระบบภูมิคุ้มกันที่กล่าวมาทั้งสองตัวนี้ ล้วนมีความคล้ายคลึงกันมาก แต่ถ้าเรามาแยกดูกันทีละตัว เริ่มจากระบบคอมพลีเมนต์ (Complement System)ก่อน โดยตัวแรกนี้ เป็นกลุ่มโปรตีนที่อยู่ในเลือดของเรา ซึ่งจะมีหน้าที่ทำงานร่วมกัน ในการต่อสู้กับเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา ระบบนี้จะช่วยทำลายเชื้อโรคโดยตรง หรือกระตุ้นให้เซลล์ภูมิคุ้มกันอื่นๆ มาเข้าจัดการได้ดียิ่งขึ้น เมื่อเกิดการติดเชื้อเกิดขึ้นกับตัวเรา ระบบคอมพลีเมนต์จะถูกกระตุ้นให้ทำหน้าที่ต่างๆ เช่น ทำลายเชื้อโรค โดยการทำให้ผนังเซลล์ของเชื้อโรคแตก หรือทำเครื่องหมาย (opsonization) ให้เซลล์ภูมิคุ้มกันรู้จักและกำจัดเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น
ในผู้สูงวัย การทำงานของระบบคอมพลีเมนต์อาจไม่เต็มที่ เหมือนตอนที่ร่างกายยังหนุ่มแน่นอยู่ พอแก่ตัวลงไประบบนี้อาจถูกกระตุ้นไม่เพียงพอ หรือทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ผู้สูงวัยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ถ้าระบบคอมพลีเมนต์ไม่สามารถจัดการกับเชื้อโรคได้ดี ก็อาจทำให้เชื้อโรคลุกลามจนทำให้มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นนั่นเองครับ
ส่วนตัวต่อมาที่ท่านอาจารย์แพทย์ในวันนั้นกล่าวถึง ก็คือไซโตไคน์(Cytokines) ตัวนี้จะเป็นโปรตีนที่เซลล์ภูมิคุ้มกันสร้างขึ้น เพื่อส่งสัญญาณและช่วยประสานงานการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน โดยไซโตไคน์มีบทบาทในการช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกัน และช่วยการอักเสบให้เป็นไปอย่างเหมาะสม อีกทั้งทำการควบคุมการเจริญเติบโตและการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ซึ่งตัวไซโตไคน์นี้ สามารถแบ่งออกเป็นหลายชนิด เช่น อินเตอร์ลูคิน (Interleukins) อินเตอร์เฟอรอน (Interferons) และทูมอร์เนครอซิสแฟคเตอร์ (Tumor Necrosis Factor :TNF) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน
โดยปกติในผู้สูงวัย การผลิตไซโตไคน์อาจผิดปกติ หรือผลิตในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน หรือโรคข้ออักเสบ และในบางกรณีการผลิตไซโตไคน์มากจนเกินไป ก็อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีเนื้อเยื่อของตัวเอง จนเกิดโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง เช่น โรคภูมิตนเอง(Systemic Lupus Erythematosus : SLE) ถ้าเราพูดถึงโรคแพ้ภูมิตนเอง เราอาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าจำกันได้ ในวันที่ 13 มิถุนายน 2535 ประเทศไทยเราสูญเสียราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ในยุคนั้นเราฟังจากข่าว ก็ทราบแต่เพียงว่า เธอได้เสียชีวิตเพราะโรคแพ้ภูมิตนเอง หรือ SLE นี่แหละครับ ต่อมาพอเราพูดถึงโรคนี้ทุกคนก็เลยขนามนามเจ้าตัวร้ายนี้ว่า “โรคพุ่มพวง”นั่นแหละครับ
ถ้าจะให้เข้าใจง่ายขึ้น เรามาดูว่าโรคพุ่มพวง (SLE) และการทำงานผิดปกติของระบบคอมพลีเมนต์และไซโตไคน์นั้นเป็นอย่างไร? โรคพุ่มพวง (Systemic Lupus Erythematosus - SLE) เป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองที่พบได้บ่อยในผู้สูงวัย โดยระบบภูมิคุ้มกัน จะทำร้ายเนื้อเยื่อของร่างกายเราเอง แทนที่จะปกป้องจากเชื้อโรค โรคพุ่มพวงมักมีอาการอักเสบที่ผิวหนัง ข้อ และอวัยวะภายใน เช่น ไตและหัวใจ ซึ่งสาเหตุสำคัญของโรคนี้ คือความผิดปกติของระบบคอมพลีเมนต์และไซโตไคน์ ในผู้ป่วยโรคพุ่มพวงมักจะทำงานผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถกำจัดเซลล์หรือสารที่ตายไปแล้ว ออกจากร่างกายได้ ซึ่งทำให้เซลล์เหล่านั้น สะสมและกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีเซลล์ของตัวเอง สารไซโตไคน์ที่มากเกินไปอาจทำให้การอักเสบเพิ่มขึ้น และกระตุ้นการทำลายเนื้อเยื่อในอวัยวะต่างๆ ทำให้โรคนี้มีความรุนแรงมากขึ้น ผลกระทบจากการล้มเหลวของระบบคอมพลีเมนต์และไซโตไคน์ในผู้สูงวัย มีผลกระทบหลายประการ เช่น การติดเชื้อเรื้อรัง เมื่อระบบภูมิคุ้มกันไม่ทำงานเต็มที่ การติดเชื้อจากเชื้อโรคต่างๆ อาจลุกลามและกลายเป็นเรื้อรังได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้สูงวัยมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกที่อันตราย เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด หรือการติดเชื้อที่ไม่สามารถรักษาได้ง่ายนั่นเอง นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดมีการอักเสบเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นโดยไม่สามารถควบคุมได้ จะเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน หรือโรคข้ออักเสบ ทำให้ร่างกายของผู้สูงวัยเสื่อมสภาพเร็วขึ้น
การล้มเหลวของทั้งสองระบบดังกล่าว ยังอาจทำให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ความล้มเหลวของระบบภูมิคุ้มกัน อาจทำให้ร่างกายเริ่มโจมตีเนื้อเยื่อของตัวเอง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ เช่น โรคพุ่มพวง (SLE) หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งทำให้มีอาการอักเสบในข้อและทำลายเนื้อเยื่อที่สำคัญยิ่งครับ
มาถึงตรงนี้แล้ว ก็ต้องมีคำถามว่า เราควรจะมีการดูแลสุขภาพและป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจากการล้มเหลวของระบบคอมพลีเมนต์และไซโตไคน์ในผู้สูงวัยได้อย่างไร? ตอบแบบง่ายๆกำปั้นทุบดิน ก็คือ ถ้ามีอาการผิดปกติในโรคต่างๆที่กล่าวมานั้น ก็ไปพบแพทย์เถอะครับ หรือถ้าไม่อยากมีอาการดังกล่าว ก็ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควรทานอาหารที่หลากหลาย มีสารอาหารครบถ้วน เช่น ผัก ผลไม้ โปรตีนจากแหล่งต่างๆ และไขมันที่ดี หรือการออกกำลังกาย เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ต้องมีการพักผ่อนและการนอนหลับเพียงพอ ก็อาจจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพประจำปี และการตรวจภูมิคุ้มกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้พบปัญหาภูมิคุ้มกันผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ และรักษาได้ทันเวลา ก็คงได้แค่นี้แหละครับ