ย้อนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 65 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ "ใครรอด-ใครร่วง" 

19 ก.ค. 2566 | 07:02 น.
735

ย้อนคำวินิจฉัยศาลรธน. 65 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ "ใครรอด ใครร่วง" ในวันที่ศาลพิจารณาจะรับคำร้องกรณี "พิธา" หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกฯ ถือหุ้นสื่อไอทีวี 42,000 หุ้น ส่อขาดคุณสมบัติรับสมัคร ส.ส. หรือไม่   

วาระร้อนทางการเมืองเวลานี้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญกรณีพิจารณาคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ กรณีหากรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาก็อาจจะมีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยด้วย 

หากย้อนกลับไปนับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 คดีนักการเมืองถือหุ้นสื่อเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จุดเริ่มที่น่าสนใจหนีไม่พ้นกรณีที่ศาลรธน.มีคำวินิจฉัยเสียงข้างมากเมื่อวันที่ 20 พ.ย.2562 ตัดสินให้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น เข้าข่ายมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 42 (3) ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อใน บริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด โดยได้มีคำสั่งให้นายธนาธร หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ก่อนหน้านั้นแล้ว

นำมาสู่การยื่นร้องศาลรธน.ให้วินิจฉัย 64 ส.ส.กรณีการถือครองหุ้นสื่อในเวลาต่อมา เริ่มจากส.ส.พรรคฝ่ายค้านยื่นร้องนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯในขณะนั้นให้ส่งศาลรธน.วินิจฉัย 41 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลกรณีถือหุ้นสื่อก่อนรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 ว่า มีคุณสมบัติขัดกับลักษณะต้องห้ามหรือไม่ โดยในวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ศาลรธน.ได้ยกคำร้อง 9 คนและรับคำร้องไว้ตรวจสอบ 32 คน แต่ไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

หลังจากนั้น ส.ส.ฝั่งรัฐบาลยื่นร้องนายชวน ประธานสภาฯ ให้ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ 32 ส.ส.ของฝ่ายค้านว่า สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ กรณีถือครองหุ้นสื่อ

กระทั่ง 28 ตุลาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยกรณี 64 ส.ส.ถือครองหุ้นสื่อ โดยการอ่านคำวินิจฉัยดังกล่าวนั้น ศาลได้สั่งรวมสำนวนเลขที่ 12/2562 และ 13/2562 ไว้ด้วยกัน โดยจะยึดตามสำนวนเลขที่ 12/2562 เป็นหลัก

ในส่วนของ 32 ส.ส.ฝ่ายค้านนั้น เนื่องจาก พล.ท.พงศกร รอดชมภู นายชำนาญ จันทร์เรือง และนายสุรชัย ศรีสารคาม พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เนื่องจากถูกศาลรธน.วินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่จึงเหลือผู้ถูกร้อง ส.ส.ฝ่ายค้าน 29 ราย ดังนี้ 

พรรคก้าวไกล 17 คน

1.นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์  2.นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ 3.นายวินท์ สุธีรชัย 4.นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ 5.นายคารม พลพรกลาง 

6.นายวาโย อัศวรุ่งเรือง 7. นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล 8.นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล 9.นายวิภพ วิริยะโรจน์ 10.น.ส.เบญจา แสงจันทร์ 

11.นายสมเกียรติ ไชยวิสุทธิกุล  12.นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. 13.น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี 14.น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม 15.นายจิรัฎฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา 

16. นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก 17.น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม.

พรรคเพื่อไทย 4 คน 

1.นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ 2.นายนิยม ช่างพินิจ 3.นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม 4.นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ 

พรรคเพื่อชาติ 4 คน 

1.นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ 2.นางลินดา เชิดชัย 3.น.ส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช 4.นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล

พรรคเสรีรวมไทย 3 คน 

1.พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส 2.น.ส.ธนพร โสมทองแดง 3.น.ส.พัชนี เพ็ชรจินดา

พรรคประชาชาติ 1 ราย

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

โดยศาลรธน.พิจารณาเห็นว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายธัญญ์วาริน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อ ส.ส. เสนอต่อ กกต. ทั้งตามคำวินิจฉัย 5/2563 เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2563 ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ พรรคอนาคตใหม่จึงไม่มีรายชื่อสมาชิกลำดับถัดไป แทนตำแหน่งที่ว่าง เป็นกรณีมีเหตุทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบมาตรา 103 วรรคสาม 

ขณะที่ผู้ถูกร้องฝ่ายค้านอีก 28 รายที่เหลือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พยานหลักฐาน และเอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าดังกล่าว ไม่พบว่าบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดของผู้ถูกร้องจำนวน 28 ราย จาก 29 รายที่เหลือ มิได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน

ดังนั้น สมาชิกภาพของ ส.ส. ทั้ง 29 ราย ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

ขณะที่ในส่วนของ 32 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลนั้น มีผู้ถูกร้องเบื้องต้น 42 ราย ศาลยกคำร้อง 9 ราย และระหว่างไต่สวนมี ส.ส. พ้นสมาชิกภาพไปแล้ว 3 ราย ได้แก่ พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ อดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ, ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีต ส.ส.พรรครวมพลังประชาติไทย และ นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาภิวัฒน์ จึงสั่งจำหน่ายคดี คงเหลือผู้ถูกร้อง 29 ราย ประกอบด้วย 

พรรคพลังประชารัฐ 

1.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 2.นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ 3.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร 4.นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ 5.นางกุลวลี นพอมรบดี 

6.นายชาญวิทย์ วิภูศิริ 7.นายฐานิสร์ เทียนทอง 8.นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ 9.น.ส.ตรีนุช เทียนทอง 10.นายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ 

11.นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา 12.นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ 13.นายภิญโญ นิโรจน์ 14.นายวีระกร คำประกอบ 15.พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ 

16.นายสมเกียรติ วอนเพียร 17.นายสัมพันธ์ มะซูโซ๊ะ 18.นายสิระ เจนจาคะ 19.นายสุชาติ ชมกลิ่น 20.นายอนุชา น้อยวงศ์  21.นางสาวภาดา วรกานนท์

พรรคประชาธิปัตย์ 8 คน 

1.นางสาวจิตภัสร์ กฤดากร 2.นายอัศวิน วิภูศิริ 3.นางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ 4.นายภานุ ศรีบุศยกาญจน์ 5.นางสาววชิราภรณ์ กาญจนะ 

6.นายสมชาติ ประดิษฐพร 7.นายสาคร เกี่ยวข้อง 8.นายสาธิต ปิตุเตชะ 

พรรคชาติพัฒนา 

นายเทวัญ ลิปตพัลลภ  

พรรครวมพลังประชาชาติไทย 

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

พรรคพรรคประชาภิวัฒน์

นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานและเอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าดังกล่าว ไม่พบว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดของผู้ถูกร้องทั้ง 29 รายข้างต้น ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน

ดังนั้น สมาชิกภาพของ ส.ส. ทั้ง 29 ราย จึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

ตัวอย่างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดี ส.ส.ถือหุ้นสื่อ 

1.นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายธนาธร มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในระหว่างสมัครรับเลือกตั้ง แม้จะแจ้งว่า ได้โอนหุ้นก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง แต่ศาลเห็นว่า ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นและสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ระบุชื่อ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ (มารดา) เป็นผู้ถือหุ้นแทนนายธนาธรหลังวันสมัครรับเลือกตั้ง จึงไม่เชื่อว่า นายธนาธร โอนหุ้นก่อนสมัครรับเลือกตั้งจริง และยังถือครองหุ้นดังกล่าวอยู่ 

ทั้งนี้ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ระบุวัตถุประสงค์ในการจดทะเบียนบริษัทว่า ประกอบกิจการออกหนังสือพิมพ์ฯ และในเอกสารแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ (แบบ สสช.1) ระบุว่า ประกอบกิจการออกหนังสือพิมพ์ฯ รวมถึงในเอกสารนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3) ยังระบุว่า มีรายได้จากการให้บริการโฆษณา ดังนั้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จึงเป็นธุรกิจประกอบการสื่อ แม้ว่าบริษัทจะหยุดประกอบกิจการไปแล้ว 

อีกทั้งยังไม่ปรากฏหลักฐานว่า ได้มีการแจ้งยกเลิกเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการ ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ดังนั้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จึงยังคงเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่ 

ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยให้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง ส.ส.

2.พล.ท.พงศกร รอดชมภู ส.ส.พรรคอนาคตใหม่

ถือครองหุ้นบริษัท ชายนิ่งสตาร์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทนี้จดทะเบียนวันที่ 30 ส.ค. 2559 ทุน 2 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 22 ซอยเพชรเกษม 24 แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร มีผู้ถือหุ้น 3 คน

นายพงศกร รอดชมภู ถือ 10,200 หุ้น (51%) แจ้งวัตถุที่ประสงค์ 43 ข้อ 

ข้อ (19) ประกอบกิจการโรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือ พิมพ์หนังสือจำหน่าย และออกหนังสือพิมพ์ 

ข้อ (42) ประกอบกิจการการพัฒนาธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจทางด้านอินเตอร์เน็ต ถ่ายทอดความรู้และรับจัดอบรม จัดโปรแกรมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านธุรกิจสื่อและการแสดง (โดยมิใช่ธุรกิจตลาดแบบตรงและขายตรง) 

ในแบบ สสช.1 ระบุสินค้าและบริการที่ประกอบการ 2 ข้อ 

ข้อ 1. บริการดำเนินการภาคอุตสาหกรรม การทำโครงการสร้างสะพานเชื่อมทางน้ำ รับบริหารจัดการนำทั้งหมด 

ข้อ 2. บริการด้านการพัฒนาธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจทางด้านอินเตอร์เน็ต ถ่ายทอดความรู้และรับจัดอบรม

ศาลรธน.วินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่พ้นจากความเป็น ส.ส.ไปก่อนหน้านี้จากคดียุบพรรคอนาคตใหม่

3.ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ 

ถือหุ้นในบริษัท บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ในระหว่างดำรงตำแหน่ง ส.ส.แม้ธัญญ์วาริน จะแจ้งว่า ได้ทำการโอนหุ้นก่อนวันเลือกตั้ง แต่ศาลเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานที่หนักแน่นพอว่า มีการโอนหุ้นดังกล่าวจริง และพบความผิดปกติในการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้น จึงไม่เชื่อว่า มีการโอนหุ้นจริงและธัญญ์วารินยังถือครองหุ้นดังกล่าวอยู่

บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น ระบุวัตถุประสงค์ในการจดทะเบียนบริษัทไว้ว่า ประกอบกิจการเกี่ยวกับการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ฯ และในเอกสารแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ (แบบ สสช.1) ระบุว่า ประกอบกิจการเกี่ยวกับการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ฯ รวมถึงเอกสารนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3) ปี 2560 และ ปี 2561 มีรายได้ร้อยละ 100 จากการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์

ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่า บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น ประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน

บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ระบุวัตถุประสงค์ในการจดทะเบียนบริษัทไว้ว่า ประกอบกิจการผลิตสื่อภาพยนตร์ โฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อการแสดง และสื่อการตลาดต่างๆ ประกอบธุรกิจเป็นผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย ในเอกสารนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3) ปี 2557 ระบุว่า ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการโฆษณา

ศาลจึงเห็นว่า บริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด ประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนด้วยเช่นกัน

4.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

ถือครองหุ้น บ.แปซิฟิค เอ็กซ์คลูซิฟ ซิตี้ คลับ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 11 ต.ค. 2555 ทุน 70 ล้านบาท 

บริคณห์สนธิแจ้งรายละเอียดวัตถุที่ประสงค์ 43 ข้อ ระบุ 

ข้อ (19) ประกอบกิจการโรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือ พิมพ์หนังสือจำหน่าย และออกหนังสือพิมพ์ 

ข้อ (37) ประกอบกิจการจัดเก็บ รวบรวม จัดทำ จัดพิมพ์และเผยแพร่สถิติ ข้อมูล ในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การเงิน การตลาดรวมทั้งวิเคราะห์และประเมินผลในการดำเนินธุรกิจ

ข้อ (43) ประกอบกิจการสปา สปาเพื่อสุขภาพ 

ในแบบ สสช.1 ระบุสินค้าและบริการที่ประกอบการ จำนวน 1 ข้อ 1.ประกอบกิจการเมมเบอร์คลับ ขายอาหาร สถานบริหารร่างกายและฝึกสอนการเล่นกีฬาทุกชนิด

5.นายสาธิต ปิตุเตชะ

ถือครองหุ้นบริษัท พี.ที.รุ่งเรืองคอนกรีต จำกัด จดทะเบียนวันที่ 13 ต.ค. 2537 ทุน 3 ล้านบาท 

บริคณห์สนธิแจ้งรายละเอียดวัตถุที่ประสงค์ 41 ข้อ ระบุ

ข้อ (19) ประกอบกิจการโรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือ พิมพ์หนังสือจำหน่าย และออกหนังสือพิมพ์

ข้อ (37) ประกอบกิจการบริการจัดเก็บ รวบรวม จัดทำ จัดพิมพ์และเผยแพร่สถิติ ข้อมูลในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การเงิน การตลาดรวมทั้งวิเคราะห์และประเมินผลในการดำเนินธุรกิจ

ข้อ (41) ประกอบกิจการค้าขายปูนผสมสำเร็จ และอุปกรณ์ก่อสร้างทุกชนิด 

ในแบบ สสช.1 ระบุสินค้าและบริการที่ประกอบการ 2 ข้อ 

1.ประกอบกิจการโรงงานผลิตคอนกรีตผสมสำเร็จ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตทุกประเภท 

2.ประกอบกิจการค้าขายปูนผสมสำเร็จ และอุปกรณ์ก่อสร้างทุกชนิด

นายเทวัญ ลิปตพัลลภ

ถือครองหุ้นบริษัท เอส.ซี.เค.แลนด์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2537 ทุน 30 ล้านบาท 

บริคณห์สนธิแจ้งรายละเอียดวัตถุที่ประสงค์ 41 ข้อ ระบุ 

ข้อ (19) ประกอบกิจการโรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือ พิมพ์หนังสือจำหน่าย และออกหนังสือพิมพ์

ข้อ (37) ประกอบกิจการบริการจัดเก็บ รวบรวม จัดทำ จัดพิมพ์และเผยแพร่สถิติ ข้อมูล ในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การเงิน การตลาดรวมทั้งวิเคราะห์และประเมินผลในการดำเนินธุรกิจ 

ข้อ 41 ประกอบกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ 

ไม่ปรากฎ แบบ สสช.1

นางสาวภาดา วรกานนท์

ผู้ถือครองหุ้นบริษัท ทาโร่ทาเลนท์ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการการบริการ การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางสื่อ และจัดฝึกอบรม
จากการตรวจสอบงบการเงินเมื่อปี 2560-2561 จนถึงวันที่ 18 มิ.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนเลิกบริษัท พบว่า แจ้งประกอบกิจการรับทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ โฆษณาตามสื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในส่วนของงบการเงินปี 2560-2562 พบว่า ไม่มีรายได้จากการให้บริการ และผลประกอบการขาดทุนสุทธิเป็นเงิน 97,415 บาท

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า บริษัท ทาโร่ทาเลนท์ จำกัด มิได้ประกอบกิจการใด ๆ เลย