กรมศิลปากร จัดนิทรรศการ "จารึกไทยในอดีต"

29 มี.ค. 2567 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2567 | 01:13 น.

ห้ามพลาด กรมศิลปากร เปิดเอกสาร ล้ำค่า "จารึกสยาม" ให้ชม ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึง 30 มิถุนายน พ.ศ.2567 

ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดนิทรรศการบันทึกสยาม เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และกรมศิลป์จะเปิดให้ประชาชน เข้าชมตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึง 30 มิถุนายน 2567 

บันทึกสยามมีอะไรบ้าง 

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า บันทึกสยามประกอบด้วยเอกสารล้ำค่าบอกเล่าเรื่องราว การเปลี่ยนผ่าน จากรัฐจารีตแบบดั้งเดิมสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่ ในห้วงศตวรรษที่ผ่านมา

กรมศิลป์ จัดแสดงเอกสารต้นฉบับ 41 ชุด กว่า 200 รายการ ล้วนเป็นเอกสาร ทรงคุณค่าสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย 

 


ในการจัดนิทรรศการครั้งนี้แบ่งออกเป็น 6 หัวข้อ

1. จารจารึกบันทึกสยาม เป็นเอกสารโบราณในรูปของศิลาจารึก หนังสือสมุดไทย และเอกสารใบลานได้แก่ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ นันโทปนันทสูตรคำหลวง คัมภีร์อัลกุรอาน ไตรภูมิฉบับพระมหาช่วยจารที่วัดปากน้ำ จินดามณี จุลศักราช 1144 รามเกียรติ์ บทละครมหาชาติคำหลวง และอุรังคธาตุ สะท้อนให้เห็นเค้าโครงประวัติศาสตร์ ช่วงสมัยสุโขทัย จนถึงก่อนการปฏิรูปประเทศไทยในรัชสมัยรัชกาลที่ 5



2. แผนภูมิแผ่นดิน จัดแสดงแผนที่โบราณของไทย และตราประจำจังหวัด
 


3. นิติสารเมื่อเพรงกาล เล่าขานประวัติศาสตร์ไทย นำเสนอเอกสารด้านกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กฎหมายตราสามดวงสนธิสัญญาเบาว์ริงรวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับการเลิกทาส



4. เมื่อแรกมีการพิมพ์ จัดแสดงเอกสารชุดแรกๆ ในสังคมไทยโบราณ เมื่อการจัดพิมพ์ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบตะวันตกเข้ามาเช่นหนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอร์เดอร์ เป็นต้น
 

 

5. ต้นร่างสร้างเมือง เรืองรองศิลปกรรม แสดงเอกสารการออกแบบการก่อสร้างอาคารสำคัญตามตะวันตก

6. ด้วยความทรงจำอันงดงามและความคิดถึง ย้อนระลึกถึงวันวานกับของสะสมสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมตะวันตกที่มีต่อชีวิตและสังคมไทย เช่น การเขียนจดหมาย และการส่งไปรษณีย์ เป็นต้น
 


กรมศิลปากร เปิดให้ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ ระหว่างวันที่ 28 มี.ค. - 30 มิ.ย.2567 ในเวลา 09.00 - 16.00 น. (ปิดวันจันทร์ - วันอังคาร) ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
 


(ภาพและเรื่องโดยกรมศิลปากร)