รู้จักไวรัสมฤตยู "มาร์เบิร์ก" หลัง WHO ยันการระบาด แอฟริกาดับแล้ว 9

15 ก.พ. 2566 | 11:24 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2566 | 12:15 น.
693

WHO ยืนยันการกลับมาแพร่ระบาดของ “ไวรัสมาร์เบิร์ก” ในประเทศแถบแอฟริกา "อิเควทอเรียลกินี" คร่าชีวิตผู้ติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 9 ราย กักตัวนับ 200 ชีวิต

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันพบการระบาดของ ไวรัสมาร์เบิร์ก (Marburg virus) หรือ ไข้เลือดออกมาร์เบิร์ก ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับไวรัสอีโบลา ในประเทศสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี (Equatorial Guinea) ที่ตั้งอยู่ในแถบแอฟริกากลาง หลังมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 9 ราย ทำให้ทางการต้องสั่งกักตัวประชาชนในเบื้องต้นจำนวนกว่า 200 คน นอกจากนี้ WHO ยังเตรียมหารือด่วนเพื่อติดตามสถานการณ์ของโรคร้ายดังกล่าว

แถลงการณ์จาก WHO ระบุว่า การระบาดของไวรัสมาร์เบิร์กในสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คนเชื่อมโยงกับงานศพงานหนึ่ง และยังมีผู้ต้องสงสัยติดเชื้ออีก 16 คน โดยคนเหล่านี้มีอาการไข้ อ่อนเพลีย อาเจียนเป็นเลือด และท้องเสีย

เบื้องต้นทางการได้สั่งกักตัวประชาชนกว่า 200 คน และสั่งจำกัดการเดินทางเคลื่อนไหวในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแบบไม่ทราบสาเหตุเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่างแคเมอรูน ก็สั่งจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดนเช่นกัน เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาด

หน้าตาของเชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับไวรัสอีโบลา ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเลือดไหลออกตามอวัยวะต่างๆ

อัตราการตายสูงกว่าโควิด

ล่าสุด มีรายงานว่า ทีมงานของ WHO กำลังอยู่ระหว่างสอบสวนโรค และจะนัดหารือเป็นการด่วน เพื่อติดตามสถานการณ์ เนื่องจากไวรัสมาร์เบิร์กมีอัตราการตายสูงถึง 88% ทั้งยังไม่มีวัคซีนหรือวิธีการรักษาเป็นการเฉพาะ ทำได้เพียงรักษาประคับประคองไปตามอาการ ขณะที่อัตราป่วยตายจากโรคโควิด-19 (ในไทย) อยู่ที่ 1.7% และค่าเฉลี่ยระดับโลกอยู่ที่ 6% เท่านั้น (ข้อมูลโควิด ณ ปี 2563 ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันยังไม่แพร่หลายนัก ณ ขณะนั้น)

ทั้งนี้ เชื้อไวรัสมาร์เบิร์ก มักแพร่กระจายผ่านสารคัดหลั่งในร่างกาย และเครื่องนอนที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อน และแม้ว่าจะหายดีแล้ว แต่สารคัดหลั่งก็ยังสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้เป็นเวลาอีกหลายเดือน

เคยระบาดมาแล้วในอดีต

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2565 เคยมีการระบาดครั้งแรกของไวรัสมาร์เบิร์กในสาธารณรัฐกานา ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 2 ศพ และมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 98 รายซึ่งเป็นทั้งคนในชุมชนและบุคลากรทางการแพทย์ และยังเป็นการระบาดครั้งที่ 2 ในพื้นที่ภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก หลังจากครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2564 ในสาธารณรัฐกินีพบผู้ป่วยติดเชื้อเพียง 1 ราย แต่ครั้งนั้นไม่มีผู้เสียชีวิต และไม่ได้แพร่ระบาดไปยังผู้อื่น

อาการของโรค

ไวรัสมาร์เบิร์กเมื่อเป็นแล้ว มีความร้ายกาจพอๆ กับเชื้อไวรัสอีโบลา เพราะอยู่ในวงศ์เดียวกัน มีอัตราการตายสูงถึง 88% ในช่วง 8-9 วันหลังติดเชื้อ

อาการที่ปรากฏหลังจากเชื้อไวรัสมรณะนี้ฟักตัวอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 2-21 วัน ได้แก่

  • เกิดอาการป่วยกะทันหัน มีไข้หนาวสั่น
  • อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • มีผื่นนูนแดงบริเวณหน้าอก หลังและท้อง
  • ตามมาด้วยอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องถ่ายเหลว
  • เมื่อเป็นหนัก จะเกิดภาวะเลือดไหลออกจากอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างรุนแรง จนเกิดอาการช็อก

นักวิทยาศาสตร์พบว่าเชื้อไวรัสมาร์เบิร์กมาจากสัตว์ เช่น ลิง ค้างคาว ฯลฯ ก่อนแพร่สู่มนุษย์

ต้นเหตุ-ที่มา และการป้องกัน

ไวรัสร้ายนี้เกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการจากการใช้ “ลิงเขียวแอฟริกา” ที่นำเข้ามาจากประเทศยูกันดา และติดต่อผ่านสัตว์ชนิดอื่น ก่อนแพร่ไปสู่คนที่เข้าไปในถ้ำซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของค้างคาวผลไม้

พบการระบาดครั้งแรกที่เมืองมาร์เบิร์ก ประเทศเยอรมนี เมื่อปี 2510 จึงเป็นที่มาของชื่อ ก่อนระบาดไปที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ของเยอรมนี และกรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย ผ่านการสัมผัส รวมถึงสารคัดหลั่งของผู้มีเชื้อไวรัส ภายในปีเดียวนั้น ทำให้มีผู้ติดเชื้อ 31 ราย และเสียชีวิต 7 ศพ

โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ดังนั้น WHO ย้ำเตือนว่า การป้องกันที่ดีที่สุดต้องเข้มงวดไม่ให้ผู้คนติดต่อกับผู้ป่วยหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัส นี่คือโรคอุบัติซ้ำที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมีโอกาสเสียชีวิตสูงมากกว่าโควิด และฝีดาษวานร