“ข้าวนึ่ง” ไทยต้นทุนสูง-ขายแพง 10 ปีตกบัลลังก์ เสียแชมป์ให้อินเดีย

18 เม.ย. 2567 | 18:14 น.
อัปเดตล่าสุด :18 เม.ย. 2567 | 18:14 น.
509

อัพเดท “ข้าวนึ่ง” รอบ 10 ปี สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยไทยเสียตลาดให้อินเดียสิ้นเชิงเหตุต้นทุนสูงขายแพงกว่าคู่แข่ง ลามกระทบผู้ส่งออกเลิกกิจการ โรงสีหันไปสีข้าวขาวทดแทน ลุ้นคู่ค้าคัมแบ็ก หลังอินเดียขยายระยะเวลาเก็บภาษีข้าวนึ่งออกไปไม่มีกำหนด

“ข้าวนึ่ง” เป็นหนึ่งในสินค้าข้าวส่งออกสำคัญของไทย มีปริมาณการผลิตเป็น 1 ใน 4 ของปริมาณข้าวทั้งหมดที่ผลิตได้ทั่วโลก ถึงแม้ไทยจะไม่มีการบริโภคข้าวนึ่งในประเทศ แต่เป็นผู้ส่งออกรายสำคัญ โดยไทยเคยส่งออกข้าวนึ่งปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 3.26 ล้านตันในปี 2557 มีตลาดสำคัญ ได้แก่ ไนจีเรีย เบนิน และแคเมอรูน ผ่านมาช่วง 10 ปี ข้าวนึ่งไทยอยู่ในสถานการณ์ที่น่าห่วง

“ข้าวนึ่ง” ไทยต้นทุนสูง-ขายแพง 10 ปีตกบัลลังก์ เสียแชมป์ให้อินเดีย

นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และกรรมการ บริษัท กมลกิจ จำกัด อดีตผู้ประกอบธุรกิจส่งออกข้าวนึ่งรายใหญ่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เวลานี้บริษัทไม่ได้ส่งออกข้าวนึ่งแล้ว จากราคาข้าวนึ่งส่งออกของไทยแพงกว่าข้าวนึ่งอินเดียมาก และขายยาก ส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยที่ทำตลาดข้าวนึ่งเลิกกิจการไปเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่หันไปทำตลาดข้าวขาวกันหมด แม้กระทั่งโรงสีเองก็หันไปทำข้าวขาวกันหมดแล้ว เพราะมีความต้องการ สมํ่าเสมอมากกว่า

“ตลาดข้าวนึ่งวูบวาบมาก รอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยเสียตลาดให้กับอินเดียแทบจะสิ้นเชิง จากในอดีตเราเคยเป็นพระเอก ดังนั้นมองอนาคตในภาพรวมแล้วการส่งออกข้าวไทยน่าเป็นห่วง ดังนั้นควรที่จะพยายามปรับตัว เน้นปลูกข้าวขายในพันธุ์ที่ลูกค้าต้องการ ขณะที่ราคายังเป็นปัญหา เพราะปัจจัยการผลิตแพงทุกชนิด การที่จะกดให้ต้นทุนตํ่าก็ลำบากมาก พอได้ผลผลิตออกมาก็กลายเป็นว่าราคาข้าวไทยแพงกว่าเวียดนาม และอินเดียไปอีก ทางออกที่ดีที่สุดคือต้องรณรงค์ให้คนไทยบริโภคข้าวเพิ่มมากขึ้น”

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดการณ์ในเดือนมีนาคม 2567ปริมาณส่งออกข้าวไทยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 8 แสนตัน โดยข้าวนึ่งมีคำสั่งซื้อมากขึ้น เป็นผลจากการที่อินเดียยังคงเก็บภาษีส่งออกข้าวนึ่งที่ขยายเวลาออกไปไม่มีกำหนด ล่าสุดราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 606 ดอลลาสหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งอินเดียและปากีสถานเฉลี่ยอยู่ที่ 551-555 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และ 618-622 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ตามลำดับ

 

“ข้าวนึ่ง” ไทยต้นทุนสูง-ขายแพง 10 ปีตกบัลลังก์ เสียแชมป์ให้อินเดีย

ส่วนการส่งออกข้าวไทย จากข้อมูลของกรมศุลกากรช่วง 2 เดือนแรกปี 2567 ไทยส่งออกข้าวแล้วปริมาณ1,747,966 ตันมูลค่า 39,401 ล้านบาท (1,126.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 24.4% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 55.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่ส่งออกปริมาณ 1,405,337 ตัน มูลค่า 25,408ล้านบาท (754.0 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ)

 

“ข้าวนึ่ง” ไทยต้นทุนสูง-ขายแพง 10 ปีตกบัลลังก์ เสียแชมป์ให้อินเดีย

ด้าน นายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า หากผู้ส่งออกข้าวนึ่ง มีคำสั่งซื้อมาจริง ธุรกิจโรงสีมีการแข่งขันสูง พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปสีแปรตามคำสั่งซื้อได้ ไม่ยาก

“ข้าวนึ่ง” ไทยต้นทุนสูง-ขายแพง 10 ปีตกบัลลังก์ เสียแชมป์ให้อินเดีย

ขณะที่ นายโชคชัย เศรษฐีวรรณ อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ตลาดข้าวนึ่งกับตลาดข้าวขาวเป็นตลาดเดียวกัน ประเทศไทยโชคดีที่ส่งออกข้าวขาวได้เพิ่มขึ้นในตลาดอิรัก อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ทำให้มีปริมาณส่งออกเพิ่มทดแทนตลาดข้าวนึ่งที่ลดลง หากไม่มีตลาดเหล่านี้มารับรอง ราคาข้าวในประเทศจะยํ่าแย่ แต่เวลานี้พลิกตาลปัตรราคาข้าวดีตลอดทั้งปี

 

“ข้าวนึ่ง” ไทยต้นทุนสูง-ขายแพง 10 ปีตกบัลลังก์ เสียแชมป์ให้อินเดีย

อนึ่ง ย้อนไปในปี 2557 ไทยส่งออกข้าวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 10.8 ล้านตัน มูลค่า 5,372 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันเร่งระบายข้าวตามฤดูการผลิตและข้าวในสต๊อกของรัฐบาลออกสู่ตลาดต่างประเทศอย่างเต็มกำลังในทุกรูปแบบร่วม 6 ล้านตัน จากข้าวในสต๊อก ณ เวลานั้น 18 ล้านตัน

โดยตลาดข้าวไทยในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบังกลาเทศ ฯลฯ ส่วนใหญ่ต้องการนำเข้าข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวขาว และข้าวนึ่ง ส่วนภูมิภาคแอฟริกา ได้แก่ ตลาดแอฟริกาใต้ เซเนกัล โกตดิวัวร์ มอริตาเนีย แคเมอรูน และกานา ส่วนใหญ่ต้องการนำเข้าข้าวนึ่ง ข้าวขาว และปลายข้าวหอมมะลิไทย เป็นต้น