ย้อนตำนาน “โรคติดเชื้อไวรัส อีโบลา” ในประเทศไทย

04 มิ.ย. 2563 | 16:35 น.
6.5 k

“โรคติดเชื้อไวรัส อีโบลา” กำลังกลับมาระบาดหนักอีกครั้งในประเทศคองโก แต่สำหรับในประเทศไทยแล้ว แม้จะไม่ใช่ศูนย์กลางการระบาด แต่ก็เคยมีการเตรียมรับมือมาแล้ว

จากกรณีที่ รัฐบาล สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ประกาศเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา ว่า "โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา” กำลังระบาดระลอกใหม่ ในเมืองเอ็มบันดากา จังหวัดเอกวาทิอูร์

ก่อนหน้านี้ "คองโก" เผชิญกับการระบาดของ อีโบลา11 ครั้ง นับตั้งแต่เริ่มค้นพบไวรัสครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1976 ซึ่งการระบาดครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 2018 โดยลุกลามไปยังประเทศเพื่อนบ้านในแอฟริกาหลายประเทศ และมีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน

โรคนี้เกิดจากไวรัสอีโบลา ซึ่งผู้ติดเชื้อจะมีอาการเหมือนโรคไข้เลือดออก โดยอาจเป็นไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเลือดออกและอวัยวะภายในทำงานล้มเหลว โดยสามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น ปัสสาวะ เหงื่อ น้ำลาย หรือเลือดของผู้ป่วย

ข้อมูลเบื้องต้นจากกระทรวงสาธารณสุขคองโก ระบุว่า ตอนนี้รัฐบาลก็ยังไม่ประกาศการสิ้นสุดของโรคระบาดของอีโบลา ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสมล่าสุดอยู่ที่ 2,243 ราย ในเขตวันกาตา 6 ราย โดยจำนวนนี้เสียชีวิต 4 ราย และอีก 2 รายอยู่ในระหว่างรักษาตัว โดยคาดว่าตัวเลขผู้ป่วยยืนยันอาจเพิ่มสูงกว่านี้เมื่อมีการตรวจเชื้อเพิ่มขึ้นแล้ว

ซึ่งการระบาดของ ไวรัสอีโบลา ในคองโกรอบนี้ ทำให้ ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก (WHO)  ระบุว่า สถานการณ์ในคองโกล่าสุดเป็นสัญญาณเตือนว่าโควิด-19 ไม่ใช่ภัยคุกคามหนึ่งเดียวที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ ถึงแม้คนจำนวนมากอาจสนใจกับโควิด-19 มากกว่า แต่องค์การอนามัยโลกจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา

สำหรับในประเทศไทย พบข้อมูล ไวรัสอีโบลา จาก ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557 เผยแพร่ “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เพิ่มเติมชื่อโรคติดต่อและอาการสำคัญ” ซึ่งเป็นการเพิ่ม “โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา” เป็น “โรคติดต่อและอาการสำคัญ” โรคที่ 50 ของประเทศไทย ลงนามโดย นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ระบุว่า  ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศลงวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2557 และประกาศลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2552 กำหนดชื่อโรคติดต่อและอาการสำคัญ จำนวน 49 โรค นั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงออกประกาศเพิ่มเติมชื่อโรคติดต่อและอาการสำคัญ ดังนี้

“50. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease - EVD) มีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศรีษะ และเจ็บคอ ตามด้วยอาการอาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นขึ้น ในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบว่า มีตับวายหรือไตวาย ในบางรายจะมีเลือดออกทั้งในอวัยวะภายในและภายนอก จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด ส่วนใหญ่มักมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยหรือตายด้วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease - EVD)”

จากนั้น 15 สิงหาคม 2557 ได้ออก ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เพิ่มเติมชื่อโรคติดต่ออันตราย ซึ่งรมว.สาธารณสุข ออกประกาศเพิ่มเติม “โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus disease - EVD)”  เป็นชื่อโรคติดต่ออันตรายในลำดับที่ 6 ของประเทศไทย และในวันเดียวกันนั้น ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ประเทศหรือเมืองที่เป็นเขตติดโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ได้แก่ สาธารณรัฐกินีบิสเซา สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน สาธารณรัฐไลบีเรีย เมืองลากอส สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย และจากนั้น 20 ตุลาคม 2557 ประกาศให้ “จังหวัดเอกาเตอร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เป็นประเทศ หรือเมืองที่เป็นเขตติดโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา หลังจากนั้นเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ก็มีการยกเลิกประกาศประเทศและเมืองดังกล่าว

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“อีโบลา” กลับมาระบาดในคองโก

ย้อนรอย10โรคระบาดป่วนโลกเสียชีวิตกว่า50ล้านคน(มีคลิป)

โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola)

ส่วนการแก้ไขปัญหา ขณะนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งเข้ามาได้ไม่นาน ก็มีการอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อโครงการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรณี โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola) จำนวน 116,802,600 บาท เพื่อดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรณีติดเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

ครั้งนี้ คสช.มีคำสั่งให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อกระทรวงสาธารณสุขจะต้องบูรณาการการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการคัดกรองผู้ติดเชื้อที่อาจเดินทางเข้ามาในประเทศ และต้องมีการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ให้สามารถคัดกรองและดูแลรักษาผู้ติดเชื้อได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะต้องจัดให้มีเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเพียงพอเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์โรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังโรคติดต่อในทุกภาคของประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางการดำเนินงานในระดับภาคด้วย

และให้กระทรวงสาธารณสุขประชาสัมพันธ์กรณีที่มีชาวไทยซึ่งเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา และได้แจ้งความประสงค์ขอให้แพทย์ตรวจสอบการติดเชื้อไวรัสอีโบลา เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของประชาชนในการร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายด้วย

ต่อจากนั้น 3 ก.พ. 2558 ครม. อนุมัติงบกลางฯ อีกครั้งให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ดำเนินโครงการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาระยะเร่งด่วน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ภายในกรอบวงเงิน 188,490,800 บาท และ ให้กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการจัดให้มีระบบคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานนานาชาติและท่าเรือเป็นหลัก โดยให้พิจารณาดำเนินการให้ครอบคลุมถึงการคัดกรองผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายอื่น ๆ ด้วย และจากนั้นโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ถูกยกระดับกลายเป็นปัญหาระดับภูมิภาคอาเซียน  มีการหารือในที่ “ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสาม” 

มีการออกถลงการณ์ร่วมของสมาชิกอาเซียนบวกสาม เน้นนโยบาย 3 ด้าน ได้แก่ 1.การเตรียมความพร้อมรับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศ 2. การเสริมสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาค และ  3. ร่วมกับประชาคมโลกในการหยุดยั้งการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา

ส่วนความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียนบวกสาม ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่

1. เพิ่มความร่วมมือด้านการป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อข้ามพรมแดนต่าง ๆ โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูล การฝึกอบรมบุคลากร และการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น

2. สร้างกลไกการเตรียมความพร้อมตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาและโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการสนับสนุนด้านวิชาการจากองค์การอนามัยโลก

3. จัดช่องทางสื่อสารการเตือนภัยล่วงหน้า มีสายด่วนรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสาธารณสุข

4. ความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาและเพิ่มความพร้อมเครื่องมือในการป้องกันโรค ตรวจจับสัญญาณการระบาด การรักษาพยาบาล และการควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ต่าง ๆ เป็นต้น

ขณะเดียวกันในประเทศเอง มีการเปิด “โครงการรวมพลังปันน้ำใจ ต้านภัยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา” ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสภากาชาดไทย จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อระดมเงินทุนภายในประเทศ โดยมีการประชาสัมพันธ์และจัดให้มีการเปิดรับเงินบริจาคผ่านรายการปันน้ำใจต้านภัยอีโบลา

จากนั้น มติครม.วันที่ 7 ธ.ค. 2559 เห็นชอบ “แผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ (พ.ศ. 2560 - 2564)”  มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ต่าง ๆ เช่น โรคซาร์ส โรคเมอร์ส ไวรัสซิกา ซึ่งได้มีการปรับปรุงจากแผนฉบับก่อนโดยเพิ่มเติมประเด็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความร่วมมือระหว่างประเทศและการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ 

และแม้ว่าจะไม่เกิดการสูญเสียจากไวรัสอีโบลาในประเทศไทย แต่สิ่งที่ได้อานิสงจากการเตรียมพรัอมรับมือครั้งนั้น ส่งผลมาถึงความพร้อมในการรับมือไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด 19 ในครั้งนี้