สวัสดีปีใหม่ 2025 ปีแห่งความท้าทายของเมียนมา

30 ธ.ค. 2567 | 08:00 น.

สวัสดีปีใหม่ 2025 ปีแห่งความท้าทายของเมียนมา คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

อีกสองวันก็จะจบสิ้นปี 2024 แล้ว ปีนี้เป็นปีที่ประเทศเมียนมามีแต่ความสับสนวุ่นวาย เริ่มตั้งแต่การมาของปัญหาเศรษฐกิจ ที่ถึงแม้จะไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากความไม่สงบภายในประเทศเท่านั้น ยังมีปัญหาต่อเนื่องและยืดเยื้อมาจากการที่ประเทศเมียนมาถูกสังคมจากต่างประเทศบอยคอตจนส่งผลให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน ที่ตกต่ำที่สุดตั้งแต่ยุคปี 1990 ที่ผมเข้าไปทำมาหากินที่นั่นเป็นต้นมา ซึ่งยังไม่เคยพบกับอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่ำเพียงนี้มาก่อน เราคงไม่ต้องสืบหาต้นตอของปัญหา ทุกคนก็คงทราบอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม อีก 2-3 วันก็จะผ่านพ้นไปจากปีที่เลวร้ายที่สุดนี้ จึงได้แต่อ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้า จงดลบันดาลให้ประเทศเมียนมากลับคืนสู่ความสงบสุขและสันติภาพด้วย...เทอญ

อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้อธิบายในบทความนี้ถึงเหตุการณ์ที่มีทั้งดีและร้ายของปีที่ผ่านมาไปแล้ว ในอาทิตย์นี้ผมอยากจะขออนุญาตชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่ประเทศเมียนมาจะต้องเผชิญในอีกหนึ่งปีข้างหน้านี้ ว่าจะต้องฟันฝ่าอุปสรรคที่เห็นอยู่เบื้องหน้าตลอดปี 2025 ให้ผ่านไปด้วยดีได้อย่างไร? ขอให้พวกเราอ่านและคิดตามผมนะครับ ผมอาจจะไม่ได้ใช้วิชาด้านโหราศาสตร์มาทำนาย แต่ผมจะขอเอาความรู้เล็กๆ น้อยๆ ทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่ผมเคยสอนอยู่หลายปี อีกทั้งผมเคยทำมาหากินที่นั่นมานานกว่า 34 ปี มาวิเคราะห์ให้เราดูกันนะครับ

สิ่งแรกที่จะต้องมาวิเคราะห์กันก็คือ “ปัญหาด้านเศรษฐกิจของเมียนมา” เป็นอันดับแรก ถ้าจะดูทางด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคก่อน ก็ต้องมาดูด้านของการบริโภค (Consumption) หรือการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนก่อน การกระตุ้นให้ประชาชนภายในประเทศของเมียนมาได้มีเงินทองมาจับจ่ายใช้สอยนั้น ต้องบอกว่ายากมากๆ เพราะผลผลิตสำคัญของประเทศเมียนมา ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตทางด้านการเกษตรพื้นฐาน ซึ่งแม้จะมีผลผลิตออกมาตามคาดการณ์ของภาครัฐ แต่การขายผลผลิตที่มีอยู่ยังมีปัญหามาก เพราะประเทศเมียนมามีปัญหาการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นเกษตรแปรรูปนั้น โรงงานหลายๆ แห่งไม่สามารถผลิตได้ การจ้างงานซึ่งเป็นรายได้หลักของแรงงานภายในประเทศเมียนมา ก็ทำงานได้ไม่เต็มกำลังการผลิต อีกทั้งยังไม่สามารถส่งออกได้ นี่จะเป็นปัญหาใหญ่และท้าทายรัฐบาลเมียนมาเป็นอย่างยิ่งครับ

มาดูรายได้ทางด้านการท่องเที่ยว ก็ยังไม่สามารถที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศเมียนมาเหมือนช่วงปี 2011-2018 ได้ จึงทำให้รายได้ด้านการท่องเที่ยว และธุรกิจต้นน้ำและปลายน้ำของการท่องเที่ยวก็ยังคงต้องลำบากต่อไปอีกปีแน่ๆ ครับ ผมเคยคุยกับน้องๆ เด็กไทยใหญ่ที่เป็นไกด์ในการท่องเที่ยวอยู่หลายคน บางคนถึงกับต้องทิ้งอาชีพไกด์ไปเลยครับ หรือร้านค้าที่ทำธุรกิจด้านร้านอาหารก็จะมีเพียงบางร้านเท่านั้นที่สามารถอยู่รอดได้ ส่วนใหญ่เป็นร้านสำหรับขายให้ชาวเมียนมาด้วยกัน จึงพอจะอยู่ได้ แต่ร้านที่เปิดรับแต่นักท่องเที่ยวช่วงปีที่ผ่านมาก็ลำบากกันถ้วนหน้า เชื่อว่าปีนี้ก็จะยังคงเหมือนๆ เดิมครับ ส่วนรายได้จากร้านเจมส์ (Jewelry) ในอดีตปี 2012-2019 เป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะๆ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน เวลาเข้าร้านขายหยกหรือพลอย ส่วนใหญ่จะกวาดยกตู้กันเลยครับ แต่วันนี้เงียบเหงามากๆ

ต่อมาเรามาดูด้านการลงทุน (Investments) หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การลงทุนจากต่างประเทศ นอกจากนักลงทุนจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและนักลงทุนจากประเทศไทยบางส่วนที่ยังมีหลงเหลืออยู่บ้าง แต่นักลงทุนจากประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่จะถอนทุนกลับเกือบเกลี้ยง ในขณะที่นักลงทุนจากต่างประเทศใหม่ๆ มีน้อยมากที่จะเข้าไปลงทุน ทำให้การจ้างงานในประเทศ แม้จะมีค่าแรงที่ต่ำที่สุดในภาคพื้นนี้ (เพียงวันละไม่ถึงสองเหรียญสหรัฐอเมริกา) ก็ยังไม่สามารถดึงคนเข้าไปลงทุนได้ ดังนั้นในปีหน้าก็จะยังคงมีการลงทุนเข้าไปน้อยถึงน้อยมากอยู่ดีครับ

ในส่วนด้านงบประมาณแผ่นดิน (Government) ในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ รัฐบาลยังคงมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศหลงเหลืออยู่มาก แต่หลังจากที่รัฐบาลเมียนมาถูกแทรกแซงจากประเทศตะวันตก โดยการนำของสหรัฐอเมริกาและกลุ่มยุโรป (EU) นอกจากนี้ยังมีประชาคมนานาชาติอื่นๆ จนทำให้รัฐบาลเมียนมาต้องพยายามใช้นโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น การขออนุญาตใบนำเข้า (Import license) ที่ต้องมี Earning Money หรือเงินที่ได้มาจากการส่งออกก่อน จึงจะได้รับอนุญาต และการบังคับใช้มาตรการภาษีอย่างเข้มข้น อีกทั้งเงินตราต่างประเทศในตลาดเมียนมาก็ค่อนข้างจะหายากมาก นั่นเป็นอุปสรรคของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ใช้ในงบประมาณแผ่นดินนั่นเอง ในปีนี้ก็ยังคงมีปัญหาดังกล่าวนี้ต่อไปครับ

สุดท้ายคือการส่งออกและนำเข้า (Export-Import) ซึ่งเป็นเรื่องรายได้ประชาชาติ (GDP) ที่ต้องอาศัยปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นตัวชี้วัด การส่งออกของเมียนมา จะเป็นกลุ่มของพลังงาน แร่ อัญมณี สินค้าประมง สินค้าเกษตรพื้นฐาน และแรงงาน เรามาดูเป็นรายตัวก่อน พลังงาน ลูกค้าสำคัญมีอยู่สองราย คือไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นสำคัญ และส่วนใหญ่จะเป็นการส่งทางท่อ ซึ่งในปีหน้านี้สินค้าพลังงานจะยังคงเป็นพระเอกต่อไป ตัวที่สองคือ แร่หรือทรัพย์ในดิน ในอดีตจะมีการส่งออกแร่พลวง (Antimony), แร่ตะกั่ว (Lead ore), แร่ถ่านหิน (Coal Mineral), แร่ลิกไนต์ (Lignite Ore) เป็นต้น ในอดีตลูกค้าใหญ่ๆ ก็เจ้าเดิมนั่นแหละ ส่วนอัญมณี ที่มีทั้งทับทิม หยก และ Blue sapphire หรือพลอยไพลินที่มีลูกค้าอยู่ทั่วโลก ส่วนสินค้าประมงที่มีประมงน้ำจืดและประมงน้ำเค็ม ลูกค้ายังคงเป็นไทย จีน อินเดีย และบังกลาเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มีทั้งการค้าทางอากาศและทางทะเล ก็ยังคงยากลำบากมากเช่นเคยครับ

ส่วนสินค้าเกษตรพื้นฐาน ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเป็นลูกค้าชายแดนที่ปัจจุบันนี้ด่านชายแดนยังคงมีการปิดด่านอยู่หลายแห่ง จะมีลูกค้าที่นอกเหนือจากลูกค้าที่มีชายแดนติดกับประเทศเมียนมาจริงๆ น้อยมาก ซึ่งสินค้าที่เป็นเกษตรพื้นฐาน เช่น ถั่วนานาชนิด ก็จะเป็นประเทศอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ และประเทศแถบตะวันออกกลางเป็นหลัก ส่วนข้าวสารก็จะมีประเทศแถบแอฟริกาไม่กี่ประเทศเท่านั้น ในปีหน้าผมก็ยังเชื่อว่าแม้จะยังคงมีการค้าต่างประเทศอยู่บ้าง แต่ก็เพิ่มได้ไม่มากแน่นอนครับ นอกเสียจากว่าประเทศเมียนมาจะเปิดตลาดรัสเซียได้ ก็จะเป็นทางออกให้การค้าระหว่างประเทศได้ครับ

ส่วนปัญหาเรื่องแรงงาน ซึ่งเป็นปัญหาหนักที่สุดของเมียนมาขณะนี้ ผมขออนุญาตยกยอดไปเล่าในอาทิตย์หน้าครับ เพราะอาทิตย์นี้หน้ากระดาษหมดแล้วครับ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ