ด่วน! ศาลรธน.ฟัน“พิธา”หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตั้งแต่ 19 ก.ค. 66 ถือหุ้นสื่อ

19 ก.ค. 2566 | 11:53 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2566 | 12:29 น.

มติศาลรธน.รับคำร้อง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ถือหุ้นสื่อ ไว้พิจารณาวินิจฉัย พร้อมสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ไว้ก่อน ตั้งแต่ 19 ก.ค. 66 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(19 ก.ค.66) เวลา 9.30 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมพิจารณา เรื่องที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ(ส.ส.) ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่

ล่าสุด มีรายงาน ศาลรัฐธรรมนูญมีติให้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้ นายพิธา ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน 

ด่วน! ศาลรธน.ฟัน“พิธา”หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตั้งแต่ 19 ก.ค. 66 ถือหุ้นสื่อ

สำหรับมติศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ ดังนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงหรือไม่

คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีนายพิธา ผู้ถูกร้อง เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องว่างลงนับแต่ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังตามรัฐธรรมนูญ 

ผลการพิจารณา

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว  มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82  วรรคสี่ประกอบวรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (5)

จึงสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่ วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 

สำหรับคำขอของผู้ร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายและการคัดค้นโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมรัฐสภาและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ 

จึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย 

ด่วน! ศาลรธน.ฟัน“พิธา”หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตั้งแต่ 19 ก.ค. 66 ถือหุ้นสื่อ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีมติเห็นว่า สมาชิกภาพของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกล มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) จึงให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ที่พิจารณาคดี นายพิธา ประกอบด้วย 1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาล 2.นายปัญญา อุดชาชน 3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 4.นายจิรนิติ หะวานนท์ 5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ 6.นายวิรุฬห์ แสงเทียน 7.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 8.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ 9.นายนภดล เทพพิทักษ์

ข่าวสำนักงานศาลรัฐนูญ ระบุว่า วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ ดังนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 42 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 23/2566)

คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ถูกร้อง เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อสารมวลชนใด ๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง

และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องว่างลงนับแต่ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังตามรัฐธรรมนูญ มาตรา105 วรรคหนึ่ง (2) ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ ว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ประกอบวรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7(5) จึงสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่ วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 54 สำหรับคำขอของผู้ร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) เห็นว่า ข้อเท็จจริง ตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ ของผู้ถูกร้องอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายและการคัดค้านโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุม รัฐสภาและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ความรู้ทางกฎหมายเพื่อประโยชน์สังคม

สำหรับคดีถือหุ้นสื่อของ นายพิธา นั้น เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กกต. ให้ตรวจสอบ กรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค 

กรณีถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด จำนวน 42,000 หุ้น ซึ่งเป็นบริษัทที่กำลังประกอบกิจการอยู่ มีผลประกอบกิจการผ่านงบการเงิน และยังเป็นบริษัทลูกของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ห้ามไม่ให้ผู้เป็นเจ้าของ หรือ ผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่ 

และหลัง นายพิธา ได้รับการรับรองให้เป็น ส.ส. นายเรืองไกล ก็ได้ยื่นเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของ นายพิธา จนนำมาสู่ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย