อังกฤษเล็งประกาศระเบียบใหม่คุม "สเตเบิลคอยน์"

28 มี.ค. 2565 | 16:03 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มี.ค. 2565 | 23:19 น.

คลังอังกฤษเตรียมประกาศระเบียบใหม่คุม "สเตเบิลคอยน์" ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ด้านสหรัฐ ประธานเฟดประกาศคุณสมบัติ 4 ข้อของ "เงินดอลลาร์ดิจิทัล"ที่จะออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) แต่ยังไม่รับปาก ว่าสุดท้ายแล้วจะมีออกมาหรือไม่

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานอ้างอิงแหล่งข่าววันนี้ (28 มี.ค.) ระบุว่า รัฐบาลอังกฤษ เตรียมประกาศระเบียบด้านการกำกับดูแล ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี โดยเฉพาะในส่วนของ “สเตเบิลคอยน์” (Stablecoin) ซึ่งเป็นสกุลเงินคริปโตฯ ที่มีการตรึงมูลค่าไว้กับสกุลเงินหลัก ๆของโลก เช่น ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นภาคส่วนของตลาดคริปโตฯที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

 

แหล่งข่าวคาดว่า นายริชี ซูนัค รัฐมนตรีคลังของอังกฤษจะประกาศระเบียบการฉบับใหม่ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า นอกจากนี้ แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า แม้ระเบียบการดังกล่าวจะยังจัดทำไม่เสร็จ แต่ก็น่าจะเป็นผลดีต่อตลาดสเตเบิลคอยน์ เนื่องจากจะมีกำหนดกฎหมายให้ชัดเจนสำหรับตลาดส่วนที่ขาดการกำกับดูแลมาโดยตลอด

 

ทั้งนี้ แหล่งข่าวระบุว่า กระทรวงการคลังของอังกฤษได้มีการเจรจากับหลายบริษัทและกลุ่มการซื้อขาย รวมถึงเจมินี (Gemini) ผู้ให้บริการตลาดซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีและเป็นผู้ออกเหรียญสเตเบิลคอยน์ “เจมินี ดอลลาร์” (Gemini Dollar)

 

อะไรคือ “สเตเบิลคอยน์”

สเตเบิลคอยน์ (Stablecoin) เป็น คริปโตเคอร์เรนซี ประเภทหนึ่ง ที่ผูกมูลค่าไว้กับสินทรัพย์ที่มีความคงที่ เช่น ทอง น้ำมัน หรือ สกุลเงินตราปกติ ตรงข้ามกับคริปโตเคอร์เรนซีประเภทอื่นที่มีความผันผวนสูง ซึ่งปัจจัยในความผันผวนของเหรียญ(ดิจิทัล)ต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับหลายเหตุปัจจัย เช่นระยะเวลาการทำธุรกรรม จำนวนอุปสงค์อุปทาน แต่สเตเบิลคอยน์ไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยนั้น หรือได้รับผลกระทบน้อย

หน้าที่หลักของสเตเบิลคอยน์ที่ทำให้ผู้คนหันมาใช้งาน คือการเก็บรักษามูลค่าเหรียญของตนไว้ เป็นการเลี่ยงความเสี่ยงจากการผันผวนของราคาในสกุลเงินคริปโต เพราะเมื่อก่อนหากนักลงทุนต้องการคงมูลค่าของเหรียญไว้ ก็จำเป็นต้องแลกเหรียญของตนไปถือเหรียญที่มีความผันผวนน้อยที่สุด ซึ่งสเตเบิลคอยน์ได้เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการตรงนี้ของนักลงทุน

อังกฤษเล็งประกาศระเบียบใหม่คุม "สเตเบิลคอยน์"

ด้วยการทำงานของสเตเบิลคอยน์ ที่สามารถเชื่อมระหว่างเงินตราปกติเข้ามาที่สกุลเงินดิจิทัล จึงเปรียบเสมือนที่พักเงิน สำหรับนักลงทุนที่ยังไม่แน่ใจว่าควรจะลงทุนลงไปในเหรียญคริปโตไหน และการสร้างความเชื่อมโยงกับเงินตราปกติ ทำให้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

 

รายงานข่าวระบุว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดสเตเบิลคอยน์มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในแง่การใช้งาน โดยเป็นไปตามทิศทางของกระแสความสนใจในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี ยกตัวอย่างเช่น เทเธอร์ (Tether) ซึ่งเป็นสเตเบิลคอยน์สกุลใหญ่ที่สุด มีเหรียญหมุนเวียนอยู่ในระบบคิดเป็นมูลค่า 80,000 ล้านดอลลาร์ นับว่าเติบโตขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 4,000 ล้านดอลลาร์เมื่อ 2 ปีก่อน

หน่วยงานกำกับดูแลมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสเตเบิลคอยน์ เนื่องจากเกรงว่าผู้ออกเหรียญไม่ได้สำรองเงินสกุลหลักไว้มากเพียงพอกับจำนวนเหรียญ รวมถึงความเป็นไปได้ที่ว่าอาจมีผู้ใช้เหรียญเหล่านี้เพื่อฟอกเงินหรือกระทำการผิดกฎหมายอื่น ๆ ตลอดจนการที่รัสเซียอาจใช้คริปโตเคอร์เรนซีเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรจากกรณีรุกรานยูเครน

 

เฟดย้ำ “ดอลลาร์ดิจิทัล” ต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนตัว-ยืนยันตัวตนได้

ในวันเดียวกัน นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมาสรุป คุณสมบัติ 4 ข้อของสกุลเงินดอลลาร์ดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) แต่ออกตัวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะมีการออกดอลลาร์ดิจิทัลหรือไม่

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กเปิดเผยถ้อยแถลงของนายพาวเวลล์ขณะประชุมสุดยอดนวัตกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศของเฟดว่า ดอลลาร์ดิจิทัลของเฟด นั้น จำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติ 4 ข้อ ดังนี้ คือ

 

  1. ต้องรับประกันความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน
  2. ยืนยันตัวตนได้ด้วยระบบที่คล้ายคลึงกับการระบุตัวตนของบัญชีธนาคารสหรัฐ เพื่อป้องกันการฟอกเงิน
  3. ใช้ระบบธนาคารในปัจจุบันเป็นสื่อกลาง
  4. ให้บริการในฐานะเครื่องมือการชำระเงินที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย

 

นอกจากนี้ นายพาวเวลล์ได้กล่าวเตือนว่า สินทรัพย์คริปโตฯ "ถูกใช้ในการอำนวยความสะดวกให้กับกิจกรรมผิดกฎหมาย" จึงมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันเรื่องนี้ให้ได้ และเสริมว่า กิจกรรมบางอย่างได้สร้างความวิตกกังวลด้านเสถียรภาพทางการเงิน

 

ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่เฟดอยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการออกดอลลาร์ดิจิทัลในเอกสารที่พวกเขาเผยแพร่เมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการหารือเรื่องความเสี่ยงและประโยชน์ของดอลลาร์ดิจิทัล โดยที่ยังไม่ได้สรุปว่าจะสนับสนุนการออกดอลลาร์ดิจิทัล