การพลัดตก หกล้มของผู้สูงอายุ

04 พ.ย. 2566 | 05:00 น.
941

การพลัดตก หกล้มของผู้สูงอายุ คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ผมมีเพื่อนร่วมรุ่นในการเรียนดุษฎีบัณฑิตด้านสาธารณสุขศาสตร์ ซึ่งเธอได้ทำดุษฎีนิพนธ์เรื่อง การพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุ ซึ่งผมได้เข้าร่วมรับฟังเธอ Present งานมาทุกครั้ง ซึ่งก็ได้รับความรู้ใหม่ๆ มาทุกครั้งเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าการพลัดตกหกล้มจะมีอันตรายรุนแรงอย่างที่เธอบรรยาย จนกระทั่งตนเองได้ประสบกับปัญหาดังกล่าว แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวผมเองก็ตาม แต่ก็ได้เกิดกับเพื่อนผู้สูงวัย ที่ได้เดินทางไปดูงานที่ไต้หวันด้วยกัน จึงได้รู้สึกว่า เออ..แหะ ที่เธอพูดถึงนั้น ช่างเป็นเรื่องที่น่าหนักใจและน่าเป็นห่วงสำหรับผู้สูงอายุจริงๆ

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับคณะกรรมการบริหารของสมาคมจงหัวแห่งประเทศไทย ที่เราได้รับเชิญจากรัฐบาลไต้หวัน ให้เดินทางไปดูงานด้านการศึกษาและเยี่ยมเยือนหน่วยงานราชการต่างๆ ของไต้หวันเขา ในการเดินทางไปครั้งนี้ มีผู้ร่วมเดินทางทั้งหมด 31 ท่าน หากรวมอายุของทุกท่านแล้ว ก็เกินกว่าสองพันปีไปมากๆ แล้วครับ หัวหน้าคณะที่นำโดยนายกสมาคมฯ คุณณรงค์ ก็บอกกับทางราชการไต้หวันว่า ขอความกรุณาอย่าจัดโปรแกรมแน่นมากเกินไป เพราะพวกเราแต่ละท่าน ก็ล้วนแต่เป็นคนอายุมากๆ ด้วยกันทั้งนั้น คณะกรรมการที่อายุน้อยที่สุด ก็คือผมที่อายุปาเข้าไปถึง 68 ปีเข้าไปแล้ว ท่านอื่นๆ คงไม่ต้องอธิบายนะครับว่าอายุเท่าไหร่? ในวันแรกของการดูงาน เขาก็ให้คณะเราไปเยี่ยมเยือนดูงานที่กรุงไทเป เช้าหนึ่งแห่งบ่ายหนึ่งแห่ง และเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ในช่วงบ่ายทางรัฐบาลไต้หวันยังได้ให้คณะเราเซ็นชื่อในใบสมัครประกันอุบัติเหตุ ซึ่งมีวงเงินเอาประกันมากถึงท่านละ 250,000 NT$ ก็ประมาณ 265,000 บาท ตอนแรกผมยังนึกขำๆ เลยว่า แหม...ช่างละเอียดจริงๆ เนอะ คงไม่น่าจะมีใครมีปัญหาอะไรหรอก!!

ตอนเช้าของวันที่ 2 ในการดูงาน ในขณะที่เราลงไปเช็คเอาต์โรงแรม เพื่อเดินทางต่อไปยังเมืองไทจง ปรากฏว่ามีสมาชิกสุภาพสตรีท่านหนึ่ง ได้เกิดอาการหน้ามืด ล้มลงที่หน้าเคาท์เตอร์เช็คเอาต์ หน้าฟาดลงพื้น ในขณะที่แขนด้านซ้ายกระแทกพื้นอย่างแรง ฟันหน้าหักริมฝีปากแตก เลือดกลบปาก ทุกคนตกใจกันทั้งคณะ นายกที่เป็นหัวหน้าคณะเดินทางในครั้งนี้ รีบบอกให้โรงแรมเรียกรถพยาบาลโดยด่วน ไม่ถึงสิบนาที รถพยาบาลมาพร้อมกับพยาบาล ลงมาดูผู้บาดเจ็บ จากนั้นก็ให้นั่งบนรถเข็น รีบเร่งเช็ดเลือดที่ปาก แล้วใช้ผ้าก๊อซปิดปากแผล ผมจึงเร่งแหวกเพื่อนๆ เข้าไปดู และทดลองพูดคุยกับผู้เจ็บ ด้วยการสอบถามคำถามห้า-หกประโยค ผู้เจ็บยังคงตอบปัญหาได้ดี แสดงว่าสมองไม่ได้กระทบกระเทือนจึงเบาใจไปมาก เพียงแต่ผู้บาดเจ็บไม่รู้ว่าทำไมตนเองถึงหกล้ม? เกิดอุบัติเหตุได้อย่างไร? ผมจึงคิดว่าควรจะต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วนก่อน และผมก็อาสาพาไปส่งด้วยตนเอง เมื่อรถพยาบาลได้นำรถเข็นนอนมารับตัวผู้บาดเจ็บ เพื่อจะส่งขึ้นรถ ผู้บาดเจ็บก็ร้องบอกว่าแขนด้านซ้ายเจ็บมาก ผมจึงบอกพยาบาลว่า ให้เบาๆ อย่าสัมผัสแขนด้านซ้าย โดยให้ระมัดระวังจะบาดเจ็บซ้ำ ที่ต้องพูดเช่นนั้น เพราะดูพยาบาลที่นั่นเขาจะไม่ได้นุ่มนวลเหมือนของบ้านเราเลยครับ

เมื่อขึ้นรถพยาบาล สิ่งแรกที่พยาบาลจัดการ คือใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตมาบันทึกข้อมูลของผู้บาดเจ็บ ผมนั่งมาบนรถ ก็ช่วยตอบข้อมูลเบื้องต้นของผู้บาดเจ็บก่อน ต่อมาก็วัดความดัน ซึ่งความดันสูงมากถึง 174-79 ซึ่งตามความเข้าใจของผมในขณะนั้น นี่คงจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้หน้ามืด ต่อมาในเวลาไม่ถึงสิบนาที รถพยาบาลก็เดินทางมาถึงโรงพยาบาล และรีบนำผู้บาดเจ็บส่งไปในห้องไอซียูทันที จากนั้นพยาบาลที่อยู่ประจำห้องไอซียูก็เข้ามาสอบถามอาการ ซึ่งการใช้คำพูดสอบถามที่ฟังดูไม่ค่อยสุภาพนัก ทำให้ผมเริ่มเคืองๆ อยู่ไม่น้อย และจะทำการวัดความดันอีกที ซึ่งผลลัพธ์ก็ไม่ต่างจากที่เพิ่งวัดมาขณะที่อยู่บนรถพยาบาล และวัดน้ำตาลในกระแสเลือด ปรากฏว่าพยาบาลบอกว่า 34.5 ผมก็ชักเอะใจว่าไม่น่าจะถูกต้อง แต่ก็ไม่อยากแย้งเขา คิดว่ารอให้แพทย์มาตรวจก่อนแล้วค่อยพูดดีกว่า เพราะไม่อยากต่อล้อต่อเถียงกับพยาบาลที่มีอาการไม่น่าอยากเสวนาด้วย หลังจากนั้นอีกเกือบครึ่งชั่วโมง เมื่อคุณหมอออกมาตรวจดูอาการ ผมจึงบอกคุณหมอไปว่า น้ำตาลในกระแสเลือดน่าจะตรวจใหม่นะครับ เพราะไม่น่าจะมีแค่ 34.5 คุณหมอท่านจึงสั่งการให้ตรวจใหม่ จึงทราบว่าพยาบาลบอกตัวเลขเกินทศนิยมไป เพราะจริงๆ คือ 345 ซึ่งสูงมากๆ ยิ่งทำให้เชื่อได้ว่า การพลัดตกหกล้มครั้งนี้ เกิดจากอาการความดันโลหิตสูงและน้ำตาลในกระแสเลือดสูงมาก แต่โชคยังดีที่เส้นเลือดในสมองไม่แตกและศีรษะไม่กระแทกพื้น อาการพลัดตกหกล้มครั้งนี้ จึงไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงมากไปกว่าที่เห็น!!

ต่อมาหลังจากนำผู้บาดเจ็บไปฉายเอกซเรย์ เพื่อดูว่ากระดูกแขนหักหรือไม่? ผมจึงขออนุญาตคุณหมอเข้าไปดูการอ่านฟิล์มเอกเรย์ด้วย ซึ่งก็ปรากฏว่ากระดูกไม่ได้หัก แต่กระดูกร้าวค่อนข้างจะยาวเกือบ 5 เซนติเมตร ผมจึงขอให้คุณหมอช่วยทำแผลและใส่เฝือกอ่อนให้ก่อน จากนั้นจึงส่งตัวผู้บาดเจ็บกลับมารักษาตัวที่ประเทศไทยทันทีในคืนนั้นเลย

จากเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ ผู้บาดเจ็บเอง เป็นผู้ที่ชอบดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ เพราะในวันแรกที่มีงานเลี้ยงต้อนรับ มีการรับประทานอาหารค่ำ ก็สังเกตเห็นท่านก็ดื่มทั้งเบียร์และเหล้าไปไม่น้อย ทั้งๆ ที่ตนเองมีทั้งความดันโลหิตสูงและน้ำตาลในกระแสเลือดสูงมากผิดปกติ นี่เป็นอันตรายเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้สูงวัยที่ไม่ควรทำ เพราะจะต้องระลึกไว้เสมอว่า ตนเองนั้นมีอันตรายได้ทุกขณะเสมอ อีกประการหนึ่ง ถ้าผู้สูงวัยที่มีอาการ 3 สูง (ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในกระแสเลือดสูง และไขมันในเม็ดเลือดสูง) ไม่ควรจะเดินทางคนเดียว หรือการเดินเหินไปไหน ควรมีเพื่อนอยู่ใกล้ๆ เสมอ หากจำเป็นจะต้องเดินทางไกลหรือเดินทางไปต่างประเทศ ก็ควรจะต้องมีผู้ติดตามตลอดเวลา และจะต้องทำประกันอุบัติเหตุไว้ก่อนเดินทางเสมอ ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ถ้าหากทางการไต้หวันไม่ได้ทำประกันอุบัติเหตุให้ คงจะบาดเจ็บทั้งร่างกาย และบาดเจ็บทั้งกระเป๋าตังค์แน่นอนครับ