"อินเดีย-ญี่ปุ่น" ผงาดเป็น 2 ดาวเด่นในตลาดหุ้น และ M&A ของเอเชีย

24 พ.ค. 2567 | 17:32 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ค. 2567 | 17:50 น.

"เจพีมอร์แกน" เผยอินเดียและญี่ปุ่นเป็น 2 ดาวเด่นในตลาดหุ้นและการควบรวมกิจการ (M&A)ของเอเชียในช่วงเวลานี้ โดยกระแสการโยกย้ายฐานการผลิตหนีลูกหลงสงครามการค้าสหรัฐ-จีน มีส่วนกระตุ้นการควบรวมกิจการในอินเดีย

นายฟิลิปโป กอริ ผู้นำร่วมฝ่ายการธนาคารระดับโลกของ เจพีมอร์แกน ระบุว่า อินเดีย และญี่ปุ่น เป็น 2 ดาวเด่นที่น่าสนใจอย่างยิ่งใน ตลาดหุ้น และ การควบรวมกิจการ (M&A) ของเอเชีย

"คุณมีทั้งญี่ปุ่นซึ่งกำลังโดดเด่นร้อนแรง และอินเดียซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมาก" นายกอริให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีเมื่อวันพฤหัสบดี (23 พ.ค.) ระหว่างการประชุมสุดยอดโกลบอล ไชน่า ซัมมิต (Global China Summit) ประจำปีครั้งที่ 20 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้

ข้อมูลของ LSEG ระบุว่า ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นและดัชนี Nifty 50 ของตลาดหุ้นอินเดียพุ่งขึ้นเกือบ 26% ในปีที่ผ่านมา (2566) 

ในรายงานว่าด้วยการควบรวมกิจการของญี่ปุ่น เบน แอนด์ คัมพานี (Bain & Company) บริษัทให้คำปรึกษาด้านการจัดการจากสหรัฐระบุว่า แม้กิจกรรมการควบรวมกิจการทั่วโลกลดลงในปี 2566 แต่มูลค่าการทำข้อตกลงของญี่ปุ่นกลับเพิ่มขึ้น 23% จากปีก่อนหน้า แตะประมาณ 1.23 แสนล้านดอลลาร์ พร้อมกล่าวเสริมว่า "เศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ในตำแหน่งที่ดีมากสำหรับการเติบโตของ M&A"

นักวิเคราะห์ของเบน แอนด์ คัมพานีกล่าวว่า ความเชื่อมั่นในตลาดอินเดียมีแนวโน้มดีขึ้น โดยผู้ทำข้อตกลงส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าตลาดจะดีขึ้นในปี 2567

ขณะเดียวกัน ดีลอยท์ (Deloitte) ระบุในรายงานว่าด้วยแนวโน้มการควบรวมกิจการในอินเดีย ว่า มูลค่าของข้อตกลงควบรวมกิจการในอินเดียเมื่อปีที่ผ่านมาแตะ 1.36 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลง 27% จากปีก่อนหน้า สอดคล้องกับกิจกรรมการควบรวมกิจการที่ปรับตัวลดลงทั่วโลก อย่างไรก็ตาม รายงานระบุด้วยว่า "การที่ธุรกิจและนักลงทุนเชื่อมั่นในอินเดียอย่างต่อเนื่องอาจช่วยให้มูลค่าข้อตกลงในอินเดียฟื้นตัวได้"

ประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย และญี่ปุ่น ต่างได้รับประโยชน์จากนโยบายจีนบวกหนึ่ง (China Plus One) เนื่องจากนักลงทุนต่างมองหาประเทศอื่นในภูมิภาคเพื่อใช้ในการพักเงิน ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น

ดีลอยท์ระบุว่า บรรดาบริษัทที่ต้องการขยายฐานการผลิตไปยังอินเดียจะกระตุ้นกิจกรรมการควบรวมกิจการในประเทศ พร้อมกล่าวเสริมว่า สิ่งนี้อาจเป็นผลมาจากนโยบายจีนบวกหนึ่งที่ปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก รวมถึงนโยบายของรัฐบาลอินเดียที่เอื้ออำนวย เช่น โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการผลิต (PLI) ซึ่งมุ่งส่งเสริมการผลิตในอินเดีย

ทั้งนี้ บริษัท แอปเปิ้ล (Apple) ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐ ได้ย้ายการผลิตบางส่วนไปยังอินเดีย หลังมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวดของจีนส่งผลกระทบต่อการผลิตของบริษัทอย่างมาก โดยปัจจุบัน แอปเปิ้ลผลิตโทรศัพท์ไอโฟน (iPhone) ในอินเดียแล้วประมาณ 14%