ผลจากการใช้ยาเกินขนาด

28 ต.ค. 2566 | 04:10 น.
688

ผลจากการใช้ยาเกินขนาด คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้พูดถึงเรื่องของสายตาของผู้สูงวัย ที่มีโอกาสเป็นโรคตา ที่มีทั้งตาเป็นต้อที่มีอยู่หลายชนิด สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าว คือ การใช้ยาเกินขนาด ส่งผลให้เกิดปัญหาโรคตาต้อ นอกจากนี้ ยังมีโรคอื่นๆ ที่เกิดจากการใช้ยาเกินขนาด หรือการใช้ยาชนิดเดียวที่มีเวลานานเกินควร 

ซึ่งการทานยารักษาโรคแทนที่จะได้ประโยชน์ กลับกลายเป็นต้องได้รับเอาผลของฤทธิ์ยาที่เป็นโทษได้ ดังนั้น วันนี้เราคงมาดูกันว่าอิทธิฤทธิ์ของยารักษาโรค จะแผลงฤทธิ์ออกมาทำร้ายคนที่ใช้ยาได้อย่างไรบ้างนะครับ ก็ถือว่าเป็นการอ่านสนุกๆ จากคนที่ไม่ใช่หมอและไม่ใช่เภสัชกรก็แล้วกันนะครับ
          
ผมมีญาติของเพื่อนท่านหนึ่ง ได้เข้ามาพักฟื้นรักษาตัวที่สถานบ้านพักคนวัยเกษียณของผม ท่านมาในสภาพที่เสมือนคนที่มีอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน คือมีอาการไม่สามารถทรงตัวได้เลย เวลายืนก็จะมีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะจะหกล้มให้ได้ ซึ่งญาติๆ ก็เข้าใจว่าต้องเป็นเพราะน้ำในหูไม่เท่ากันแน่นอน ทางเราเมื่อรับเข้ามาอยู่ด้วยแล้ว ก็เริ่มตรวจสอบอาการ และสอบถามว่าได้ไปพบแพทย์หรือยัง? เขาก็ตอบว่าไปพบมาแล้วที่โรงพยาบาล คงไม่ต้องบอกนะครับว่าที่ไหน เพราะไม่อยากได้รับหมายศาลครับ 

คุณหมอท่านก็มีการจ่ายยาให้กลับมาทานที่บ้าน แต่ปรากฏว่ายังไม่ดีขึ้น เราจึงต้องให้น้องผู้บริบาลเฝ้าระวัง ด้วยการจดบันทึกอาการของผู้ป่วยทุกขณะ เช่น มีอาการไอ อาการปวดหัวตัวร้อน การนอนหลับ การเข้าห้องน้ำขับถ่าย หรือแม้กระทั่งการรับประทานอาหาร อีกทั้งยังมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายทุกๆ 6 ชั่วโมง วัดความดันโลหิตทุกวันวันละสองครั้ง เป็นต้น
       
หลังจากนั้นหนึ่งอาทิตย์ อาการก็ยังไม่หาย ทั้งๆ ที่ก็ทานยาตามหมอสั่งทุกประการ แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย คือยาที่เคยทานอยู่เป็นประจำ เช่น ยาแก้โรคอื่นๆ ที่คนไข้เคยทานอยู่ ก็ยังให้ทานตามปกติ เมื่อทีมงานของเราเอาบันทึกรายงานมาดู ก็ปรากฏว่าคนไข้มีอาการไอแห้งๆ อยู่ตลอดเวลา และอาการหน้ามืดก็ไม่ได้ลดลงเลย จึงขอดูยาที่คนไข้ติดตัวมา และสอบถามคนไข้ว่า เขาเคยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลมานั้น เป็นเพราะมีโรคความดันสูงมาก่อนใช่หรือเปล่า? 

เพราะยาที่แพทย์จ่ายมาให้นั้น เป็นยาลดความดันโลหิตสูงซึ่งมีอยู่สองขนานด้วยกัน ซึ่งจากผลของยาดังกล่าว ทำให้ในช่วงที่เข้ามาพักอาศัยอยู่กับเรา คนไข้ไม่ได้มีความดันโลหิตสูงแล้ว แต่คนไข้ยังคงรับประทานยาอยู่เช่นเดิม ทีมงานจึงสั่งให้มีการลดยาลดความดันโลหิตสูงลงทันทีหนึ่งตัว ไม่น่าเชื่อ ภายในสอง-สามวัน คนไข้ก็เริ่มไม่มีอาการหน้ามืดแล้ว สามารถลุกขึ้นจากเตียงและยืนขึ้นมาได้เอง โดยไม่ต้องมีผู้บริบาลช่วยพยุงตัว ต่อมาอีกไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์ อาการทุกอย่างก็กลับมาสู่ปกติ คนไข้สามารถออกกำลังกายยามเช้าได้ ร้องเพลงคาราโอเกะได้ สามารถเดินเหินได้เหมือนคนปกติทั่วไปทันที 

นี่คือผลของการใช้ยาเกินขนาด ที่ถ้าหากว่ารับประทานยาตามคุณหมอสั่ง เมื่อครบโด๊ดแล้วก็ควรจะต้องให้ไปพบคุณหมอ เพื่อดูอาการอีกครั้ง เพราะคุณหมอจะรู้ดีกว่าตัวคนไข้เอง อีกอย่างคนไข้ส่วนใหญ่มักจะคิดไปเองว่า แพทย์สั่งให้ทานยา ก็ต้องทานติดต่อกันไป ทั้งๆ ที่ตนเองหายดีแล้ว ก็ยังคิดว่าจะต้องทานต่อ โดยไม่ได้ไปพบแพทย์อีกครั้งนั่นเองครับ
         
สาเหตุของการกินยาเกินขนาด (Drug Overdose) อาจเกิดขึ้นได้ทั้งที่ตั้งใจกิน เพราะคิดว่าจะช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยได้ หรือโดยไม่ได้ตั้งใจ ที่มีทั้งมาจากการใช้ยาในทางที่ผิด การกินยาเกินขนาดโดยอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับเด็กเล็กที่ผู้ใหญ่ไม่ทันระวัง หรือผู้ที่มีอาการบกพร่องทางจิต ที่ไม่รู้ว่านั่นคืออันตราย หรือผู้ที่ต้องกินยาหลายชนิด อย่างเช่นตัวอย่างที่เล่ามานั่นแหละครับ 

ซึ่งการกินยาเกินขนาดไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่จะส่งผลให้ร่างกายมนุษย์ ที่ปกติจะมีการเผาผลาญอาหารที่ทานลงไป ไม่สามารถล้างพิษยาได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ตามมา ซึ่งเราคาดไม่ถึงก็เป็นไปได้ ซึ่งผลของการทานยาเกินขนาดนั้น แต่ละคนจะได้รับผลหนักเบาที่แตกต่างกันออกไป บางคนก็สามารถทนรับผลนั้นได้ บางคนก็ไม่สามารถทนรับผลนั้น อาจจะไม่รุนแรงหรือรุนแรงมากๆ ก็สุดแล้วแต่ชนิดของยาที่ทานลงไป 

ผลที่ตามมาของยาบางชนิด อาจจะสามารถทำลายอวัยวะเฉพาะส่วนได้ บางชนิดอาจจะแค่เกิดมีอาการหายใจถี่ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือบางชนิดที่รุนแรงมากๆ ก็อาจจะเจ็บหน้าอก ซึ่งอาจจะมีผลมาจากหัวใจหรือปอดเสียหาย หรืออาจจะอาเจียนเป็นเลือด ซึ่งสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้นั่นเอง 
        
ดังนั้นเราจึงควรต้องใส่ใจ อย่าคิดเอาเองว่ารู้แล้ว หรือหาซื้อยามาทานเอง โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งส่วนใหญ่เราอาจจะเคยชินกับตัวยานั้นๆ บางคนอาจจะไว้ใจคนขายยาตามร้านขายยาที่ไม่มีเภสัชกรประจำ อันนี้ผิดอย่างไม่ควรให้อภัยเลยครับ ผมเข้าใจว่าปัจุบันนี้ ร้านขายยาทุกร้าน จะต้องมีเภสัชกรประจำอยู่แล้ว อย่างน้อยเราต้องสอบถามเภสัชกรประจำร้านทุกครั้ง ที่หาซื้อยามาทานนะครับ นั่นจะทำให้ท่านได้ทานยาอย่างปลอดภัยครับ