สรุปมติครม. “ซื้อ ขาย โอน” คริปโตฯ ยกเว้น VAT-ภาษีเงินได้ฯ" กรณีไหนบ้าง 

09 มี.ค. 2565 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2565 | 05:40 น.
847

เปิดรายละเอียด มติครม.ล่าสุด 8 มีนาคม 2565 ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับการซื้อ ขาย โอน คริปโด โทเคนดิจิทัล สินทรัพย์ดิจิทัลกรณีไหนบ้าง สรุปให้ที่นี่

วันที่ 8 มีนาคม 2565 มติที่ประชุมครม. มีวาระที่น่าสนใจที่เสนอ โดยกระทรวงการคลัง ผ่านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี คือ ร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับ “การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)"  และ “ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” สำหรับการโอน ซื้อขาย คริปโตเคอร์เรนซีฯหรือโทเคนดิจิทัลฯ

 

หากอ่านเพียงเท่านี้ ก็คงจะไม่เก็ตและคงเข้าใจเหมารวมในทุกกรณีไป

 

ฐานเศรษฐกิจ จึงรีบตรวจสอบมติครม. เพื่อความชัดเจนว่า สรุปแล้ว คริปโต – โทเคน สินทรัพย์ดิจิทัล ได้รับการยกเว้นภาษี VAT และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อย่างไร กรณีไหนบ้าง

 

เมื่อไปดูไส้ในของมติครม.จะพบรายละเอียดที่แยกย่อยแบ่งเป็น พระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) และร่างกฎกระทรวง รวม 3 ฉบับดังนี้ 

ร่างพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่...) พ.ศ....

 

รวม 2 ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ 

 

  • เป็นการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนคริปโตเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัล ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
  • เป็นการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตามโครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. สำหรับการใช้งานภาคประชาชน 

 

โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนถัดจากเดือนที่ ครม. ได้มีมติเห็นชอบการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566 นั่นหมายความว่า จะมีผลบังคับใช้ 1 เมษายน 2565 – ธันวาคม 2566 

 

ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวล รัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร 1 ฉบับ  โดยมีสาระสำคัญคือ 

  • เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เป็นจำนวนเท่ากับผลขาดทุนจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลที่เกิดขึ้นในปีภาษีเดียวกัน 
  • โดยคำนวณจากกำไรแล้วลบด้วยขาดทุนเหลือจำนวนเงินเท่าใดจึงนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินภาษีที่ต้องจ่ายลดลง

 

ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 61 เป็นต้นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด 

 

ที่มาของเรื่องนี้ต้นทางคือ "กระทรวงการคลัง" รายงานต่อครม.ว่า ปัจจุบัน การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีปริมาณและความถี่มาก ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ออก “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561" 

 

เป็นการ “กำหนดให้เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์ในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือ หรือครอบครองโทเคนดิจิทัล และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัลเฉพาะส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนเป็นเงินได้พึงประเมิน ต้องเสียภาษีเงินได้และให้หักภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายของเงินได้พึงประเมินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15”

 

และนอกจากนี้ พ.ร.ก. ยังระบุด้วยว่า การโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย  


กระทรวงการคลังรายงาน ครม.ต่อไปโดยอ้างอิงข้อมูลว่า ปัจจุบันการประกอบธุรกิจและการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปี 2561 ที่มีการออก พ.ร.ก.ฯ หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพราะช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาพบว่า มูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว มีค่าเฉลี่ยดังนี้

  • ต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 240 ล้านบาท เป็น 4,839 ล้านบาท
  • มูลค่าทรัพย์สินลูกค้าเพิ่มขึ้นจาก 9,600 ล้านบาท เป็น 114,539 ล้านบาท
  • จำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 1.7 แสนราย เป็น 1.98 ล้านราย
  • เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และรูปแบบการทำธุรกรรมต่างมีความหลากหลายและปรับเปลี่ยนตลอดเวลา 

 

รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ดําเนินโครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งาน สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. สําหรับการใช้งานในภาคประชาชน หรือชื่อ โครงการ Retail Central Bank Digital Currency หรือ Retail CBDC

 

ซึ่งเป็นการศึกษาและการพัฒนารูปแบบ รวมถึง การทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานของ Retail CBDC ในการรับ แลกเปลี่ยน โอน หรือเป็น สื่อกลางในการชําระราคาค่าสินค้าหรือบริการ โดยกําหนดมูลค่าของ Retail CBDC เท่ากับเงินบาท ซึ่งการดําเนินโครงการนี้ ธปท. ได้อาศัยอํานาจตามมาตรา 4 (2) ประกอบกับมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2498 หรือ การจัดตั้งหรือสนับสนุนการจัดตั้ง ระบบการชําระเงิน 

 

เมื่อดําเนินการโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว ธปท. จะดําเนินการให้ Retail CBDC มีสถานะเป็นเงินตราตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 

 

แต่อย่างไรก็ตามในระหว่างการดําเนินโครงการ Retail CBDC ยังไม่เป็นเงินตรา แต่เข้าข่ายเป็นคริปโทเคอร์เรนซี ธปท. จึงขอให้กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรพิจารณาผ่อนผันภาระภาษีสําหรับคริปโทเคอร์เรนซี ให้แก่การดําเนินโครงการดังกล่าว เพื่อให้สัมฤทธิ์ผล ซึ่งเป็นสิ่งสําคัญต่อการพัฒนา Retail CBDC ให้เป็นเงินตราตามกฎหมายในอนาคตและเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีประโยชน์แก่ประชาชนและ ระบบการเงินไทย

 

กรมสรรพากรจึงได้ร่วมกับสํานักงานคณะกรรมการกํากับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สํานักงาน ก.ล.ต.) ธปท. สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สมาคมฟินเทคประเทศไทย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และนักลงทุน

 

รวมทั้งได้รับฟังความคิดเห็นจากชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อพิจารณาการจัดเก็บ ภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน

 

พิจารณาแล้วเห็นว่าการประกอบธุรกิจและการลงทุน ในสินทรัพย์ดิจิทัลพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลใน “ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange)” ในปัจจุบันได้มีปริมาณและความถี่มาก การกําหนดราคาจึงเป็นไป ตามกลไกตลาด 

 

ผู้ซื้อและผู้ขายไม่ทราบตัวตนกัน รวมทั้งผู้ขายบางรายอาจเป็นผู้ประกอบการ จดทะเบียนและบางรายอาจมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน จึงยากที่จะแสดงราคา รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม 

 

จึงเห็นควร “ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสําหรับการขายสินทรัพย์ดิจิทัลใน Exchange” เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี

 

และเห็นควรให้หักผลขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลออกจากกําไรจากการขายสินทรัพย์ ดิจิทัลในการคํานวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่พระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวล รัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ความสมัครใจในการเสียภาษี และการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลใน Exchange


สําหรับกรณีการทดสอบการใช้งาน Retail CBDC นั้น เนื่องจาก Retail CBDC ยังไม่เป็นเงินตรา แต่เป็นคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่ง ธปท. ได้กําหนดมูลค่าของ Retail CBDC เท่ากับเงินบาท การแลกเปลี่ยน Retail CBDC กับเงินตรา สินค้า หรือบริการ จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ คงเสียเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม 

 

ดังนั้นกระทรวงการคลัง จึงเห็นควร ยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่มสําหรับการขาย Retail CBDC (การแลกเปลี่ยน Retail CBDC กับเงินตรา สินค้า หรือบริการ) ในระหว่างการทดสอบเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปีเช่นกัน เพื่อสนับสนุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชําระเงินและเศรษฐกิจดิจิทัล


นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ยังรายงาน โดย พิจารณาการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้ 

 

ประมาณการการสูญเสียรายได้

  1. การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสําหรับการขาย สินทรัพย์ดิจิทัลใน Exchange การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลใน Exchange ในปี 2563 มีมูลค่า การซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 240 ล้านบาท และในปี 2564 มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นเป็น 4,839 ล้านบาท หากไม่มีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จะสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้จํานวนหนึ่ง แต่ไม่อาจประมาณการได้ เนื่องจากขึ้นอยู่กับรายรับของผู้ขายแต่ละรายว่าถึงเกณฑ์ต้องจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่และมูลค่าการซื้อขายมีความผันผวนมาก
  2. การอนุญาตให้หักผลขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ ดิจิทัลใน Exchange ออกจากกําไรจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลใน Exchange จะทําให้สูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจํานวนหนึ่ง แต่ไม่อาจประมาณการได้ เนื่องจากกําไรขาดทุน ของผู้ขายแต่ละรายมีความไม่แน่นอน
  3. การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสําหรับการแลกเปลี่ยน Retail CBDC หากไม่มีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จะสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้จํานวนหนึ่ง แต่ไม่อาจประมาณการได้ เนื่องจากขึ้นอยู่กับรายรับของผู้แลกเปลี่ยนแต่ละรายว่าถึงเกณฑ์ต้องจด ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่และขึ้นอยู่กับมูลค่าและปริมาณการใช้สกุลเงินดิจิทัลนี้

 

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ประโยชน์ต่อประเทศ จะทําให้การซื้อขาย สินทรัพย์ดิจิทัลของนักลงทุนในประเทศไทยเกิดขึ้นใน Exchange ของประเทศไทย ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากอยู่ในการกํากับดูแลของสํานักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และทําให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานระบบการชําระเงินในอนาคตที่พร้อมสําหรับ เศรษฐกิจดิจิทัล
  2. ประโยชน์ต่อประชาชน จะทําให้ผู้ลงทุน ในสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายภาษีและความเป็นธรรม ในการเสียภาษีมากขึ้น และประชาชนมีทางเลือกในการใช้เงินดิจิทัลในอนาคตที่มีความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัย 

 

ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร อธิบายเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร ได้ให้ความสำคัญแก่การส่งเสริมอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินในอนาคตที่พร้อมสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล จึงได้เสนอร่างกฎหมาย 3 ฉบับ โดยมีหลักการสรุปได้ ดังนี้

  •  ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลใน Exchangeทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
  • ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (Retail CBDC) ตามโครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยสำหรับการใช้งานภาคประชาชน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

 

ส่วนร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเฉพาะที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เป็นจำนวนเท่ากับผลขาดทุนจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลที่เกิดขึ้นในปีภาษีเดียวกัน

 

ทั้งนี้ เฉพาะผลประโยชน์และผลขาดทุนจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลใน Exchange ตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561  มีผลใช้บังคับ (14 พฤษภาคม 2561) เป็นต้นไป 

 

 “การบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น จะช่วยให้ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และได้รับความเป็นธรรมในการเสียภาษีมากขึ้น รวมทั้งช่วยให้การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของนักลงทุนที่เกิดขึ้นใน Exchange ของประเทศไทย   มีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย และให้ประชาชนได้มีทางเลือกในการใช้เงินดิจิทัลในอนาคตต่อไป”