ประชุม WHO ถกเครียด จะประกาศฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลกหรือไม่

22 ก.ค. 2565 | 09:54 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2565 | 17:07 น.
1.3 k

องค์การอนามัยโลกประชุมอีกเป็นรอบที่สอง เพื่อพิจารณาว่าจะประกาศให้โรคฝีดาษลิง ที่กำลังระบาดอยู่ในหลายประเทศขณะนี้ เป็น “ภาวะฉุกเฉินระดับโลก” หรือไม่ ขณะทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อทะลุ 15,000 ราย (ไม่นับรวมแอฟริกา) และมี 6 ประเทศพบผู้ติดเชื้อรายแรกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา  

วันที่ 21 ก.ค. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คณะกรรมการภาวะฉุกเฉินของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประชุมอีกเป็นรอบที่สอง เพื่อพิจารณาว่าจะประกาศให้ โรคฝีดาษลิง หรือ monkeypox ที่กำลังระบาดอยู่ในหลายประเทศขณะนี้ เป็น “ภาวะฉุกเฉินระดับโลก” หรือไม่

 

การประชุมดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตของนักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ว่าความแตกต่างระหว่างการระบาดในทวีปแอฟริกากับในประเทศที่พัฒนาแล้วอาจทำให้เกิดความยากลำบากในการร่วมมือประสานงานกัน ผู้เชี่ยวชาญยังมีการถกประเด็นที่ว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินมีความจำเป็นหรือไม่ เนื่องจากทางการแอฟริกาใต้นั้น ถือว่าโรคฝีดาษลิงซึ่งเป็นโรคประจำถิ่น เป็นภาวะฉุกเฉินอยู่แล้ว ขณะที่โรคฝีดาษลิงที่กำลังระบาดในทวีปยุโรปและอเมริกาในเวลานี้ มีความรุนแรงต่ำกว่า

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก

สะท้อนจากการที่รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศลดระดับเตือนภัยการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงลงแล้ว เนื่องจากมองว่าไม่ได้มีความรุนแรงของโรคมากนัก ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มมองว่า แม้จะหยุดยั้งการระบาดของโรคฝีดาษลิงไม่ได้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องถือว่าเป็นเรื่องฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข

ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคประจำถิ่นที่ระบาดอยู่ในภาคกลางและตะวันตกของทวีปแอฟริกามาหลายสิบปีแล้ว โดยเป็นโรคปรากฏอาการทางผิวหนัง ติดเชื้อจากสัตว์ป่าสู่มนุษย์ ส่วนการแพร่ระบาดในยุโรปและอเมริกาเหนือนั้นเริ่มมาตั้งแต่เดือนพ.ค.ปีนี้ (2565)

 

โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ในยุโรปและอเมริกาเหนือ เป็นบุคคลที่มีรสนิยมทางเพศแบบรักร่วมเพศ โดยผู้เชี่ยวชาญจาก WHO สันนิษฐานว่า จุดเริ่มต้นอาจมาจากการร่วมเพศกันในงานปาร์ตี้ 2 แห่ง ที่จัดขึ้นในประเทศเบลเยียมและสเปน

 

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ปัจจุบัน พบผู้ป่วยเป็นโรคฝีดาษลิงแล้วมากกว่า 15,000 รายใน 50 ประเทศทั่วโลก โดยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา และบรรดาชาติร่ำรวยอื่น ๆ เริ่มกวาดซื้อวัคซีนป้องกันโรคไปแล้วหลายล้านโดส แต่ทวีปแอฟริกานั้นกลับไม่มีวัคซีนแม้แต่โดสเดียวทั้ง ๆ ที่โรคฝีดาษลิงในแอฟริกานั้นมีความรุนแรงกว่ามาก และมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 70 ราย ส่วนในชาติอื่นนั้นยังไม่พบผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว

WHO ยังพบด้วยว่า ผู้ป่วยติดเชื้อฝีดาษลิงที่อยู่นอกทวีปแอฟริกานั้น 99% เป็นเพศชาย ในจำนวนนี้ 98% เป็นผู้ที่มีรสนิยมรักร่วมเพศเดียวกันและเคยมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่นด้วยกันมาแล้วก่อนป่วย แม้โรคดังกล่าวจะสามารถติดต่อได้ทุกเพศทุกวัยที่สัมผัสตุ่มหนองติดเชื้อ

 

ศาสตราจารย์นายแพทย์พอล ฮันเตอร์ แห่งมหาวิทยาลัยอีสต์ แองเกลีย ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า โรคนี้ระบาดในหมู่ชาวเกย์ เป็นกลุ่มบุคคลที่รักความเป็นส่วนตัวไม่ต้องการเปิดเผยให้ผู้อื่นทราบและบางครั้งไม่ทราบด้วยว่าบุคคลที่มาหลับนอนด้วยนั้นเป็นใคร

 

ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ยังระบุด้วยว่า ผู้ป่วยบางคนเป็นผู้ชายที่สมรสกับผู้หญิงอีกคนอยู่แล้ว และมีความพยายามปิดบังเรื่องดังกล่าวจากครอบครัว ทำให้การสืบย้อนรอยเส้นทางของโรคทำได้ยากมากขึ้น นอกจากนี้ ความยุ่งยากยังรวมถึงการขอให้พวกเขามาเข้ารับการตรวจหาเชื้อด้วย ดังนั้น การฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อนจึงดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า หาก WHO ตัดสินใจประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลกก็อาจยิ่งส่งผลให้เกิดการกวาดซื้อและกักตุนวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับกรณีการกวาดซื้อและกักตุนวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา “โควิด-19” ในช่วงแรก ๆ ของการแพร่ระบาด

 

ข่าวเอพีรายงานอ้างอิงเจ้าหน้าที่สหรัฐ เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ จะมีการกระจายการส่งมอบวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงในมลรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา กว่า 1 แสนโดส และอีกหลายล้านโดสจะตามมาภายในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยมีข้อมูลทางการของสหรัฐระบุว่า ปัจจุบัน สหรัฐตรวจพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงสะสมมากกว่า 2,000 ราย โดยมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่หลายร้อยรายต่อวัน