WHO ห่วงฉีดวัคซีนโควิดสลับยี่ห้อ เป็นแนวทางที่อันตราย

13 ก.ค. 2564 | 12:22 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2564 | 23:09 น.
3.9 k

องค์การอนามัยโลกเตือนโควิดสายพันธุ์เดลตากำลังระบาดทั่วโลกด้วยความเร็วสูง ขณะเดียวกันไม่แนะนำการฉีดวัคซีนเข็ม 1 และ 2 แบบสลับยี่ห้อผู้ผลิต เป็นแนวทางที่อันตราย เนื่องจากยังมีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับผลกระทบ

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเตือน "การระบาดครั้งร้ายแรง" ที่เกิดจากโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา (Delta) เนื่องจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้กำลังแพร่กระจายด้วยความเร็วสูง

 

"เมื่อสัปดาห์ก่อน จำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นทั่วโลกติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4" นายทีโดรสแถลงข่าวออนไลน์จากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ "ขณะที่ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตกลับมาเพิ่มสูงอีกครั้ง หลังลดลงนานถึง 10 สัปดาห์"

WHO ห่วงฉีดวัคซีนโควิดสลับยี่ห้อ เป็นแนวทางที่อันตราย ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO)

 

เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาถูกพบครั้งแรกในอินเดียเมื่อเดือนตุลาคม 2563 และกำลังแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ มีการตรวจพบใน 104 ประเทศแล้ว ซึ่ง ผ.อ.องค์การอนามัยโลกชี้ว่า สายพันธุ์เดลตากำลังแพร่กระจายด้วยความเร็วสูง ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยสะสมและผู้ป่วยเสียชีวิตรายใหม่เพิ่มขึ้น

เขายังกล่าวเตือนถึงอันตรายของการเร่งรีบผ่อนปรนข้อจำกัดต่างๆในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่หลายประเทศยังคงเผชิญปัญหาการขาดแคลนวัคซีน "กลยุทธ์การรับมือในปัจจุบันทำให้ผมนึกถึงทีมดับเพลิงที่เข้าจัดการไฟป่า การดับไฟเพียงบางส่วนอาจช่วยให้เปลวไฟในพื้นที่หนึ่งลดลง แต่มันยังคงคุกรุ่นอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งสิ่งนี้อาจทำให้ประกายไฟกลับมาลุกไหม้อีกครั้งในท้ายที่สุด" ด้วยเหตุนี้ นายทีโดรสจึงเรียกร้องรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้แบ่งปันวัคซีนแก่ชาติอื่นๆที่ขาดแคลนหรือเข้าไม่ถึง เพื่อร่วมกันกำจัดเพลิงแห่งโรคระบาดที่กำลังลุกลามอยู่ทุกหนทุกแห่ง

 

นอกจากนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันจันทร์ (12 ก.ค.) ดร.ซูมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลก ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 1 และ 2 แตกต่างชนิด-แตกต่างยี่ห้อกัน โดยเธอเรียกว่าการ “จับแพะชนแกะ” วัคซีนโควิด (mixing and matching COVID-19 vaccines) นั้น ในฐานะหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ WHO เธอไม่แนะนำการทำเช่นนั้น “มันเป็นแนวทางที่อันตราย เพราะว่าในขณะนี้ เรายังมีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นของการทำเช่นนั้น”

 

ดร.ซูมยา กล่าวเตือนในระหว่างการแถลงข่าวออนไลน์ของ WHO เมื่อวันจันทร์ (12 ก.ค.) ว่า เมื่อยังไม่มีข้อมูลและหลักฐานใด ๆ เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิดแบบสลับจับคู่หรือผสมผสานยี่ห้อเช่นนี้ จึงถือว่าเป็นเรื่องที่อันตราย “จะเกิดสถานการณ์วุ่นวายขึ้นในแต่ละประเทศแน่ ถ้าหากประชาชนเริ่มตัดสินใจกันเองแล้วว่าใครและเมื่อไหร่ จะฉีดวัคซีนเข็มสอง เข็มสาม หรือเข็มที่สี่”

 

ข้อมูลอ้างอิง

WHO warns against mixing and matching COVID vaccines