ทำความรู้จัก “อีโบลา” โรคร้ายที่กลับมาระบาดหนักในแอฟริกา

25 ก.ย. 2565 | 07:32 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2565 | 15:00 น.
1.2 k

"อีโบลา"โรคร้ายที่อันตรายถึงชีวิต กลับมาคุกคามประเทศในแอฟริกาอีกครั้ง โดยล่าสุดพบติดเชื้อเพิ่มเป็น 11 ราย ตายเพิ่มอีก 3 รายในประเทศยูกันดา โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ยังไม่มียารักษาที่เฉพาะเจาะจงและยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

โรคอีโบลา (Ebola) จัดอยู่ในกลุ่มโรคชนิดเดียวกับไข้เลือดออกโดยเกิดจาก เชื้อไวรัสอีโบลา และเป็น โรคติดต่อ ที่มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยพื้นที่การระบาดของโรคนี้พบมากในแถบ แอฟริกา

 

ล่าสุด 23 ก.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขยูกันดาระบุในแถลงการณ์ว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาที่ได้รับการยืนยันในยูกันดานั้น ได้เพิ่มขึ้นเป็น 11 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมรวมเป็น 11 ราย ซึ่งรวมทั้งผู้ติดเชื้อที่รับการยืนยันและผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ โดยผู้เสียชีวิต 8 รายมาจากชุมชน และ 3 รายอยู่ในสถานพยาบาล ทั้งนี้ สธ.ยูกันดาประกาศการระบาดของ ไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซูดาน เมื่อวันอังคาร (20 ก.ย.) หลังจากชายอายุ 24 ปีมีผลตรวจเป็นบวกหลังจากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

อีโบลา (Ebola) เป็นโรคติดต่อที่มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

ยูกันดา ซึ่งเป็นประเทศในแอฟริกาตะวันออก พยายามที่จะควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวอย่างสุดความสามารถ รวมถึงการทำงานร่วมกับฝ่ายต่าง ๆ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) เนื่องจากโรคนี้เป็นอันตรายถึงขั้นทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วจากการที่มีเลือดไหลออกจากอวัยวะต่างๆ อีกทั้งยังไม่มียารักษาอย่างเฉพาะเจาะจง

 

ไวรัสอีโบลา (Ebola) คืออะไร

อีโบลาถูกพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519 ที่ประเทศซาอีร์ หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปัจจุบัน ชื่อเดิมของอีโบลาคือ “โรคไข้เลือดออกอีโบลา” เนื่องจากมีการค้นพบเชื้อไวรัสในแม่น้ำอีโบลา

 

โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอีโบลาซึ่งเป็นตระกูล Filoviridae (EVD) มักพบในเขตป่าร้อนชื้น โดยเชื่อว่าเชื้อนี้มีแหล่งพาหะจากค้างคาว และลิงติดต่อมาสู่คน

โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอีโบลาซึ่งเป็นตระกูล Filoviridae (EVD)

ไวรัสอีโบลามีผลต่อร่างกายอย่างไร

เมื่อไวรัสอีโบลาเข้าสู่ร่างกายจะสามารถเพิ่มจำนวนในเซลล์เป้าหมาย โดยเฉพาะในเซลล์ตับ เซลล์เยื่อบุหลอดเลือด ทำให้เกิดอาการตามพยาธิสภาพที่ไวรัสทำลายเซลล์นั้น โดยไวรัสจะเกาะติดกับเซลล์เป้าหมาย ก่อนที่จะเข้าสู่เซลล์ และแพร่กระจายเชื้อที่เชื่อมติดกับเนื้อเยื่อในอวัยวะอื่น ๆ อย่างรวดเร็ว

 

อาการของผู้ติดเชื้อ

อาการโดยทั่วไปจะเหมือนการติดเชื้อไข้เลือดออก ประกอบไปด้วย

  • อาการไข้ ไข้ขึ้นสูงเฉียบพลัน
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
  • อ่อนเพลีย
  • เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน
  • ถ่ายเหลว
  • มีผื่นแดงตามตัว

แต่อาการจะรุนแรงขึ้นจนมีเลือดออก ตาเหลือง-ตัวเหลือง การทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว โดยโรคนี้มีความรุนแรงมาก และมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 50%

 

การติดต่อของไวรัสอีโบลา

  • การสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือของเหลวในร่างกายของผู้ป่วย
  • การติดเชื้อผ่านทางบาดแผล หรือเยื่อเมือก
  • การสัมผัสโดยตรงกับร่างกายของผู้เสียชีวิต เพราะไวรัสจะสามารถอยู่ในร่างกายได้เป็นเวลานาน แม้ผู้ป่วยจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม

 

การระบาดของไวรัสอีโบลาพบ 5 สายพันธุ์ ได้แก่

สายพันธุ์ชาร์อี (Ebola-Zaire) พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519

สายพันธุ์ซูดาน (Ebola-Sudan) พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519  

สายพันธุ์เรสตัน (Ebola-Reston) พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532-2533 โดยพบว่ามีการติดเชื้อในลิง ทำให้ลิงตายจำนวนมาก และมีคนติดเชื้อ 4 ราย แต่ไม่มีการแสดงอาการ

สายพันธุ์ Ebola-cote d’lvoire พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 โดยส่วนมากพบการติดเชื้อในลิง และมีผู้ป่วย 1 รายได้รับเชื้อจากการชำแหละลิง ซึ่งมีการแสดงอาการแต่ไม่เสียชีวิต

สายพันธุ์บุนดีบูเกียว (Ebola-Bundibugyo) พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550

เนื่องจากยังไม่มียารักษาที่เฉพาะเจาะจงสำหรับโรคนี้ การรักษาทำได้เพียงคัดแยกผู้ป่วยและรักษาไปตามอาการ

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาที่เฉพาะเจาะจงสำหรับโรคนี้ การรักษาทำได้เพียงการคัดแยกผู้ป่วยอย่างเหมาะสม และรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น

  • การให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด
  • การให้ยาแก้ปวดลดไข้
  • การรักษาระดับความดันโลหิต
  • การถ่ายเลือด หรือให้เลือด

 

และแม้จะมีความพยายามพัฒนาวัคซีนอยู่ แต่จนถึงบัดนี้ก็ ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคอีโบลาโดยเฉพาะ