ลดดอกเบี้ยนโยบายรอบ 4 ปี เปิดทางดอกเบี้ยขาลงของไทย

19 ต.ค. 2567 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2567 | 10:13 น.

ลดดอกเบี้ยนโยบายรอบ 4 ปี เปิดทางดอกเบี้ยขาลงของไทย : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4037

ถือว่าเซอไพรส์ให้กับตลาดพอควร สำหรับมติ 5 ต่อ 2 ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ท่ามกลางเสียงในตลาดฟันธงตรงกันว่า กนง.จะยังเสียงแข็งเดินหน้าคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ไว้ระยะหนึ่งก่อน เพื่อรอดูตัวเลขเศรษฐกิจที่จะออกมา หลังรัฐบาลได้กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงิน 10,000 ให้กับกลุ่มเปราะบางไปแล้ว 14.5 ล้านคน 

การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ จึงถูกมองว่า เพื่อลดความร้อนแรงระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับการเมือง จากก่อนหน้าที่บรรดาฝ่ายการเมืองออกมาดาหน้ากดดันให้ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง 

แม้ว่าเลขานุการ กนง. “สักกะภพ พันธ์ยานุกูล” จะออกมายืนยันว่า ไม่ได้เป็นแรงกดดันจากการเมือง แต่ยังมีรูมที่จะปรับสมดุลได้ เพราะการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ เป็นการปรับสมดุลเรื่องการดูแลหนี้ครัวเรือน ให้กระบวนการปรับลดหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ สอดคล้องกับภาระหนี้และรายได้ของประชาชน 

ขณะที่หนี้ครัวเรือนล่าสุด ไตรมาส 2 ปี 2567 มียอดคงค้าง 16.32 ล้านล้านบาทชะลอลงจาก 16.36 ล้านล้านบาท ในไตรมาส 1 ซึ่งหนี้ครัวเรือนไทยชะลอลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ในไตรมาส 2 นั้น เติบโตเพียง 1.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นการเติบโตที่ตํ่าที่สุดในสถิติข้อมูลหนี้ครัวเรือนที่ย้อนหลังได้ถึงปี 2546 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า หนี้ครัวเรือน ปี 2567 อาจโตตํ่ากว่า 1.0% ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี จะชะลอลงมาอยู่ในกรอบ  88.5-89.5% แต่ในระดับครัวเรือนยังสะท้อนความสามารถในการรับมือกับปัญหาหนี้ที่แตกต่างกัน เพราะหนี้รถทยอยหดตัว สินเชื่อบ้านโตช้า แต่หนี้เพื่ออุปโภคบริโภคอื่นๆ ที่ไม่ใช่บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังเติบโต และหนี้จากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่แบงก์และแบงก์รัฐทยอยเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินว่า การลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 2.50% ต่อปี เป็น 2.25% ต่อปี ถือเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ และไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.7% และ 2.9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ที่ 0.5% และ 1.2% ในช่วงปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ

ดังนั้น การเริ่มต้นปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดทางดอกเบี้ยขาลงของประเทศไทยได้เริ่มแล้ว แม้ว่าในระยะข้างหน้าจะไม่เห็นการลดดอกเบี้ยนโยบายลงในอัตราที่มากนัก แต่แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทย จะเหมาะสมกับระดับเศรษฐกิจขณะนี้

สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือ การประกาศลดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อบรรเทาภาระให้ประชาชนทั่วไป 

หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,037 วันที่ 20 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2567