การพิสูจน์หลักฐานทางดิจิทัล

12 มี.ค. 2565 | 19:30 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2565 | 02:39 น.
912

คอลัมน์ THE HACKER โดย : AFON CYBER

“ในโลกไซเบอร์ อาจไม่มีรอยนิ้วมือ คราบเลือดหรือเขม่าดินปืน แต่หลักฐานทางดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญมากในการไขคดีในยุคปัจจุบัน”

 

ในปัจจุบันชีวิตของพวกเราถูกรายล้อมไปด้วยอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ นาฬิกาสมาร์ทวอทช์ กล้องวงจรปิด GPS เครื่องคอมพิวเตอร์ สมาร์ทคาร์ สมาร์ททีวี เป็นต้นและ อุปกรณ์เหล่านี้จะมีการบันทึกข้อมูลหลักฐานต่างๆ ไว้ โดยอาจถูกนำมาใช้ประกอบการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด จนบางทีคุณอาจคาดไม่ถึง แต่ทั้งนี้ ข้อมูลดิจิทัลมีความเปราะบางสูง กล่าวคือ สามารถเสียหาย สูญหาย หรือปลอมแปลงได้ง่าย ดังนั้นจะต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ ใช้กระบวนการและเครื่องมือที่ถูกต้องในการเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุพยานทางดิจิทัลเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของศาสตร์การตรวจพิสูจน์หลักฐานทางดิจิทัลหรือ Digital Forensics

 

 

หลักฐานดิจิทัลอาจถูกจัดเก็บไว้ในหน่วยความจำของอุปกรณ์หรืออาจถูกจัดเก็บอยู่ในคลาวด์บนอินเทอร์เน็ต การจัดเก็บวัตถุพยานทางดิจิทัลมีความละเอียดอ่อน เพราะหากทำผิดวิธีผิดกระบวนการหรือกระทำโดยผู้ที่ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ อาจทำให้ข้อมูลบางอย่างเสียหายหรือสูญหายได้ และหากใช้เครื่องมือที่ไม่เหมาะสมก็อาจมีผลให้พยานผู้เชี่ยวชาญสามารถโต้แย้งในชั้นศาลได้ว่าหลักฐานอาจถูกปนเปื้อนหรือปลอมแปลงมา ทำให้น้ำหนักหรือความน่าเชื่อถือของวัตถุพยานนั้นหมดไป ดังนั้นจะขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าการจัดเก็บรวบรวมวัตถุพยานหรือหลักฐานทางดิจิทัลนั้น ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการอบรม ใช้กระบวนการและเครื่องมือที่เป็นที่ยอมรับได้ในชั้นศาลเท่านั้น

 

ศาสตร์ทางด้าน Digital Forensics นั้น แบ่งย่อยออกเป็นศาสตร์เฉพาะทางอีกมากมาย เช่น computer forensics, network forensics, Internet forensics, cloud forensics, IoT forensics, ICS (Industrial Control System) forensics, voice and sound forensics และ video forensics วิธีการในการรวบรวมจัดเก็บ และวิเคราะห์หลักฐานในด้านต่างๆ มีความละเอียดอ่อน และกรรมวิธีในเชิงลึกที่แตกต่างกันออกไป และการนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีที่แตกต่างกันออกไป เช่น กรณีที่มีการได้มาซึ่งหลักฐานที่เป็นคลิปเสียงหรือวิดีโอคลิปที่มีเสียงของผู้ต้องสงสัยอยู่ แต่ไม่สามารถบอกได้โดยชัดว่าเป็นเสียงของผู้ใด การใช้เครื่องมือและศาสตร์ด้าน voice forensics ก็จะช่วยชี้ชัดลงไปได้ โดยการนำเสียงของผู้ต้องสงสัย มาเปรียบเทียบกับหลักฐานที่ได้ ว่ามีคุณลักษณะของคลื่นเสียง ใกล้เคียงหรือแตกต่างมากน้อยเพียงใด นอกจากเสียงของมนุษย์แล้ว ยังสามารถทำการเปรียบเทียบเสียงของอาวุธปืน ระเบิด เครื่องยนต์และอื่นๆ ได้อีกด้วย

ช่วงนี้มีคดีที่เกิดขึ้นกับคุณแตงโม ซึ่งสังคมพยายามช่วยกันเสาะหาและวิเคราะห์หลักฐาน ซึ่งหลักฐานที่ได้มาส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของกล้องวงจรปิด แต่จะมีปัญหาตรงที่ความไม่ชัด เพราะไกล และแสงน้อยในเวลากลางคืน ศาสตร์ video forensics จะเข้ามาช่วยในการคัดเลือกเฟรมที่มีความชัดเจนที่สุด ทำการปรับแสงและจำลองเม็ดสีหรือ pixle เข้าไปด้วยการวิเคราะห์ทางคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อน เพื่อให้ได้มาซึ่งความชัดเจนมากยิ่งขึ้นทำให้เห็นสาระสำคัญที่ปรากฏอยู่ในวิดีโอนั้นได้มากยิ่งขึ้น

 

จะเห็นได้ว่ายุคนี้มีเทคโนโลยีที่ก้าวไกลที่สามารถเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์หลักฐานทางดิจิทัลซึ่งจะนำไปสู่การเปิดเผยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีได้ ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้สามารถใช้ได้ทั้งในแง่ของการไขคดีอาชญากรรม และอาจใช้ในการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงบางอย่างเมื่อเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ขึ้นในองค์กรได้ จึงอยากฝากว่าเรื่อง Digital Forensics เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ควรรู้ของสังคมและองค์กรต่างๆ ในยุคปัจจุบันนี้ครับ