ย้อนมติศาลรธน. 7:2 คดีหุ้นสื่อธนาธร หลังสั่ง "พิธา" หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.

19 ก.ค. 2566 | 14:24 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2566 | 15:29 น.

ย้อนรอยมติศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 7:2 คดีหุ้นสื่อ "วี-ลัค มีเดีย" ของ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หลังมีมติรับคำร้องของกกต. และมีมติตัวเลขเดียวกันคือ 7:2 สั่งให้ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส. ในคดีหุ้นสื่อไอทีวี จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9:0 รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายก รัฐมนตรี พรรคก้าวไกล สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา101(6)ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน จำนวน 42,000 หุ้น 

โดยคำวินิจฉัยสำหรับคำขอของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ นายพิธา ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรค 2 นั้น

จากนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า มีกรณีตามที่ถูกร้องประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของ นายพิธา อาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายและการคัดค้านโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมรัฐสภา และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้

จึงมีคำสั่งให้ นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส. ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย 2 คน กรณีหุ้นสื่อไอทีวีของนายพิธา คือ นายนภดล เทพพิทักษ์ และนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์

อย่างไรก็ดี หากดูจากมติศาลรัฐธรรมนูญ 7:2 ดังกล่าวนั้น เรียกว่าเป็นตัวเลขเดียวกันซ้ำรอยคดีหุ้นสื่อของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เลยก็ว่าได้ ด้วยตัวเลขมติเดียวกัน

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปย้อนดูมติของศาลรัฐธรรมนูญต่อคดีถือหุ้นสื่อของนายธนาธรในวันนั้น 

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.62 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ว่า สมาชิกภาพส.ส.ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 ( 6) ประกอบมาตรา 98 ( 3) จากเหตุถือครองหุ้นสื่อบริษัทวี- ลัค มีเดีย จำกัด ขณะลงสมัครรับเลือกตั้ง

ย้อนมติศาลรัฐธรรมนูญ 7:2 คดีหุ้นสื่อธนาธร หลังฟัน พิธา พ้น ส.ส.
 

แต่ทั้งนี้ตุลาการเสียงข้างน้อย 2 คน ที่เห็นว่านายธนาธรไม่มีความคิดในคดีหุ้นบริษัท วี-ลัคฯ คือ นายชัช ชลวร และนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ โดยเห็นว่าข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ ฟังได้ว่า นายธนาธรได้โอนหุ้นให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา ไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

โดยให้เหตุผลว่าการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้นำลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครส.ส.กรณีการห้ามถือหุ้นสื่อ มาเป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพก็เพื่อไม่ให้ผู้เป็นเจ้าของสื่อ อาศัยความเป็นได้เปรียบ หรือความเป็นเจ้าของกิจการ เผยแพร่ข่าวสารที่เป็นประโยชน์หรือโทษ หรือครอบงำสื่อมวลชนทำให้สื่อไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง

ซึ่งการไต่สวนและดำเนินการยื่นคำร้องของกกต.ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่ถือว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนที่นายธนาธร อ้างว่า บริษัทวี-ลัค มีเดีย ไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ และได้ปิดกิจการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.61

แต่เมื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ แล้วเห็นว่า กิจการสื่อสิ่งพิมพ์หมายความรวมถึงวารสารและนิตยสารด้วย และเมื่อเจ้าของกิจการประสงค์จะเลิกกิจการต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อภายใน 30 วัน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าบริษัทวี-ลัค มีเดียไปจดแจ้งยกเลิกการพิมพ์ก่อนวันที่ 6 ก.พ. 62 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ส่งรายชื่อผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

นอกจากนี้ บริษัทวี-ลัค มีเดีย ยังจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ แผ่นป้าย กระจายเสียงทางวิทยุ โทรทัศน์ และเคเบิ้ลทีวี งบการเงินที่ยื่นต่อกรมธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รอบปี 59, 60 และ 61 ก็ระบุว่ามีรายได้จากการโฆษณา ดังนั้นแม้ว่าบริษัทวี-ลัคมีเดียจะอ้างว่าหยุดกิจการ เลิกจ้างพนักงานตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย.61 เป็นต้นมา

และแจ้งต่อสำนักงานประกันสังคมแล้ว แต่บริษัทยังสามารถประกอบกิจการอีกเมื่อไรก็ได้ จนกว่าจะจดทะเบียนแจ้งยกเลิกกิจการ บริษัท วี-ลัคมีเดีย จึงถือเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. สำหรับที่นายธนาธร อ้างว่า ในวันสมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ นายธนาธรไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย แล้วเพราะได้โอนหุ้นให้นางสมพร ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.62 แต่จากการไต่สวนพบว่า แบบสำนารายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ที่ยื่นต่อกรมธุรกิจการค้าในวันที่ 12 ม.ค.58 และ 21 มี.ค 62 ยังปรากฏชื่อนายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทดังกล่าวจำนวน 675,000 หุ้น จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 62 จึงมีการส่งสำเนาบอจ. 5 ระบุว่านางสมพรเป็นผู้ถือหุ้นดังกล่าว

ส่วนที่อ้างว่า มีการโอนหุ้นที่ปรากฏตามตราสารการโอนหุ้น มีลายมือชื่อ น.ส.ลาวัลย์ จันทร์เกษม น.ส.กานต์ฐิตา อ่วมขำ เป็นพยาน และมีการจ่ายค่าตอบแทนในการโอนหุ้นจำนวน 6.7 ล้านบาท เป็นเช็คธนาคารกรุงศรีฯ ลงวันที่ 8 ม.ค.62 สั่งจ่ายนายธนาธร ต่อมามีการโอนหุ้นให้นายทวี จรุงสถิตพงศ์ และโอนกลับคืนให้นางสมพร โดยไม่มีค่าตอบแทน

ทำให้ต้องวินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่านายธนาธรโอนหุ้นจริงหรือไม่ โดยพบว่าในทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย จะมีการส่งรายชื่อตามบอจ. 5 ให้กรมธุรกิจการค้าโดยเร็ว เป็นปกติทุกครั้ง เช่น ในปี 52 จัดส่งบัญชีภายในวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น หรือในการประชุม ปี 58 ก็จัดส่งบัญชีภายในวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นการโอนหุ้นของนางสมพรให้นายธนาธร

“แต่การโอนหุ้นในวันที่ 8 ม.ค.กลับไม่ปรากฏการส่งสำเนาบอจ.5 ทั้งที่เป็นหลักฐานสำคัญในการเข้าสู่การเมืองของนายธนาธร จึงถือว่าผิดปกติไปจากที่ผ่านมา ทั้งหลักฐานดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมากต่อการที่นายธนาธรจะเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะถ้าไม่โอนก่อนวันสมัคร ก็จะทำให้มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัคร การแก้ข้อกล่าวหาว่าที่ไม่ส่งสำเนาบอจ. 5 ในทันที เพราะมีการเลิกจ้างพนักงาน จึงไม่มีนักบัญชีมาติดตามจัดการหลักฐานทางทะเบียน ดังเช่นตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งขัดแย้งกับคำให้การของน.ส.ลาวัลย์ ที่ระบุว่า สามารถทำได้ถ้ามีคำสั่งให้ทำ เพราะน.ส.ลาวัลย์มีหน้าที่แจ้งแบบสำเนาบอจ. 5 อยู่แล้ว ประกอบกับการยื่นเอกสารดังกล่าว สามารถกระทำได้โดยไม่มีความยุ่งยาก โดยบริษัทวี-ลัค มีเดีย จัดส่งสำเนาบอจ. 5 งบดุล ทางอิเล็กทรอนิกส์ มาตั้งแต่ปี 59-61”

ส่วนประเด็นที่นางสมพรสั่งจ่ายเช็คค่าหุ้นวงเงิน 6,750,000 บาท แต่กลับนำเช็คไปขึ้นเงินตรงกับวันที่กกต. ส่งคำร้องให้ศาลวินิจฉัย ซึ่งเป็นเวลานานถึง 128 วัน ทั้งที่ประมวลกฎหมายแพ่ง กำหนดให้ผู้ทรงเช็คมีหน้าที่นำเช็คไปยื่นต่อธนาคารเพื่อให้ขึ้นเงินภายใน 1 เดือน กรณีเช็คต่างเมืองให้เวลา 3 เดือน โดยคดีนี้เป็นเช็ค ธนาคารกรุงศรีอยุธยา อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เจ้าของเช็คจึงมีหน้าที่นำไปขึ้นเงินภายในวันที่ 8 ก.พ.62 และเมื่อตรวจสอบย้อนหลัง 3 ปี พบว่า เช็ควงเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป บริษัทวี-ลัค มีเดีย จะเรียกเก็บเงินภายใน 42-45 วัน แต่ในการเรียกเก็บเช็ค ฉบับลงวันที่ 8 ม.ค.62 กลับใช้เวลาถึง 128 วัน ส่วนเช็คบางฉบับที่ใช้เวลา 98 วันในการขึ้นเงิน ก็มียอดเงินเพียง 27,000 บาทเท่านั้น

“ข้ออ้างที่ นางรวิพรรณเบิกความว่าไม่สะดวกจะนำเช็คไปขึ้นเงิน เพราะต้องดูแลบุตรซึ่งเป็นเด็กทารก รวมถึงยังอ้างว่าทนายความนำเช็คต้นฉบับไปใช้ต่อสู้คดี ก็ขัดแย้งกับหนังสือของกกต. ที่ชี้แจงต่อเลขากกต. ว่า นายธนาธรส่งสำเนาเช็คมาชี้แจงเท่านั้นไม่ได้ส่งเช็คต้นฉบับมาแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่านางรวิพรรณสามารถนำเช็คเข้าบัญชีได้ตั้งแต่ 9 ม.ค. 62 ข้อโต้แย้งจึงไม่มีน้ำหนัก เชื่อถือไม่ได้ เพราะเป็นเช็คขีดคร่อม โอนไปยังบุคคลอื่นไม่ได้ สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนได้ เพราะนางรวิพรรณก็ไม่มีชื่อเป็นผู้รับเงินตามเช็ค จึงไม่ต้องรอเวลาถึง 4 เดือนเศษ

สำหรับประเด็นที่นางสมพรโอนหุ้นให้แก่นายทวี หลานชาย แล้วต่อมาได้โอนกลับคืนนางสมพรนั้น ศาลเห็นว่า การโอนหุ้นให้และการโอนหุ้นคืน โดยไม่มีค่าตอบแทนตามที่อ้างความสัมพันธ์เครือญาติ ย้อนแย้งกับการโอนหุ้นของนายธนาธร ให้กับนางสมพร แม้นางสมพรจะอ้างว่าต้องการให้นายทวีเข้ามาช่วยฟื้นฟูกิจการ แต่การโอนหุ้นโดยไม่มีค่าตอบแทนทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะเอกสารต่างๆบริษัทวี-ลัคมีเดีย สามารถจัดการได้เองในภายหลัง อีกทั้งการโอนหุ้นคืนภายในเวลา 2 เดือนเศษ

โดยอ้างว่าศึกษาแล้วต้องใช้เงินลงทุนอีกหลายล้านบาท ข้อเท็จจริงส่วนนี้ขัดกับปกติวิสัยของนักลงทุนทั่วไป ที่ต้องศึกษาแผนและทดลองปฏิบัติตามแผนเสียก่อน และเมื่อเทียบกับสถานะทางเศรษฐกิจของนางสมพรแล้ว การอ้างว่ากิจการวี-ลัค มีเดีย มีหนี้สิน 10 ล้านบาท ก็ต่างจากการงบดุลที่นำส่ง โดยแจ้งว่ามีลูกหนี้เพียง 2 ล้านบาทเศษ จำนวนเงินดังกล่าวไม่ตรงกัน หนี้สินจำนวนไม่มาก การทวงถามและวิเคราะห์โครงสร้าง สามารถให้ทนายความหรือผู้เชี่ยวชาญดำเนินการแทนได้ โดยไม่จำเป็นต้องโอนหุ้นให้หลานก็ได้

เพราะการเป็นผู้ผู้ถือหุ้นไม่มีอำนาจบริหาร ติดตามหนี้สิน หรือบริหารเงินสด การที่ผู้ถูกร้องอ้างว่าโอนหุ้นกันในวันที่ 8 ม.ค.62 โดยมีพยานบุคคลกลุ่มเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากเอกสารหลักฐานต่างๆแล้ว เห็นว่าล้วนเป็นการกล่าวอ้างเพียงให้เจือสมกับหลักฐานที่ปรากฏตาม บอจ. 5 ที่โอนหุ้นกลับคืนจากนายทวี

ส่วนข้อโต้แย้งเรื่องการการเดินทางกลับจากการปราศรัยในจ.บุรีรัมย์ มายังบ้านพักในกรุงเทพฯ ในวันที่ 8 ม.ค.62 เพื่อโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ให้กับนางสมพรนั้น แม้จะฟังได้ว่าเดินทางกลับมาจริง แต่ข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่านายธนาธรอยู่ในกทม.เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่ามีการโอนหุ้นในวันดังกล่าวจริง เพราะการโอนหุ้นต้องพิจารณาจากหลักฐานทั้งปวง แม้นายธนาธร งจะมีพยานหลักฐานมาแสดง แต่การโอนหุ้นจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อต้องจดแจ้งต่อนายทะเบียน

“กรณีจึงมีข้อพิรุธหลายจุด หลายประการ สอดรับแน่นหนาจากพฤติการณ์แวดล้อม มากกว่าพยานของนายธนาธร และมีน้ำหนักหักล้างพยานของธนาธร ดังนั้นฟังได้ว่านายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ซึ่งประกอบกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ ในวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้สมาชิกภาพของนายธนาธรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 62 ซึ่งเป็นวันที่ศาลได้สั่งให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้ถือว่าวันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัย หรือวันนี้ (20 พ.ย.) เป็นวันที่ตำแหน่ง ส.ส.ว่างลง ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อเลื่อนรายชื่อ ส.ส.ในลำดับถัดไปแทนตำแหน่งที่ว่างลงภายใน 7 วัน”