ส่องแนวทางฉีดวัคซีนโควิดที่ทุกจังหวัดต้องถือปฏิบัติ

01 ส.ค. 2564 | 10:00 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2564 | 16:16 น.
1.8 k

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย

+++ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ณ วันที่ 28 ก.ค.64 ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ ยังคงพุ่งสูงอยู่ที่ 16,533 ราย สะสม 543,361 ราย หายป่วยเพิ่ม 10,051 ราย รักษาตัวอยู่ 178,271 ราย อาการหนัก 4,325 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 995 ราย ส่วนยอดผู้เสียชีวิตมี 133 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 4,397 ราย มีคนฉีดวัคซีนไปแล้ว 16,427059 โดส  

+++ 10 อันดับผู้ติดเชื้อใหม่  อันดับ 1 ยังเป็น กรุงเทพฯ 3,997 ราย สมุทรสาคร 1,147 ราย สมุทรปราการ 1,088 ราย ชลบุรี 864 ราย กาญจนบุรี 858 ราย นนทบุรี 520 ราย นครปฐม 476 ราย ฉะเชิงเทรา 47 ราย อุบลราชธานี 33 ราย ปทุมธานี 308 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิต กรุงเทพฯ ก็ยังคงเสียชีวิตสูงสุด 45 ราย ตามด้วยสมุทรปราการ 12 ราย นนทบุรี 10 ราย นครปฐม 9 ราย สมุทรสาคร 7 ราย ปัตตานี 3 ราย สงขลา 3 ราย

+++ สถานการณ์การติดเชื้อและยอดคนเสียชีวิตที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะ “คลี่คลาย” ลง ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลก็ได้ดำเนินการ “ล็อกดาวน์” ผ่านมาแล้วหลายวัน ถือเป็นปัญหา “หนักอก” ของรัฐบาล ทำให้ บิ๊กตู่-พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. ต้องเรียกประชุมติวเข้ม ผู้ว่าฯ 12 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ไม่รวมผู้ว่าฯ กทม.ที่ได้หารือไปแล้ว ประกอบด้วย จังหวัดปทุมธานี ชลบุรี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสงขลา

+++  นายกฯ ได้ขอให้แต่ละจังหวัดเฝ้าระวังการระบาดข้ามจังหวัด ให้แต่ละจังหวัดเพิ่มจำนวนเตียงให้เพียงพอกับผู้ป่วย โดย นายกฯ หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น 4-6 สัปดาห์ ซึ่งเป็นข้อมูลหลักฐานจากทางการแพทย์ ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุขบอกว่า จะสามารถจัดหาวัคซีนได้เฉลี่ย 10 ล้านโดสต่อเดือน ตั้งแต่ ส.ค.นี้ เป็นต้นไป เฉลี่ยจะฉีดให้ประชาชนได้วันละ 1 ล้านโดส

+++ ความหวังที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะดีขึ้นใน 4-6 สัปดาห์ ก็อยู่ที่ “วัคซีนโควิด-19” ที่หากคนไทยได้รับการฉีดมากขึ้น ทั่วถึงเป็นส่วนใหญ่ ก็อาจจะทำให้ “ผู้ติดเชื้อใหม่” ลดลงได้ หากผู้ติดเชื้อใหม่ลดลง จำนวนผู้เสียชีวิตก็น่าจะลดลงตาม ก็เป็น “ความหวัง” ที่เชื่อว่าหลายคนก็อยากให้เป็นเช่นนั้น 

+++ ย้ำเตือนจาก “คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ” ที่มี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นเลขานุการ ได้ลงนามหนังสือแจ้งแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเติม ส่งไปยัง ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา   

+++ สิ่งที่เน้นย้ำคือ 1.วัคซีนที่จัดสรรในช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. 2564 ขอให้เร่งรัดในกลุ่มเป้าหมายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย  กลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค รวมถึง หญิงตั้งครรภ์ ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป, บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม อย่างน้อย 4 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และ กลุ่มเป้าหมายที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 และครบกำหนดนัดรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ส่วน “กลุ่มหญิงตั้งครรภ์” ให้ฉีดวัคซีนเมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ณ คลนิกรับฝากครรภ์ของสถานพยาบาล หรือ จุดให้บริการวัคซีนปกติ (หากมีความจำเป็น) ซึ่งสามารถรับวัคซีนโควิด 19 ทุกชนิดที่มีให้บริการในประเทศไทยขณะนี้  

+++ ขณะที่การฉีดวัคซีนสลับชนิดสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร นครปฐม สงขลา ยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส ให้กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ให้ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็ม โดยฉีดห่างกัน 12 สัปดาห์ สามารถฉีดวัคซีนด้วยชนิด หรือ วิธีอื่นใดตามดุลยพินิจของแพทย์ ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนและปริมาณที่มี

+++ ด้านกลุ่มเป้าหมายอื่น อาจให้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม หรือให้ฉีดวัคซีนซิโนแวค เป็นเข็มที่ 1 และวัคซีนแอสตร้าฯ เป็นเข็มที่ 2 ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนและปริมาณที่มี, สำหรับจังหวัดอื่นให้ทุกกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนซิโนแวค เป็นเข็มที่ 1 และวัคซีนแอสตร้าฯ เป็นเข็มที่ 2 โดยให้ฉีดห่างกัน 3-4 สัปดาห์ …แนวทางของ “คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ” ยังไม่มีข้อสั่งการตรงไหน ที่ให้มีการ “ฉีดวัคซีนโควิด เข็ม 3” ให้แก่ “ตำรวจ” แต่อย่างใดนะจ๊ะ ...ทราบแล้วเปลี่ยน

+++ ขณะที่ “ส.ส.-ส.ว.” ยังเกี่ยงงอนกันเรื่องสละเงินเดือนช่วยประชาชนช่วงวิกฤติโควิด-19  “กรณ์ จาติกวณิก” หัวหน้าพรรคกล้า ที่ในวันนี้ แม้จะยังไม่มีเสียง ส.ส.ในสภา แม้แต่คนเดียว ก็ได้นำลูกทีมลงพื้นที่ลุยช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ “กล้าสู้โควิด” ไม่ว่าจะเป็น กล้าหาเตียง : อาสาช่วยติดต่อหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อ, กล้าเติมอิ่ม : ส่งข้าวกล่องให้ผู้ติดเชื้อที่กักตัว-ผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ไม่สามารถออกจากบ้านได้,  กล้าอาสา : ลงพื้นที่ฉีดพ่นฆ่าเชื้อโควิดตามพื้นที่ต่างๆ, กล้าหางาน : เปิดพื้นที่หางานให้กับคนจบใหม่ หรือคนที่ตกงาน แถมก่อนหน้านี้ ยังระดมแจกแมสก์ 5,000,000 ชิ้น ให้ประชาชนใช้ป้องกันตัวเอง และแจกยา “ฟ้าทะลายโจร” ให้ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่สามารถหาเตียงได้ เพื่อไม่ให้อาการทรุดหนักก่อนได้เตียง

+++ ทุกๆ วันในไลน์กลุ่มข่าว ก็จะเห็นข่าว คุณกรณ์ และ พลพรรค เด้งขึ้นมาให้อ่านเป็นประจำ จึงได้เห็นมุมมอง วิธีคิดในการแก้ไขปัญหา ที่ คุณกรณ์ได้จากการลงพื้นที่อย่างจริงจัง ก่อนที่จะนำมาต่อยอดเป็นแผนการหยุดยั้งการแพร่ระบาดที่เป็นไปได้ เช่น การจัดตั้งสถานกักตัวชุมชน, แยกผู้ติดเชื้อออกจากครอบครัว และให้ยาทันที จนต่อมาภาครัฐได้นำร่องจัดทำ Community Isolation สอดคล้องกับสิ่งที่ “พรรคกล้า” เคยนำเสนอไว้

+++ รวมถึงการเสนอให้เข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิดโดยใช้  Rapid Antigen ที่สามารถรับรองผลได้ โดยไม่ต้องตรวจ PCR ซ้ำ ที่ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขก็ปรับมาให้ใช้  Rapid Antigen test ได้แล้ว ...สะท้อนวิธีคิดของผู้มีประสบการณ์ ผสมผสานกับ “คนรุ่นใหม่” ที่เจาะปัญหาได้อย่างถึงแก่น ในยามที่ประเทศชาติ และประชาชนตกอยู่ในวิกฤติ “พรรคกล้า” พรรคการเมืองน้องใหม่ ก็มีบทบาทช่วยเสนอแนะทางออกในทางที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติได้เหมือนกัน...