KEY
POINTS
เมื่อวันที่ 21 ที่ผ่านมา ผมมีพี่สาวที่เคารพรักท่านหนึ่ง ได้เดินทางมาเยี่ยมลูกชายของท่านที่กรุงเทพฯ เลยถือโอกาสมาหาผมที่ออฟฟิศด้วย หลังจากที่พูดคุยกันจบ ผมได้เชิญท่านไปทานห่านพะโล้ที่ร้านฉั่วคิมเฮงเจ้าดัง ซึ่งท่านก็ทานได้เยอะมาก เพราะเป็นร้านที่ท่านโปรดปรานมานาน ทุกครั้งที่มากรุงเทพฯท่านจะต้องไม่พลาดที่จะไปทานเสมอ หลังจากทานอาหารเสร็จ ขณะที่เดินทางกลับ ผมสังเกตเห็นท่านมีอาการเรอและหาวหลายๆครั้ง ซึ่งมีอาการเหมือนคนที่เป็นโรคกรดไหลย้อน จึงได้เรียบๆเคียงๆถามท่านว่า กลางคืนนอนหลับสบายมั้ย เพราะดูเหมือนท่านจะมีอาการนอนไม่พอ ซึ่งก็เป็นไปตามที่ผมคาดไว้ แต่ผมก็มิบังอาจจะพูดให้คำแนะนำอะไร เพราะผมไม่ใช่แพทย์ครับ
อันที่จริงเรื่องโรคกรดไหลย้อน(Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) ในผู้สูงวัย เป็นเรื่องที่ไม่แปลกอะไรเลย แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะโรคนี้อาจจะส่งผลไปยังอาการที่ไม่พึงประสงค์ได้ด้วยเช่นกัน โรคนี้มีสาเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อกรดในกระเพาะอาหารได้ไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหาร ซึ่งจะทำให้เกิดอาการแสบกลางอก ท้องอืด เรอเปรี้ยว หรือบางคนอาจจะรู้สึกเหมือนอาหารติดคอ หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงตามมา โดยเฉพาะในผู้สูงวัย เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ระบบการทำงานของร่างกายจะเริ่มเสื่อมลง เช่น กล้ามเนื้อที่ช่วยป้องกันการไหลย้อนของกรด อาจไม่ทำงานได้ดีเหมือนเดิม ทำให้กรดไหลย้อนเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น
ผู้สูงวัยที่เป็นโรคกรดไหลย้อน ส่วนใหญ่อาการของโรคอาจจะไม่เด่นชัด บางครั้งอาการที่เกิดขึ้น อาจจะไม่ได้ทำให้รู้สึกแสบหน้าอกเหมือนคนทั่วไป แต่จะมีอาการอื่นๆ ที่คล้ายกัน เช่น ท้องอืดและจุกเสียดแน่นเฟ้อ หรือบางครั้งอาจมีอาการเรอเปรี้ยว หรือรู้สึกเหมือนมีรสเปรี้ยวในปาก คลื่นไส้หรืออาเจียนเมื่อทานอาหาร บางคนอาจจะมีอาการเจ็บหรือแสบคอ เหมือนมีอะไรค้างอยู่ในลำคอ ซึ่งตัวผมเองเมื่อหลายปีก่อน ก็เคยมีอาการเช่นนี้เหมือนกัน จำได้ว่าในช่วงนั้นยังหนุ่มแน่นอยู่ เลยไม่ได้ไปพบแพทย์ แต่ก็แค่ไปซื้อยาที่ร้านขายยามาทาน ซึ่งเป็นยาประเภทแก้กรดไหลย้อนแล้วก็ดีขึ้น ต่อมาพี่สาวผมที่เป็นเภสัชกร ก็บอกให้ปรับพฤติกรรมการทานอาหารเล็กน้อย และปรับอิริยาบถของการนอน อาการของกรดไหลย้อนก็ไม่มีอีกเลยครับ นั่นอาจจะเป็นเพราะร่างกายยังแข็งแรงอยู่ก็ได้ครับ
เมื่อเราอายุมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดอาการนี้ก็มีมากขึ้น คงจะต้องระมัดระวังมากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคนี้ ถ้าหากปล่อยให้โรคกรดไหลย้อนเป็นเรื้อรังโดยไม่รักษา ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ เช่น การเกิดแผลในหลอดอาหาร เพราะเมื่อกรดไหลย้อนเกิดขึ้นบ่อยๆ จะทำให้เกิดการระคายเคืองในหลอดอาหาร จนเกิดเป็นแผลหรือการอักเสบ ซึ่งทำให้คนแก่อย่างเรา จะรู้สึกเจ็บเวลาอาหารผ่านลงไปในหลอดอาหารได้ครับ หรือในกรณีที่กรดไหลย้อนเกิดขึ้นเป็นเวลานานๆ อาจทำให้หลอดอาหารตีบแคบลง ทำให้การกลืนอาหารลำบากหรืออาจรู้สึกเหมือนอาหารติดคอ หรืออาจก่อให้เกิดมะเร็งหลอดอาหารได้ เพราะการที่กรดไหลย้อนมีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยๆ จะทำให้เซลล์ในหลอดอาหารเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งหลอดอาหาร (Barrett's Esophagus) ซึ่งเป็นภาวะที่เซลล์ในหลอดอาหารเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งในภายหลังได้เช่นกันครับ
สำหรับสาเหตุที่พบบ่อยในผู้สูงวัย มักจะเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างมีแนวโน้มเสื่อมสภาพลงเมื่ออายุมากขึ้น ส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นได้ง่าย อีกสาเหตุหนึ่งคือผู้สูงอายุที่มีน้ำหนักตัวเกิน (ก็อ้วนนั่นแหละครับ) หรือมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หรือโรคปอด อาจมีความดันในช่องท้องสูง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกรดไหลย้อนได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังเกิดจากการใช้ยาบางชนิด ที่ผู้สูงวัยใช้รักษาโรคเรื้อรัง เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาต้านการอักเสบ หรือยาขยายหลอดเลือด อาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารทำงานลดลงนั่นเองครับ ดังนั้นการใช้ยาอะไรก็ตามที่ติดต่อกันเป็นเวลานานก็ต้องระมัดระวัง ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเสมอครับ
แนวทางการดูแลตนเองให้ปลอดจากโรคนี้ เราสามารถใช้การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นอาการโรคดังกล่าว อาทิเช่น อาหารที่มีความมัน อาหารรสเผ็ดจัด และกาแฟหรือช็อกโกแลต เป็นต้นครับ การงดสูบบุหรี่และงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังคงเป็นเรื่องที่สูงวัยอย่างพวกเรา ต้องควรระวังเช่นเคยครับ อีกเรื่องหนึ่งที่ควรระวัง คือการหลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ควรรออย่างน้อย 3-4 ชั่วโมงค่อยนอน ส่วนใหญ่คนที่มีโรคอ้วนมักจะชอบมีพฤติกรรมเช่นว่านี้เสมอครับ
ผลของการเป็นโรคกรดไหลย้อน นอกจากจะทำให้เกิดโรคต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังส่งผลต่อการนอนหลับของผู้สูงวัยได้ เพราะการที่กรดไหลย้อนในขณะนอนหลับ จะทำให้รู้สึกแสบกลางอก หรือลำคอจะรู้สึกระคายเคือง ผู้สูงวัยอาจตื่นขึ้นกลางดึกหลายครั้ง นอกจากนี้ยังส่งผลให้นอนหลับไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดความอ่อนล้าในตอนเช้า หรือลดพลังงานในร่างกาย ทำให้สุขภาพโดยรวมไม่ดีขึ้น การนอนหลับที่ไม่สนิทยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ หรือความดันโลหิตสูงได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากมีการปรับอิริยาบถในท่านอน เช่น มีการยกหัวเตียงหรือใช้หมอนที่สูงขึ้นเล็กน้อย (ประมาณ 15-20 เซนติเมตร) อาจจะช่วยให้กรดไหลย้อนน้อยลงในขณะนอนหลับได้ นอกจากนี้การนอนตะแคงข้างซ้าย ก็สามารถช่วยลดการไหลย้อนของกรดได้ด้วยเช่นกัน
กรดไหลย้อนในผู้สูงวัย เป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม การดูแลตนเองและการรับคำแนะนำจากแพทย์เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น การปรับพฤติกรรมที่เหมาะสม จะช่วยให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งยังลดความเสี่ยงจากโรคนี้ได้ด้วยครับ