9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ชี้ชะตาการถือหุ้นสื่อ "พิธา"

19 ก.ค. 2566 | 15:35 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2566 | 15:44 น.

9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ชะตา "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าและแคนดิเดตพรรคก้าวไกล ปมถือครองหุ้นไอทีวี เป็นใคร ทำอะไรกันมาบ้าง พร้อมเปิดชื่อตุลาการเสียง "ข้างน้อย" ค้านสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ของ "พิธา"

จากกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียงให้ "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ตามคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของ นายพิธา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน จำนวน 42,000 หุ้นนั้น  

"ฐานเศรษฐกิจ" พาไปเปิดประวัติ พร้อมที่มาและทำความรู้จักกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 รายกันซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้ 

1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

ได้รับเลือกมาโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด เกิดวันที่ 1 มีนาคม 2495

จบนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) ม.ธรรมศาสตร์, นิติศาสตรมหาบัณฑิต ม.รามคำแหง (กฎหมายมหาชน) เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

อดีตอัยการจังหวัดสกลนคร, อัยการจังหวัดอุดรธานี และอัยการพิเศษฝ่ายแผนงานฝึกอบรม, ตุลาการศาลปกครองกลาง, รองอธิบดีศาลปกครอง เชียงใหม่, อธิบดีศาลปกครองพิษณุโลก, ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ศป.) 2 และอาจารย์พิเศษ ม.นเรศวร และ ม.รามคำแหง 

ก่อนจะได้รับเลือกให้นั่งเป็น ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนล่าสุด นายวรวิทย์ ได้รับเลือกมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมงานกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดก่อนหน้านี้วินิจฉัยให้ ยุบพรรคไทยรักษาชาติ แบบเป็นเอกฉันท์ กรณีที่เสนอชื่อบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรค

ทั้งยังเป็น 1 ใน 7 เสียงข้างมากที่มีมติให้ ยุบพรรคอนาคตใหม่ ร่วมกับ นายนุรักษ์ มาประณีต (ประธานศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้น) นายจรัญ ภักดีธนากุล นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายบุญส่ง กุลบุปผา นายปัญญา อุดชาชน และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี

นายวรวิทย์ เป็นหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียง "ข้างมาก" ที่ให้ นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. 

2.นายจิรนิติ หะวานนท์

ได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เกิด 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 จบการศึกษานิติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ไปศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกทางกฎหมาย ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปริญญาโทและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา 

อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา กรรมการกฤษฎีกา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

เป็นอาจารย์ผู้บรรยายวิชา กฎหมายปกครองที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และเป็นอาจารย์ผู้บรรยายวิชาอาชญาวิทยาชั้นสูง หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายจิรนิติ ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ สาขาวิชานิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2554 มีความเชี่ยวชาญข้อกฎหมาย

ระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาในปี 2560 เคยเป็นเจ้าของสำนวนและองค์คณะคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีอาญาและแพ่งที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหา นายเกษม นิมมลรัตน์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย คนสนิทของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และอดีตที่ปรึกษานายก อบจ.เชียงใหม่ กรณียื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ

นายจิรนิติ เป็นหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียง "ข้างมาก" ที่ให้ นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. 

3.นายนภดล เทพพิทักษ์

ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ เกิด 3 ธันวาคม 2499 จบรัฐศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) Master of Arts (International Relations) , Northern Illinois University(Fulbright Scholarship) 

นายนภดล เริ่มทำงานในตำแหน่งบริหารระดับสูงครั้งแรก โดยเป็นอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกและแอฟริกา แล้วออกไปเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (กรุงไคโร) จนถึงปี 2553 

เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำนิวซีแลนด์ (กรุงเวลลิงตัน) แล้วเข้ามาเป็นรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระยะหนึ่งก่อนออกต่างประเทศ ครั้งสุดท้ายเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (เวียงจันทน์)

นายนภดล เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียง "ข้างน้อย" ไม่ได้สั่งนายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

4.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์

เกิด 28  กรกฎาคม  2501 ประวัติการศึกษา รัฐศาสตรบัณฑิต (การเมืองการปกครอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับสอง อักษรศาสตรมหาบัณฑิต (ภาควิชาประวัติศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยPH.D. (INTERNATIONAL STUDIES) WASEDA UNIVERSITY,ประเทศญี่ปุ่น ตำแหน่งทางวิชาการ ศาสตราจารย์ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง

นายนครินทร์ เป็นหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียง "ข้างมาก" ที่ให้ นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. 

5.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2497 จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง (พ.ศ.2517) เนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 28 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา (พ.ศ.2518) นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ.2525)

ตำแหน่งสำคัญในอดีต

นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม คือ นายทหารพระธรรมนูญ กองทัพเรือ (25 มีนาคม 2519 – 30 กันยายน 2524 ) ผู้ช่วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาประจำกระทรวงช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลจังหวัดทุ่งสง ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดแม่สอด ศาลจังหวัดพิษณุโลก และศาลจังหวัดนครสวรรค์ (1 ตุลาคม 2524 – 31 ตุลาคม 2534 )

เคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครสวรรค์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหลังสวน ศาลจังหวัดอุทัยธานี และศาลจังหวัดกำแพงเพชร (1 พฤศจิกายน 2534 – 10 เมษายน 2540 ) ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา (11 เมษายน 2550-2 มิถุนายน 2542) เป็นต้น

นายอุดม เป็นหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียง "ข้างมาก" ที่ให้ นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. 

6.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด

เกิดวันที่ 14 สิงหาคม 2495 จบศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง  
 
ประวัติการรับราชการ ตุลาการศาลปกครองชั้นต้น ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด 

นายบรรจงศักดิ์ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียง "ข้างน้อย" ไม่ได้สั่งนายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

7.นายปัญญา อุดชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ

เกิด 15 เมษายน 2499 จบศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) นิติศาสตรบัณฑิต นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชน) M.A. (Public  Administration), Detroit, Michigan, U.S.A. นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Laws) ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Justice Administration) 

ประวัติการรับราชการ ปลัดอำเภอ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เลขานุการผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กระทรวงมหาดไทย เลขานุการผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กระทรวงมหาดไทย นักวิชาการปกครอง กรมการปกครอง เป็นต้น

นายปัญญา เป็นหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียง "ข้างมาก" ที่ให้ นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. 

8.นายอุดม รัฐอมฤต 

เกิดวันที่ 28 มิถุนายน 2502  เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แทน นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ที่พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากครบวาระเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2565

การศึกษา วุฒิ D.E.A. – Doctorate en Droit penal 2536 มหาวิทยาลัย Nancy, ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางกฎหมายอาญา (D.S.U.) 2532 มหาวิทยาลัย Paris, นิติศาสตรมหาบัณฑิต 2531 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนิติศาสตรบัณฑิต 2524 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตำแหน่งสำคัญที่ผ่านมา

ศาสตราจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 6 และกรรมการวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า

นอกจากนี้เคยเป็น กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ, กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ, รองอธิการบดีและเลขานุการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายอุดม คือหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียง "ข้างมาก" ที่ให้ นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

9.นายวิรุฬห์ แสงเทียน ได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

เกิดวันที่ 27 พฤศจิกายน 2494 จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

นายวิรุฬห์ เริ่มรับราชการในตำแหน่งอัยการ ผู้พิพากษาประจำกระทรวง, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดมุกดาหาร, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดกาฬสินธุ์, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครราชสีมา, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนนทบุรี, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเบตง, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา

ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา, รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา, รองประธานศาลฎีกา, ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา

ผลงานที่สำคัญ คือ เป็นองค์คณะที่ร่วมพิพากษาคดีโครงการจำนำข้าว และคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)

นายวิรุฬห์ คือ หนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียง "ข้างมาก" ที่ให้ นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.