กระทรวงการคลังอินเดีย ประกาศเมื่อวันศุกร์ (25 ส.ค.) ว่า รัฐบาลอินเดีย จะเรียกเก็บภาษี 20% สำหรับ การส่งออกข้าวนึ่ง โดยมีผลบังคับใช้ในทันที ณ วันประกาศ ขณะนี้อินเดียซึ่งเป็น ประเทศผู้ส่งออกข้าว ชั้นนำอันดับ1 ของโลก ได้จำกัดการขายข้าวทั้งหมดที่ไม่ใช่พันธุ์บาสมาติในต่างประเทศ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 80% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด และอินเดียมีส่วนแบ่งตลาดในการค้าข้าวทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 40%
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ราคาข้าวในเอเชียพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปีเมื่อต้นเดือนส.ค.นี้ และอาจปรับตัวสูงขึ้นอีก ส่งผลให้ต้นทุนของประเทศผู้นำเข้า เช่น ฟิลิปปินส์ และบางประเทศในแอฟริกา เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ มาตรการกีดกันทางการค้าล่าสุดของอินเดียสอดคล้องกับความพยายามเชิงรุกที่จะลดราคาสินค้าอาหารในประเทศก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในต้นปีหน้า (2567) ซึ่งนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี จะลงสมัครเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3
นายบี.วี. กฤษณะ เรา ประธานสมาคมผู้ส่งออกข้าวของอินเดีย เปิดเผยว่า ด้วยความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดนี้ ราคาข้าวในประเทศอินเดียจะลดลง และนั่นจะช่วยรัฐบาลในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อด้านอาหาร แต่ก็ยอมรับว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นได้อีก
"แต่ราคาข้าวในตลาดโลกจะสูงขึ้น และผู้ซื้อจะต้องแบกรับราคาที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จะมีการเจรจารอบใหม่ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในสัญญาบางฉบับ" ประธานสมาคมผู้ส่งออกข้าวของอินเดียกล่าวในที่สุด
ทั้งนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 12 ปี อันเป็นผลมาจากการที่อินเดียระงับการส่งออกข้าว และสภาพอากาศที่แปรปรวนซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิต
ดัชนีราคาข้าวทั่วโลก ซึ่งจัดทำโดย FAO พุ่งขึ้น 2.8% ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา สู่ระดับ 129.7 จุด ตัวเลขดังกล่าวพุ่งขึ้น 19.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2554 โดยราคาข้าวที่พุ่งขึ้นรุนแรงที่สุดนั้นมาจากประเทศไทย ซึ่งรายงานของ FAO ระบุว่า ภายในช่วงระยะเวลาสองสัปดาห์ ราคาข้าวขาว 100% เกรด B ของไทย (ข้าวขาว 100% ชั้น2) ขยับสูงขึ้น 38 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ราคาเฉลี่ยเดือนก.ค.ไปอยู่ที่ 562 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ถือเป็นราคาสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2564
รายงานของ FAO ระบุว่า ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีต่อการผลิตของบางประเทศที่เพาะปลูกข้าวนั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวพุ่งขึ้น นอกจากนี้ ผลผลิตข้าวยังได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก และคุณภาพข้าวที่ไม่คงที่ของเวียดนามซึ่งยังคงอยู่ในระหว่างการเก็บเกี่ยวในฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง
แต่หลังจากนั้นยังมีปัจจัยซ้ำเติมคือ การที่รัฐบาลอินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวขาว ยกเว้นข้าวพันธุ์บาสมาติ (Basmati) โดยมีผลบังคับใช้ทันทีเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะมีปริมาณข้าวอย่างเพียงพอต่อการบริโภคและป้องกันการพุ่งขึ้นของราคาข้าวภายในประเทศ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว มีผลต่อตลาดโลกเนื่องจาก อินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลก และมีการส่งออกข้าวในอัตราส่วนสูงกว่า 40% ของการค้าข้าวทั่วโลก โดย FAO ระบุว่า การที่อินเดียระงับการส่งออกนั้น ได้สร้างความวิตกกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารของประชากรทั่วโลก
ข้อมูลอ้างอิง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง