ปัญหาจิตเภทในสังคมไทย

23 ก.ย. 2566 | 04:10 น.

ปัญหาจิตเภทในสังคมไทย คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

อาทิตย์ที่ผ่านมาผมได้รับเกียรติจากท่านอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่ง ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตเภทของเด็ก ท่านได้เข้ามาเยี่ยมชมสถานบริการบ้านพักคนวัยเกษียณของผม เราจึงมีโอกาสได้สนทนากันยาวๆ ระหว่างที่นั่งรถที่ผมขับไปรับท่าน เพื่อเดินทางไปหนองจอกด้วยกัน ท่านได้ปรารภกับผมว่า “ปัจุบันนี้สังคมไทย ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ความศิวิไลซ์ต่างๆ เข้ามาสู่สังคมไทย นำมาซึ่งทั้งสิ่งที่ดีงามและสิ่งที่เลวร้ายทั้งสองด้าน 

แม้ความเจริญทางด้านวัตถุ จะนำมาซึ่งความสะดวกสบาย และความก้าวหน้าทางด้านต่างๆ ก็ตาม แต่สังคมก็ได้รับเอาเรื่องราวในด้านลบเข้ามาเยอะในทิศทางเดียวกันเสมอ จะเห็นได้ว่าหมอเอง ก็ต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะหมอเป็นจิตแพทย์ ที่วันๆ จะพบเจอคนไข้ที่เข้ามารักษาที่เริ่มจะมากขึ้นทุกวัน” ผมเองก็เห็นด้วยกับท่านในแง่มุมนี้นะครับ
 

เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจุบันนี้สังคมได้เปลี่ยนแปลงไปมาก สิ่งที่ตามมาคือข้อมูลข่าวสารต่างๆของทุกภาคส่วน และจากทุกมุมของโลกใบนี้ เข้ามาสู่ประเทศไทยเราได้ทุกช่องทางและทุกเพศทุกวัย จึงทำให้การเสพข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์ จะรวดเร็วมาก โดยเฉพาะในกลุ่มของคนรุ่นใหม่ 

บางคนที่เยาว์วัยเกินกว่าจะสามารถแยกแยะออกถึงความผิดชอบชั่วดี เมื่อเสพเอาสิ่งที่ไม่สร้างเสริมภูมิปัญญา เข้าสู่สมองของเด็กๆ เหล่านั้น จึงทำให้เกิดอาการความผิดปกติทางอารมณ์ หรือแนวความคิดเพี้ยนๆ เกิดขึ้นในตัวเด็กเอง ซึ่งที่หนักหน่วงจริงๆ ก็อาจนำไปสู่อาการทางจิตได้เช่นกัน
         

อาการทางจิตเภท (Schizophrenia) ที่เกิดจากการสั่งการของสมองที่ผิดปกติ มักจะเกิดจากสมองหรือความคิดของตนเอง ที่ทำให้มีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง ส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น การดูแลตัวเอง การใช้ชีวิตในสังคมที่มีปัญหา ซึ่งอาการจิตเภทนี้ ไม่ใช่จะเป็นเฉพาะผู้สูงวัยเท่านั้น กลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่มีอายุตั้งแต่ประมาณ 14-16 ปี ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารแล้ว ไม่สามารถแยกแยะได้อย่างที่กล่าวมาแล้ว ปัจจุบันนี้จะมีอาการเช่นนี้จะพบเห็นเยอะเลยทีเดียว ซึ่งก็น่าเป็นห่วงนะครับ 

บางรายที่ได้รับฟังมาจากคุณหมอ ถึงขั้นทุบตีคุณแม่แท้ๆ ของตนเองเลยก็มี ซึ่งคุณแม่รายนี้ถึงกับต้องเก็บข้าวของ แล้วเอ่ยปากขอมาอยู่ที่บ้านพักคนวัยเกษียณของผมสักเดือน เพื่อหลบภัยอันตรายจากการทำร้ายร่างกายของลูกเลยครับ ซึ่งทำเอาบ้านทั้งบ้านอยู่กันอย่างไม่เป็นสุขเลยครับ จะเห็นว่าปัญหาดังกล่าว ในปัจุบันนี้เราเองก็คาดไม่ถึงเลยละครับ
           
ส่วนอาการทั่วไปของคนกลุ่มนี้ ก็มีอยู่หลายประเภท เช่น จิตตก เกรงกลัวสิ่งที่มองไม่เห็น หรืออาจจะคิดไปเองว่าคนนั้นคนนี้(มโนไปเอง) จะมาทำร้ายตัวเขาเอง หรือบางรายก็คิดว่าตนเองมีองค์หรือพลังวิเศษไปเลยก็มี ผมเองเคยมีคู่ค้ารายหนึ่ง ก็มีอาการเช่นนี้เช่นกัน เขาคิดว่าตัวเขาเป็นเทพฯ มีพลังพิเศษมากมาย สามารถดลบันดาลให้เกิดโน่น นี่ นั่นได้ 

สุดท้ายการค้าก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า ไม่เห็นเทพฯ ที่เขาคิดว่าอยู่ในตัวเขา จะช่วยอะไรเขาได้เลยครับ บางคนก็ชอบพูดกับตัวเองอยู่คนเดียว บางครั้งก็หัวเราะคนเดียวร้องไห้คนเดียวก็มี รายที่เป็นหนักๆ มาก ก็อาจจะเป็นอาการประสาทหลอนไปเลยก็มีครับ
       
ส่วนสาเหตุที่เกิดอาการเช่นนี้ ก็มีอยู่สองประการหลักๆ ด้วยกัน คือกลุ่มที่เป็นจากกรรมพันธุ์กับกลุ่มที่เป็นจากสมองสั่งการไม่ปกติ กลุ่มแรกคงจะรักษายากสักหน่อย แต่ก็สามารถรักษาได้ ส่วนกลุ่มหลังนี่อาจจะเกิดจากความเครียด หรือจากความกดดันทางด้านจิตใจบ่อยครั้ง หรืออาจจะเกิดจากการเสพข่าวสารที่สร้างความเชื่อผิดๆต่างๆ  

ซึ่งทั้งสองกลุ่มดังกล่าว จะต้องรักษาด้วยการไปพบแพทย์ และต้องทำตามที่คุณหมอสั่ง คุณหมอท่านอาจจะให้ทานยาในการรักษา เพื่อลดอาการกำเริบของโรค หรือท่านอาจจะใช้การรักษาทางด้านจิตบำบัด เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ ซึ่งต้องบอกว่าจะต้องไปพบจิตแพทย์อย่างจริงจังและเชื่อตามที่แพทย์สั่งอย่างเข้มงวดเท่านั้นละครับ
          
ด้านผู้ที่ดูแลผู้ที่มีอาการดังกล่าว ในฐานะที่เขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เราคงต้องใช้ความอดทนอย่างยิ่ง ทางที่ดีที่สุด ตัวเราเองก็ต้องไปขอพบแพทย์ด้วย เพื่อขอคำปรึกษาที่ถูกต้อง และรับฟังความรู้ในเรื่องโรคนี้ แล้วนำเอาคำปรึกษาเหล่านั้นมาปฏิบัติให้แก่ผู้ที่มีอาการและตนเอง อย่างรายที่ผมเล่าให้ฟังมานั้น ตัวลูกเขาจะเป็นคนที่ฉลาดในการหลบเลี่ยงมาก ในขณะที่คุณแม่ก็ไม่ค่อยจะทำตามคุณหมอบอก 

บางครั้งคุณหมอเองก็จนปัญญา เพราะทั้งแม่ทั้งลูกไม่ค่อยทำตามที่คุณหมอสั่ง อีกอย่างก็เป็นเพราะความฉลาดเอาตัวรอดของตัวลูก ที่จะมีทางหนีทีไล่กับคุณแม่ตลอด ตัวแม่เองก็ไม่กล้าที่จะสั่งอะไรลูก เพราะเกรงว่าจะกระทบกระเทือนจิตใจเขามากจนเกินไป จึงทำให้แม่ก็ออกคำสั่งไม่เป็นเลย มีแต่ถามเขาว่า “จะทำได้มั้ย” ตลอดเวลา ตัวลูกเองก็ถูกเอาใจมาตลอดเวลา ก็จะทำให้คุณแม่ไม่สามารถควบคุมเขาได้เลย จึงได้เกิดปัญหาการไม่เกรงกลัวคุณแม่ ลูกจึงกล้าที่จะทำร้ายคุณแม่นั่นเองครับ
        
หากจะว่าไปแล้ว ผู้ที่มีอาการจิตเภทนี้ เป็นผู้ที่ให้การดูแลที่ยากมากๆ จะเข้มงวดมากจนเกินไปก็ไม่ได้ เพราะอาจจะทำให้เกิดความเครียดมาก แต่การปล่อยปละละเลยมากจนเกินไปก็ไม่ดี เพราะอาจจะทำให้อาการจิตเภทแย่ลงไป 

ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ ก็คงต้องหางานเล็กๆ น้อยๆ ให้เขาทำ แล้วจึงใช้วิธีการกระตุ้นให้เขารับผิดชอบงานดังกล่าวอย่างนุ่มนวลและระมัดระวัง ที่สำคัญที่สุดคือ “ยารักษาโรค” ที่คุณหมอท่านสั่งมา จะต้องให้ทานอย่างสม่ำเสมอ ขาดไม่ได้โดยเด็ดขาด จึงจะสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ครับ