บริหารโควิด-19 โดยสุจริต ใยต้องกลัวอาญา

11 ส.ค. 2564 | 15:25 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ส.ค. 2564 | 16:37 น.
702

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...กาแฟขม

*** 12 สิงหาคม 2564 วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
 

*** สถานการณ์โควิด-19 ล่าสุดในประเทศไทยยังคงมียอดผู้ติดเชื้อสูงลิ่ว ในระดับผู้ติดเชื้อรายวันเขยิบมาแตะ 2 หมื่นรายต่อวันเข้าไปแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ส.ค.2564 ยอดผู้ติดเชื้อรายวัน 19,603 ราย มาจากระบบเฝ้าระวัง 16,119 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 3,159 ราย ผู้ต้องขัง 313 ราย จากต่างประเทศ 12 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสมระลอกนี้ 776,108 ราย ผู้ป่วยอาการหนักขณะนี้ 5,218 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,084 ราย ผู้เสียชีวิต 149 ราย สะสม 6,353 ราย และทั้งหมดยังไม่มีทีท่าว่าจะขึ้นจุดพีคสำหรับผู้ติดเชื้อ ผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์หมอทั้งหลายก็คาดการณ์ไปพีคเอาก.ย.แล้วค่อยๆลงถ้าบริหารจัดการได้ดีทั้งเรื่องวัคซีน แยกโรค แยกคน ตรวจโรค สอบสวนโรค เตียงพยาบาล ยา แต่ประเด็นบริหารจัดการเป็นปัญหาอยู่ตลอดเวลา ณ วันนี้ การแก้ปัญหาแทบไม่มีความก้าวหน้าและเป็นการบริหารในสถานการณ์วิกฤติเลย โดยเฉพาะขั้นตอนของระบบราชการ
 

*** เมื่อเกิดวิกฤติย่อมเป็นเป็นบทพิสูจน์การบริหาร ฝีมือการบริหาร ทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ กรณีโควิด-19 สะท้อนความเป็นรัฐราชการของไทยได้ตรงประเด็นอย่างที่สุด รัฐราชการรวมศูนย์ติดหล่ม หวงอำนาจไว้กับหน่วยงาน ที่ถือระเบียบ ข้อกฎหมาย กฎระเบียบ ยากที่จะเปิดทางให้ใครเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ตัวอย่างง่ายๆ กรณีคนไทยในต่างประเทศสักคน (เรื่องจริง) พยายามรวบรวมเงินเพื่อซื้อชุดตรวจ ATK ส่งมาให้เป็นการบริจาคช่วยเหลือ เพราะราคาถูกกว่า มีมาตรฐาน แต่กลับต้องเผชิญขั้นตอนการตรวจตราอย่างเข้มงวด ตั้งแต่กรมศุลกากร คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถ้าจะทำแบบนี้ในสถานการณ์ด่วนที่คนรอตาย รอเตียง ควรจะต้องใช้เวลาให้สั้นที่สุดไม่เกิน 3 วันทำการ แต่สิ่งนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าจะเกิดได้ต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ เอาง่ายๆ แค่นี้ ยังมิต้องพูดถึงการให้เอกชนเข้ามาร่วมจัดหาวัคซีน ซึ่งไกลเกินฝันเป็นแม่นมั่นที่สุด นี่ก็สะท้อนระบบราชการที่ขึงพืดประเทศนี้ หรือใครจะเถียงอย่างไรก็ว่ามา

*** ร้อนฉ่าขึ้นมาโดยพลัน เมื่อมีความพยายามออกพระราชกำหนด จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 หรือ โควิด-19 พลิกดูต้นร่างกฎหมายเขียนไว้ค่อนข้างกว้างในการจัดความรับผิดที่ว่า นัยว่าเพื่อความสบายใจ ลดแรงกดดันการทำงานที่พลาดพลั้งเผลอเรอของเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์และผู้เกี่ยวข้องในการปฏิบัติ ซึ่งแน่นอนบุคลากรเหล่านี้ทำงานหนักเต็มที่เกินเวลา ไม่ควรต้องมาพะวงกับความรับผิด อันย่อมจะเกิดเออเรอร์ขึ้นได้ในบางประการ ก็เป็นการสมควร แต่ฝ่ายที่กำกับนโยบายและนโยบาย หรือ การบริหารจัดการ ที่เข้าข่ายลักษณะความผิดละเมิดต่อผู้อื่น ไม่ควรได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิด อันเนื่องมาจากกฎหมายฉบับนี้นิรโทษกรรมให้เป็นการล่วงหน้า ถ้าสุจริตเป็นที่ตั้งจริง ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องออกกฎหมายมาป้องกันล่วงหน้าไว้แต่อย่างใด ถ้าจะมีใครฟ้องร้องขึ้นมา ก็ต้องพร้อมพิสูจน์กันในกระบวนการยุติธรรม เป็นไรไป
 

*** อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ปฏิเสธทันควัน กรณีนี้ไม่ได้นิรโทษกรรมเหมาเข่ง แต่เพราะต้องให้ความมั่นใจกับบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ช่วงนี้มีการรักษาคนไข้เรือนแสน คลายกังวลในการรักษาพยาบาลและการวินิจฉัยโรค ต้องให้ความมั่นใจได้รับความเป็นธรรม เกิดมีช่องโหว่แล้วมีคนไปฟ้องร้อง จึงไม่อยากให้บรรดาแพทย์พยาบาล ต้องวิตกกังวลให้มีขวัญกำลังใจเต็มที่ ก็จะทุ่มเทในการรักษาพยาบาล ก็ขอให้เป็นไปตามหลักการที่ว่าคุ้มครองบุคลากรการแพทย์เท่านั้น เวลาเขียนกฎหมายก็อย่าพ่วงผู้อื่นเข้ามาด้วยก็แล้วกัน
 

***โควิด-19 เดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า ลงไปถึงรากหญ้าภาคเกษตร ตัวเลขโดยตรงการบริโภคภาคเกษตรหดตัวลง เสียงจาก เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ช่วง 5 เดือนเม.ย.-ส.ค.2564 ที่เผชิญโควิด ทั้งการล็อกดาวน์ การควบคุมพื้นที่ การจำกัดเปิดร้านค้า และ ร้านอาหารต่าง ๆ กระทบมูลค่าทางเศรษฐกิจการเกษตร ในส่วนของการบริโภคสินค้าเกษตรในประเทศลดลงรวมทั้งสิ้น 13,895 ล้านบาท สาขาการผลิตที่ได้รับผลกระทบมากสุด เป็นการทำสวนผัก มูลค่าทางเศรษฐกิจลดลง 3,049 ล้านบาท การทำสวนผลไม้ มูลค่าลดลง 2,061 ล้านบาท การทำนา มูลค่าลดลง 2,038 ล้านบาท การประมงทะเลและการประมงชายฝั่ง มูลค่าลดลง 1,007 ล้านบาท และการเลี้ยงสัตว์ปีก มูลค่าลดลง 908 ล้านบาท เนื่องจากโครงสร้างการบริโภคของประเทศไทย มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการบริโภค ผัก ผลไม้ และข้าว มากที่สุด

***ไปที่แวดวงธุรกิจ ยุทธนา เจริญวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด(BLCP) ส่งมอบถังออกซิเจนทางการแพทย์ ขนาด 6 คิว จำนวน 13 ถัง พร้อมอุปกรณ์ต่อควบ และรถเข็นสำหรับเคลื่อนย้ายถังออกซิเจน จำนวน 3 คัน ให้กับสาธารณสุขจังหวัดระยอง และโรงพยาบาลนิคมพัฒนาจังหวัดระยอง มูลค่ารวมทั้งสิ้น 130,000 บาท เพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานสาธารณสุข ด้วยการนำไปแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลสนามในจังหวัดระยอง รองรับผู้ป่วย COVID-19 ระดับสีเหลือง (ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ) ต่อไป
 

*** สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยฯ มุ่งมั่นช่วยเหลือสมาชิก เปิดตลาดความรู้สู่ตลาดผู้บริโภคจีนผ่านช่องทางออนไลน์โอกาสทองเอสเอ็มอีไทย หวังเพิ่มความสามารถในการส่งออกให้กับผู้ประกอบการ SME ไทย มี ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน คอลัมนิสต์มังกรกระพือปีก ที่ขยับมาให้ความรู้เป็นประจำในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ คนนี้รู้จริง เจาะจริง มาเล่าประสบการณ์เจาะลึกเข้าตลาดจีนอย่างไร ใครสนใจติดตามกันได้ เสาร์ที่ 14 สิงหาคม 2564 ตั้งแต่ เวลา 13.00-16.00 น.ผ่านระบบ Zoom รีบๆ จองกันเข้าไป ช้าไม่ทันเต็มไปก่อนเสียโอกาสเรียนรู้ไปเลยทีเดียว