อังกฤษเล็งตลาดใหญ่เอเชีย-แปซิฟิก จ่อเจรจาเข้าเขตการค้าเสรี CPTPP

02 ก.พ. 2564 | 12:16 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2564 | 12:37 น.

อังกฤษฉลองการออกจากอียูครบรอบ 1 ปี ด้วยการยื่นขอเริ่มการเจรจาเพื่อเป็นสมาชิกกลุ่มการค้าเสรี CPTPP อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

อังกฤษ ซึ่งแยกตัวออกมาจาก สหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการแล้ว กำลังมองหาพันธมิตรการค้า-การลงทุนในภูมิภาคต่าง ๆทั่วโลกเพื่อขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอังกฤษต่อไป และเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษได้ยื่นแสดงเจตจำนงอย่างเป็นทางการที่จะเริ่มการเจรจาเพื่อขอเข้าเป็น สมาชิกกลุ่มการค้าเสรี CPTPP แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

 

ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) อาจจะมีอังกฤษเข้าร่วมเป็นสมาชิกรายใหม่ล่าสุด โดยนางลิซ ทรัซซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของอังกฤษ ได้ยื่นแสดงเจตจำนงอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (1 ก.พ.) เพื่อขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ที่ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่แล้ว 11 ประเทศ ประกอบด้วย  ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม  

 

นางลิซ ทรัซซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของอังกฤษ

ความเคลื่อนไหวของอังกฤษครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านเศรษฐกิจภายหลังกระบวนการเบร็กซิต (การพ้นสภาพความเป็นสมาชิกของอียู) ซึ่งหลังจากยื่นเรื่องแสดงเจตจำนงแล้ว คาดว่าการเจรจาระหว่างอังกฤษกับประเทศสมาชิกกลุ่ม CPTPP อย่างเป็นทางการจะเริ่มขึ้นภายในปีนี้ อย่างเร็วคือในช่วงฤดูใบไม้ผลิหรืออีกไม่กี่เดือนข้างหน้า  

 

ทั้งนี้ ทรัซซ์เผยว่า ในมุมมองของอังกฤษ การเสนอเข้าร่วมกลุ่ม CPTPP ซึ่งเป็นกรอบความตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุม 40% ของ GDP โลก จะเป็นการเปิดโอกาสอย่างมโหฬารให้กับอังกฤษ

 

“ในอนาคต ประเทศในเอเชียแปซิฟิกจะมีขนาดตลาดที่ใหญ่ ตลาดคนชั้นกลางจะขยายตัวมากขึ้น อังกฤษจะใช้โอกาสนี้เพื่อสร้างโอกาสให้ตัวเองในการทำธุรกิจที่มีอัตราภาษีที่ต่ำลง และขจัดมาตรการกีดกันทางการค้าออกให้หมดสิ้น” รัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศของอังกฤษให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบีบีซี นอกจากนี้ ยังมองว่า การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ CPTPP จะทำให้อังกฤษมีช่องทางสะดวกในการเข้าถึงตลาดดาวรุ่งโตเร็วอย่างเม็กซิโก มาเลเซีย และเวียดนาม

 

ประโยชน์ใหญ่ประการแรก คือการลดกำแพงภาษีให้กับผู้ประกอบการด้านการผลิตรถยนต์ อาหาร เครื่องดื่มประเภทน้ำเมา และสินค้าส่งออกอื่น ๆ เช่นวิกี้ที่ส่งออกไปมาเลเซีย ภาษีจะลดลงจาก 165% เหลือ 0% ส่วนรถยนต์จากอังกฤษที่ส่งออกไปแคนาดา ภาษีจะลดลงเหลือ 0% เร็วขึ้นถึง 2 ปีเมื่อเทียบกับสิทธิประโยชน์ของข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีระหว่างอังกฤษและแคนาดา

 

ผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมของอังกฤษยังจะได้ประโยชน์จากกฎเกณฑ์ว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า หรือ Rules of Origin ของ CPTPP โดยวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนใดๆจากประเทศสมาชิกกลุ่ม CPTPP จะถือเป็นแหล่งกำเนิดสินค้าของสินค้าอังกฤษที่ใช้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนนั้น ๆตามกฎเกณฑ์ด้วย เช่นรถยนต์ของอังกฤษจะได้แหล่งกำเนิดสินค้าจากญี่ปุ่นมากขึ้น จากการใช้แบตเตอรี่จากญี่ปุ่น เป็นต้น  

 

นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสทองให้กับการค้าในภาคบริการ รวมทั้งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยด้วย ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการจ้างงานที่มีทักษะและมีมูลค่าสูงให้กับตลาดแรงงานของอังกฤษเอง ขณะเดียวกัน ธุรกิจของอังกฤษยังจะได้ประโยชน์จากการกฎกติกาการค้าที่ทันสมัยในยุคดิจิทัล ที่ครอบคลุมถึงการแลกเปลี่ยนและส่งข้อมูลการค้าผ่านระบบดิจิทัลอย่างเสรี การปกป้องรหัสและการเข้ารหัสในเชิงพาณิชย์ และช่วยลดอุปสรรคที่ไม่จำเป็นออกไป

 

ข่าวระบุว่า นักธุรกิจของประเทศสมาชิก CPTPP ยังจะเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันได้เร็วขึ้น สะดวกขึ้น และต้นทุนลดลง เนื่องจากมีแนวโน้มที่สมาชิก CPTPP จะได้ใช้วีซ่านักธุรกิจที่ค่าธรรมเนียมถูกลงและอำนวยความสะดวกมากขึ้น  

 

สถิติล่าสุดชี้ว่า สินค้าส่งออกของอังกฤษไปยังตลาดประเทศสมาชิก CPTPP ในปี 2562 มีสัดส่วนคิดเป็น 8.4% ของภาคการส่งออกทั้งหมดของอังกฤษ ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนพอ ๆกับการส่งออกจากอังกฤษไปยังเยอรมนีเพียงประเทศเดียว โอกาสที่จะขยายตัวจึงยังมีอีกมาก ส่วนมูลค่าการค้าสองทาง (ทั้งส่งออก-นำเข้า) ไปยังประเทศกลุ่ม CPTPP ในปี 2562 อยู่ที่ระดับ 111,000 ล้านปอนด์ หรือกว่า 4.5 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ปอนด์สเตอร์ลิง = 41.05 บาท) หรือเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปี 2559

 

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ

ก่อนหน้านี้ นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เคยกล่าวว่า หลังอังกฤษออกมาจากการเป็นสมาชิกอียูได้ 1 ปี (อังกฤษออกจากอียูครบ 1 ปีเต็มเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ) ก็ต้องเดินหน้าต่อไปและมองหาพันธมิตรใหม่ที่จะนำผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่มาให้กับประชาชน  ผู้นำรัฐบาลอังกฤษยังกล่าวด้วยว่า การยื่นเจตจำนงขอเป็นสมาชิกใหม่ประเทศแรกของ CPTPP แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของอังกฤษที่จะทำธุรกิจที่ตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ดีที่สุดสำหรับพันธมิตรและประเทศคู่ค้าของอังกฤษที่มีอยู่ทั่วโลก และเพื่อที่จะเป็นผู้นำในการส่งเสริมบรรยากาศการค้าเสรี

 

ทั้งนี้ CPTPP เปิดตัวเมื่อปี 2561 เป็นเขตการค้าเสรีที่ยกเลิกกำแพงภาษีภายในกลุ่มสมาชิก 11 ประเทศที่มีผู้บริโภครวมกันเกือบ ๆ 500 ล้านคน ก่อนหน้านี้ แรกก่อตั้งครั้งแรกในปี 2549 มีชื่อว่า กลุ่ม TPP ซึ่งมีสหรัฐอเมริการวมอยู่ด้วย เป้าหมายขณะนั้นหวังลดอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนที่กำลังครอบงำไปทั่วโลก แต่หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐอย่างเป็นทางการเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เขาได้มีคำสั่งถอดถอนสหรัฐออกจากการเป็นสมาชิก TPP แต่ 11 ประเทศที่เหลือก็ยังคงเกาะกลุ่มรวมตัวกันอยู่ และกลายเป็น CPTPPในปี 2561